svasdssvasds

พ.ร.บ.อากาศสะอาด ถึงไหนแล้ว! ส่องความคืนหน้าแค่ไหน แนวทางเป็นอย่างไร?

พ.ร.บ.อากาศสะอาด ถึงไหนแล้ว! ส่องความคืนหน้าแค่ไหน แนวทางเป็นอย่างไร?

ตอนนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้ง ซึ่งในแต่ละปีฝุ่นละออง PM 2.5 ก็ทวีความรุนแรงขึ้น พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้

ปัญหาฝุ่น PM2.5 กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตในหลายพื้นที่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด จึงเป็นทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่คนไทยต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 มาเป็น 10 ปี โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจากตัวเลขปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ที่ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศรวมกว่า 9.2 ล้านราย

พ.ร.บ.อากาศสะอาด ถึงไหนแล้ว! ส่องความคืนหน้าแค่ไหน แนวทางเป็นอย่างไร?

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงประเด็นอากาศสะอาดและการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ดังนี้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รัฐบาลตั้งใจจะยกระดับวิถีชีวิตประชาชนในทุกมิติรวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอากาศสะอาด โดย PM 2.5 เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลังจากนายกรัฐมนตรีรับตำแหน่งได้เดินทางไปราชการที่จังหวัดเชียงใหม่หลายครั้ง และได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องแผนงานที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา มีหลายเรื่องที่ต้องทำ และต้องให้ความรู้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำการเกษตรที่ต้องไม่มีการเผา และเรื่อง PM 2.5 ทั้งนี้ จุดกำเนิดของปัญหา PM 2.5 มาจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เนื่องจากพืชผลไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือข้าวโพดภายหลังการปลูกจะมีการเผาทำลาย เศษ ตอข้าว ซังข้าวโพด เพราะหากไถกลบจะใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่า

โดย พ.ร.บ บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดอยู่ระหว่างชั้นการพิจารณาของนิติบัญญัติ หวังว่าจะเป็นวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคมนี้ ส่วนของการใช้งบประมาณรัฐบาลกันบางส่วนไว้สำหรับเมื่อเกิดภัยพิบัติก็จะได้นำออกมาใช้ได้ 

รวมทั้งมีส่วนของการเจรจากับเพื่อนบ้าน ที่มีเอกชนไปปลูกข้าวโพดทั้งในลาวและเมียนมามีการพูดคุย และคาดโทษโดยใช้มาตรการด้านภาษีมารองรับ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพูดคุยและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง นโยบายหลักของไทยคือต้องการให้ประชาชนมาใช้รถ EV เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะมีเอกชนสนใจมาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย ใช้เป็นฐานการผลิตส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด

ด้านนายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งพูดถึงงบจัดการปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่แม้รัฐบาลจะยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่เมื่อดูในเอกสารงบประมาณ กลับน่าผิดหวัง เพราะไม่ได้สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ทําให้รู้สึกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาตามที่พูดไว้

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล

นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 298 ล้านบาท ฟังดูดี แต่เข้าไปดูในรายละเอียด 292 ล้านเป็นโครงการยกระดับโรงพยาบาล Green and Clean ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากฝุ่นพิษ ส่วนอีก 6.2 ล้านบาทเป็นของกรมอนามัยที่ปีนี้ตั้งเป้าจะลดจํานวนผู้ป่วยโรคทาเดินหายใจให้ได้ 5%

พอไปเจาะดูตัวเลขงบประมาณให้ละเอียดขึ้น ก็จะเหลือเพียง 2.8 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศ เงิน 2.8 ล้านบาทนี้ เทียบเท่ากับโครงการจัดซื้อเครื่องวัดค่า PM2.5 และ PM10 เครื่องเดียว ที่จังหวัดสระบุรี

กับวิกฤตที่กระทบสุขภาพ และพรากชีวิตคนที่เรารักไป รัฐบาลจัดงบได้แค่นี้หรือ??

ทั้งที่ปัญหานี้มีความรุนแรง ข้อมูลจากกรมการแพทย์ อัตราส่วนโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดอยู่ในภาคเหนือ ปี 2556-2560 ตัวเลขของมะเร็งปอดอยู่อันดับ 2 ของทั้งเพศชายและหญิง แต่เมื่อเทียบกับภาคอื่น พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ภาคเหนือนําห่าง

เมื่อมาดูว่า ครม. มีแนวทางอย่างไรในด้านนี้บ้าง หนึ่ง ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทําห้องปลอดฝุ่น แต่งบ 67 ไม่มี งบ 65 66 ก็ไม่มี ในอดีตมีเพียงการใช้งบจาก สสส. องค์การอนามัยโลก และการรณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้าร่วมโครงการแบบอาสาเท่านั้น ตัวเลขยอดรวมปัจจุบัน กรมอนามัยแจ้งไว้ที่ 1,178 แห่ง แต่เมื่อเช้านี้ผมเข้าเว็บไซต์กรมอนามัยยังขึ้นโชว์ที่จังหวัดเชียงใหม่เพียง 4 จุดเท่านั้น

ส่วนประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ งบประมาณไม่เห็นเช่นเคย ทุกวันนี้เห็นแต่เครือข่ายมลพิษออนไลน์ที่จะช่วยประเมินสุขภาพพร้อมให้คําแนะนําผ่าน LINE official แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงระบบออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเสริมมาตรการออนกราวน์ โดย อสม. เข้าไปด้วย โดยทั้งหมดต้องเตรียมงบประมาณในการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ และจัดงบประมาณการเฝ้าระวังโรคและสุขภาพในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 อย่างรุนแรง เหมือนที่รัฐบาลจัดโครงการลักษณะเดียวกันนี้กับเขตพื้นที่ EEC ที่ไม่ได้มีความรุนแรงขนาดภาคเหนือด้วยซ้ำ

ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรผู้สูบบุหรี่ ภาคเหนือมีอัตราผู้สูบบุหรี่น้อยที่สุดในประเทศ จากข้อมูลทั้งหมดแสดงว่า ผู้ชายภาคเหนือมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่นๆ 1.4 เท่าและผู้หญิงภาคเหนือก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าที่อื่นๆ ถึง 1.7 เท่า ทั้งๆ ที่ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในภาคเหนือ มีน้อยกว่าตัวเลขผู้สูบทั่วประเทศถึง 10%

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภาคเหนือ ในปี 2566 มียอดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทั้งประเทศอยู่ที่ 6,826,577 คน กว่าครึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งเกินค่ามาตรฐาน

ดูเหมือนว่ายังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอากาศสะอาดทั้งเรื่องงบประมาณในเรื่องการขับเคลื่อนอากาศสะอาดและแนวทางการแก้ไขอาจยังไม่แน่ชัดเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นเราต้องติดตามต่อไปว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไร

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :