svasdssvasds

เมื่อมอดไหม้ไฟสงคราม การสู้รบคร่าชีวิตมนุษย์ และยังทำลายธรรมชาติด้วย

เมื่อมอดไหม้ไฟสงคราม การสู้รบคร่าชีวิตมนุษย์ และยังทำลายธรรมชาติด้วย

หลายรายงานวิจัยชี้ตรงกันว่า สงครามไม่เพียงแต่ทำลายบ้านเรือน เศรษฐกิจ และชีวิตประชาชน แต่ก็ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

ไฟสงครามรอบใหม่ที่ปะทุขึ้นระหว่างกลุ่มฮามาส ในฉนวนกาซา กับอิสราเอล ในช่วงสองวันที่ผ่านมา ถือเป็นความขัดแย้งระดับนานาชาติล่าสุดที่โลกต้องเผชิญ ซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กับสงครามในอีกหลายๆ แห่งทั่วโลก อาทิ สงครามในยูเครน ความขัดแย้งในเอธิโอเปีย การรบพุ่งกันระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน รวมไปถึงความขัดแย้งใกล้บ้าน ระหว่างรัฐบาลทหารพม่า กับกองกำลังประชาชน PDF

ขึ้นชื่อว่าสงคราม การสู้รบย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียมหาศาลของทั้งชีวิตมนุษย์ ทั้งทหารของทั้งสองฝ่าย และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในพื้นที่ฆ่าฟัน ตลอดจนความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งอาคารบ้านเรือนที่ถูกทำลาย พื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบที่มักไม่ได้รับการกล่าวถึง นั่นก็คือโลกธรรมชาติ ที่หลายๆ ครั้ง ต้องเผชิญความเสียหายอย่างยับเยิน

ภาพความเสียหายจากการสู้รบในยูเครน  Cr Reuters

 

ภัยทำลายล้างโดยตรงจากสงคราม

สงครามคือการทำลายล้าง และหลายๆ ครั้ง พลังการทำลายล้างของสงครามก็ลงเอยด้วยความเสียหายต่อระบบนิเวศและธรรมชาติ จากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า ภัยสงครามส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดของโลกอย่างชัดเจน 

โดยจากการศึกษาของ ดร.Thor Hanson และคณะ พบว่าในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ปี 1950 ถึงปี 2000 ความขัดแย้งติดอาวุธที่สำคัญของโลกมากกว่าร้อยละ 80 เกิดขึ้นในจุดฮอตสปอตด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้หลากหลายสายพันธุ์พืชและสัตว์ท้องถิ่นต้องตกอยู่ในความเสี่ยงสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

กองทัพยูเครนที่ประจำการอยู่ในป่าทางภาคตะวันออกของประเทศ  Cr Reuters

แม้ว่ามีการวิจัยในวงกว้างเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผลกระทบทางนิเวศวิทยาจากสงคราม แต่ในการศึกษาหนึ่งในปี 2018 นักวิทยาศาสตร์พบว่า ความขัดแย้งด้วยอาวุธมีความสัมพันธ์กับการลดลงของสัตว์ป่าทั่วพื้นที่คุ้มครองของแอฟริกา โดยนักวิจัยพบว่าจำนวนประชากรสัตว์ป่ามีแนวโน้มที่จะคงที่ในยามสงบและจะเริ่มลดลงในช่วงสงคราม และยิ่งความขัดแย้งเกิดขึ้นบ่อยเท่าใด ปริมาณการลดลงก็จะยิ่งชันมากขึ้นเท่านั้น

ดร.Hanson กล่าวว่า ในบางกรณี การทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นยุทธวิธีทางทหารที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐฯ ฉีดพ่นสารเคมีอันตาย (agent organe) เพื่อทำลายต้นไม้ใบหญ้าไปตามแนวป่า เพื่อทำให้ต้นไม้ในป่าตาย เปิดพื้นที่ป่าให้โล่ง ป้องกันไม่ให้กองกำลังฝ่ายข้าศึกใช้ร่มไม้ในป่าเป็นแนวกำบังในการลำเลียงพล ซึ่งผลกระทบจากการใช้สารเคมีนี้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์ในเวียดนามต่อเนื่องยาวนานกว่าหลายทศวรรษ

ภาพการโปรยสารเคมีเพื่อทำลายป่าไม้ในเวียดนามโดยกองทัพสหรัฐ ระหว่างช่วงสงครามเวียดนาม

นอกจากนี้ ในหลายๆ กรณี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสงครามก็เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจเช่นกัน เช่น ทหารขุดแนวสนามเพลาะ ทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมเป็นบริเวณกว้าง ดังเช่นที่ขณะนี้กำลังเกิดขึ้นที่ยูเครน เมื่อรถถังไถพืชพื้นถิ่นในทุ่งญ้าสเตปป์จนราบเรียบ ขณะที่การทิ้งระเบิดฝากรอยหลุมแผลเป็นไปทั่วพื้นที่ และระเบิดที่จุดไฟ ยิ่งไปกว่านั้นสารพิษและโลหะหนักต่างๆ จากอาวุธที่ใช้ในการรบพุ่งก็แพร่กระจายปนเปื้อนไปสู่ระบบนิเวศทั้งบนดิน ในน้ำ และในอากาศ

แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายปีหลังสงครามสิ้นสุด ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสงครามยังคงรู้สึกได้ในหลายพื้นที่ ในปี 2011 นักวิทยาศาสตร์รายงานว่าระดับการปนเปื้อนตะกั่วและทองแดงยังคงมีระดับสูงในดิน และในบางพื้นที่รอบๆ เมือง Ypres ซึ่งเป็นสมรภูมิสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเบลเยียม

“สำหรับสงครามในยูเครน สงครามทำให้เกิดความเสี่ยงการปนเปื้อนมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากการสู้รบ เนื่องจากยูเครน เต็มไปด้วยโรงงานเคมีและสถานที่จัดเก็บ คลังน้ำมัน เหมืองถ่านหิน ท่อส่งก๊าซ และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งอาจปล่อยมลพิษจำนวนมหาศาลหากได้รับความเสียหาย ซึ่งบางส่วนก็โดนไปแล้ว” Doug Weir นักวิจัยและผู้อำนวยการแผนงานขององค์กร Conflict and Environment Observatory ที่ทำงานด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสงครามโดยตรง กล่าว

“สิ่งนี้เทียบได้กับการใช้อาวุธเคมีจริงๆ” Oleksii Vasyliuk นักชีววิทยาใน Vasylkiv ประเทศยูเครน และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งยูเครน กล่าว “ชาวรัสเซียไม่ได้นำสารพิษมาที่นี่ แต่พวกเขาได้ปล่อยสารพิษที่มีอยู่แล้วในดินแดนยูเครนออกสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว”

 

ผลกระทบโดยอ้อมจากสงคราม

นอกจากการสู้รบจะทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าสงครามสร้างความหายนะทางระบบนิเวศทางอ้อมได้ด้วย จากการที่คู่กรณีที่สู้รบในสงครามกอบโกยหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อหาทุนมาดำเนินสงครามต่อ นี่ยังรวมไปถึงความพยายามในการเอาตัวรอดของผู้ที่ตกอยู่ในวงล้อมของสงคราม ที่ต้องล่าและใช้ทรัพยากรที่อยู่รอบตัว เพื่อเอาชีวิตรอด

Kaitlyn Gaynor นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา กล่าวว่า สงครามมักก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและอาหาร ส่งผลให้พลเรือนต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เช่น การล่าสัตว์ป่าเพื่อความอยู่รอด กองทัพบางแห่งยังต้องอาศัยสัตว์ป่าเป็นอาหารให้กับกองทัพ หรือเก็บเกี่ยวชิ้นส่วนของสัตว์อันมีค่า เช่น งาช้างและเขาแรด เพื่อใช้เป็นทุนในการทำสงครามของพวกเขา

สงครามในหลายประเทศแถบแอฟริกาทำให้แรดจำนวนมากถูกล่าเพื่อนำนอไปขาย สนับสนุนเงินทุนในการทำสงคราม

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในแองโกลาเมื่อปี 1975 ประเทศนี้ก็ระงับการลาดตระเวนต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทำให้การเข้าถึงอาวุธปืนเพิ่มมากขึ้น ผลที่ได้คือการล่าสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้จำนวนกระบือ แอนทิโลป และสายพันธุ์เป้าหมายอื่นๆ ลดลง” Franciany Braga-Pereira นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ผู้ศึกษาผลกระทบของสงคราม กล่าว

นอกจากนี้ ผลจากช่วงสงครามกลางเมืองของประเทศโมซัมบิก ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 1977 ถึง 1992 ทำให้ความหนาแน่นของประชากรของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ 9 ชนิด รวมถึงช้าง ม้าลาย ฮิปโปโปเตมัส และควาย ลดลงมากกว่าร้อยละ 90 ในอุทยานแห่งชาติโกรองโกซา

นี่จึงเป็นหลักฐานชัดเจนว่า สงครามไม่ได้เพียงแต่ส่งผลทำลายล้างกระทบกับมนุษย์และสังคมมนุษย์เท่านั้น แต่ธรรมชาติก็โดนลูกหลงไปด้วยเช่นกัน และในที่สุดผู้ที่แพ้สงครามก็คือโลกที่เราพึ่งพาอาศัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ที่มา: New York Times

related