svasdssvasds

ป่าชายเลนเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศและกลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจก

ป่าชายเลนเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศและกลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันมีการเร่งปลูกป่ากันมากขึ้น โดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นดี ในทางกลับกันหากป่าชายเลนลดจำนวนลงและถูกทำลายจะส่งผลกับระบบนิเวศ ป่าชายเลนที่เสื่อมจะกลับกลายเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจก

ป่าชายเลนหลายแห่งกำลังถูกทำลายจากภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ของโลก และภาวะโลกร้อนก็ส่งผลให้ต้นไม้ถูกน้ำเค็มเข้าท่วม และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นไม้บริเวณชายฝั่งไม่สามารถทนความเค็มของน้ำทะเลได้ และยืนต้นตายในที่สุด และไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกต่อไป

เครดิต : pixabay

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาเกี่ยวกับการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน และไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยจากป่าชายเลนเสื่อมโทรม 5 แห่งบริเวณคาบสมุทร Albemarle-Pamlico Peninsula พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่าชายเลนที่มีต้นไม้ยืนต้นตายปล่อยก๊าซมากที่สุด โดย 1 ใน 4 ของก๊าซที่ปล่อยออกมาเป็นก๊าซเรือนกระจก

เครดิต : pixabay

ถึงแม้ป่าชายเลนจะเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นดีแต่ในทางตรงกันข้าม หากป่าชายเลนลดจำนวนหรือเสื่อมโทรมจะกลับกลายเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจกได้ 

สาเหตุของพื้นที่ป่าชายเลนลดลงเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน และที่สำคัญ คือ การขยายตัวของประชากร ทำให้มีการพัฒนากิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การประมงและการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ โดยเฉพาะการทำนากุ้ง การทำเหมืองแร่ การเกษตรกรรม การขยายตัวของแหล่งชุมชน การสร้างท่าเทียบเรือ การสร้างถนนและสายส่งไฟฟ้า การอุตสาหกรรมและโรงงานไฟฟ้า การขุดลอกร่องน้ำ การทำนาเกลือ การตัดไม้เกินกำลังการผลิตของป่า และกิจกรรมอื่นๆ

ในส่วนของประเทศไทยเองสาเหตุสำคัญที่ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลงและเสื่อมโทรมอย่างมาก แบ่งได้เป็น 2 ช่วงคือ

1. ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2504-2522 สาเหตุหลักของการทำลายป่าชายเลน ได้แก่ เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้มาทำฟืนและถ่านในเชิงพาณิชย์ การทำเหมืองแร่ในป่าชายเลน การสร้างท่าเรือ และเขื่อน

2. ช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เป็นต้นไป สาเหตุหลักของการทำลายป่าชายเลน ได้แก่ การบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ทำนากุ้งเพื่อการส่งออก ซึ่งมีทั้งกิจการที่มีคนไทยและคนต่างชาติเป็นเจ้าของ การขยายพื้นที่เมือง และชุมชนอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนเช่น ปริมาณธาตุอาหารลดลง ความเค็มเพิ่มขึ้น น้ำขุ่นข้น มีปริมาณสารพิษในน้ำ เกิดการพังทลายของดิน มีการเปลี่ยนแปลงชนิด ปริมาณ และลักษณะโครงสร้างของพืชและสัตว์น้ำ และที่สำคัญ คือมีผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศป่าชายเลนและระบบนิเวศอื่นในบริเวณชายฝั่งใกล้เคียงป่าชายเลน ซึ่งยากจะฟื้นฟูให้ป่าชายเลนกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม แม้จะใช้เงินมหาศาลก็ตาม

 

ที่มา : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ / กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :