svasdssvasds

'พ.ร.บ.อากาศสะอาด' กว่าคนไทยจะมีอากาศที่ดี ทำไมถึงยากเย็นแสนเข็ญ?

'พ.ร.บ.อากาศสะอาด' กว่าคนไทยจะมีอากาศที่ดี ทำไมถึงยากเย็นแสนเข็ญ?

หลังจากที่ ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ชงโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผ่านมติครม.เป็นที่เรียบร้อย เราชวนย้อนดูเศษซากความหวังของประชาชนในการถึงเข้าถึงอากาศที่ดี ผ่านร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์-เศรษฐา

สด ๆ ร้อน ๆ ที่ครม. ลงมติอนุมัติรับ ร่างพ.ร.บ.การจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ชงโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา เพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 เพื่อรับรองอากาศสะอาดให้กับคนไทย

ก่อนจะไปสู่คำถามใหญ่ที่ตั้งเอาไว้บนภาพ “กว่าคนไทยจะมีอากาศที่ดี ทำไมถึงยากเย็นแสนเข็ญ” ชวนย้อนดูกันสักเล็กน้อยว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ในนามรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงการเลือกตั้ง 2566 ในนามรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

สายพานของร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดที่ผ่าน ๆ สุดท้ายลงเอยอย่างไร? เกิดเหตุขัดข้องที่กระบวนการใด? ประชาชนที่ต้องถูกรมควันด้วยฝุ่น และควันพิษจากการเผาไหม้ พวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อโอกาสในการเข้าถึงอากาศที่ดีหลุดลอยหายไปต่อหน้าต่อตา

 

ฝุ่น PM2.5 เพื่อนแท้ แม้เราไม่ต้องการ

มลพิษที่ล่องลอยอยู่ในอากาศแม้มองไม่เห็นแต่พิษสงร้ายแรงถึงชีวิต ในปี 2021ประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตราว 29,000 ราย กระจายทั่ว 31 จังหวัด มีผู้ป่วยทำเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งปอดจำนวน 61,416 คน เฉพาะภาคเหนืออย่างเดียว มีทั้งสิ้น 35,078 เคส

เอื้อยเอ่ยกันตรงนี้คงเป็นเรื่องง่ายเกินไป แต่หากเรามองเห็น 1 ชีวิตเป็นคนใกล้ตัวหรือคนที่คุณรู้จัก ตัวเลขด้านบนสลักสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย

การเผาไหม้ในภาคเหนือ Cr. thecitizen

ที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เคยมีภาพปล่อยออกมาทางโซเชียลมีเดีย ที่ทั้งเมืองตกอยู่ภายใต้ฝุ่นควัน พร้อมกันรมควันจากการเผาไหม้ จนกลายเป็นเรื่องปกติ

เปิดมือถือดูค่าฝุ่น พบว่าค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปี 2019 จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำลายสถิติโลก ด้วยการนั่งบัลลังก์แชมป์เมืองที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขที่พุ่งสูงถึง 271 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ค่าฝุ่นทะลุ 271 Cr. BBC

ในปี 2016 Greenpeace Thailand รายงานว่า กลุ่มเครือข่าย Bye Bye Smog พร้อมกับชาวเชียงใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ได้ออกมารวมตัวกันหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึงภาครัฐให้จัดการกับปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือเป็นการเร่งด่วน และหากสังเกตจากภาพทุกคนใส่แมสก์กันแทบทุกคน ซึ่งนี่คือก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เสียอีก ชาวเชียงใหม่กำลังสูดดมอะไรเข้าไป?

ชาวเชียงใหม่เรียกร้องอากาศสะอาด Cr. Greenpeach Thailand

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 65 ในกรณีเรื่อง จ.เชียงใหม่มีค่าฝุ่นสูงติดอันดับโลกไว้ว่า เกษตรกรไม่ควรเผา ตนไม่อยากลงโทษ แค่ฝุ่นจากต่างประเทศก็มากพออยู่แล้ว ตน “ไม่อยากใช้กฎหมาย เพราะถ้าใช้ก็ผิดกฎหมายกันหมด”

ในวันที่ 10 เม.ย. 66 ประชาชนชาวเชียงรายในนามกลุ่ม Smog’s gone ได้นัดรวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนของประชาชน ว่าต้องการให้รัฐเร่งจัดการแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วน หลังที่ผ่านมาค่าฝุ่นควันยังสูงต่อเนื่อง

“ตอนนี้หายใจไม่ออกแล้ว อยากให้แก้ไขปัญหา เรื่องฝุ่นเป็นปัญหาทุกปี และปีนี้หนักมากจึงทนไม่ไหว” น.ส. ญดา จีระจันทร์ ชาวจังหวัดเชียงราย กล่าว

ในวันที่ 7 กันยายน 66 ซึ่งเป็นวันอากาศสะอาดสากล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม: สิทธิในอากาศสะอาด’ เนื้อหาและสาระสำคัญจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการอากาศสะอาดให้แก่ประชาชน ว่าจะเป็นอย่างไรภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้อย่าง รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ทรรศนะไว้ว่า ฝ่ายการเมืองสามารถทำให้กฎหมายเป็นอัมพาตได้อาทิ ห้องปลอดฝุ่นของ กทม. 200 กว่าล้าน ถูกสภากทม. ตีตกไป

ห้องเรียนปลอดฝุ่น Cr. กทม.

สาวิทย์ แก้วหวาน ประสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวถึงเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเอาไว้ว่า แท้จริงแล้ว ประชาชนมีส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นเพียงแค่พิธีกรรมฉากหน้าหรือเปล่า

สาวิทย์ เน้นอีกว่า เราต้องสำแดงพลังออกไปให้มากที่สุด เพราะการแสดงพลังผ่านคีย์บอร์ดไม่เพียงพอ สุดท้ายร่างกฎหมายก็จะถูกปัดทิ้ง เฉกเช่นแบบที่ผ่าน ๆ มา

เครือข่ายอากาศสะอาด Cr. Thailandcan

ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาลจะถูกลงมติเห็นชอบจากครม. ย้อนกลับไปในวันที่ 13 พ.ย. 66 กลุ่มเครือข่ายสะอาด ได้ออกมาเร่งนายกฯ ให้รับร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลอากาศสะอาดฯ ฉบับประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ ทว่าถูกตีตกไป

พ.ร.บ.อากาศสะอาดสำคัญอย่างไรต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนสามารถอ่านเพิ่มได้ที่บทความชิ้นนี้ https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/845610

ย้อนดู ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์-เศรษฐา  

  • วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 สส.ภูมิใจไทย เสนอร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ...
  • วันที่ 13 กรกฎาคม ประชาชนเข้าชื่อ 12,000 คน เสนอร่างพ.ร.บ.การบริหารการจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ...
  • สส.ก้าวไกล เสนอร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ...
  • เครือข่ายอากาศสะอาด เสนอร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ...
  • เดือนธันวาคม 2564 สส.ประชารัฐ เสนอร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน

ทั้ง 5 ฉบับในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกไปตกไปทั้งหมด 3 ฉบับ ซึ่งก็คือ 3 ฉบับแรก เหตุผลที่พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 3 ร่างถูกปัดตกไป เหตุผลเพราะมีความขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การเงินฯ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยมีนายกคนที่ 30 ชื่อว่า เศรษฐา ทวีสิน แม้อาจไม่มีข่าวเรื่องฝุ่น PM 2.5 ให้ได้ยินมากนักเฉกเช่นรัฐบาลก่อน แต่ปัญหายังคงไม่หายไปไหน และรอวันแก้ไข

ในสมัยรัฐบาลเศรษฐามีการยื่นร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดอยู่หลายครั้งอาทิ

  • วันที่ 13 พ.ย. 66 เครือข่ายอากาศสะอาด เสนอร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ...
  • วันที่ 27 ก.ย. 66 สส.เพื่อไทยยื่นร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ดันคู่ขนานไปกับร่างของรัฐบาล
  • วันที่ 28 พ.ย. 66 ครม.ลงมติ รับร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ...

นอกจากความเคลื่อนไหวในการดันร่างจากทั้ง 3 ภาคส่วนนี้ เครือข่ายอากาศได้ระบุข้อมูลไว้ว่า ยังมีร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดอย่างน้อยอีก 4 ฉบับ ที่กำลังจะถูกยื่นเข้าเข้าพิจารณาอาทิ

  • ร่างของพรรคภูมิใจไทย
  • ร่างของพรรคก้าวไกล
  • ร่างของพรรคประชาธิปัตย์
  • ร่างของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)

ติดขัดตรงไหนทำไมถึงไม่มีโอกาสได้เข้าสภาสักที?

ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 66 โดยระบุว่า ท่าทีของภาครัฐไม่ถึงกับเพิกเฉยในเรื่องฝุ่นควันพิษ

ทว่า ไม่ได้จัดการอะไรอย่างเป็นรูปธรรม บรรดาผู้ใหญ่ในสภายังมีความคิดเห็นเชิงลบต่อ พ.ร.บ.อากาศสะอาดอยู่ ซึ่งอ้างว่า กฎหมายมีเยอะอยู่แล้ว ขืนออกพ.ร.บ.อากาศสะอาดมาก็ขัดแข้งขัดขากันเอง แนะให้ใช้กฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมทดแทนไปก่อน

ดร.ศิวัช ตังข้อสังเกตว่า มีใครแอบอยู่ในเงามืดแล้วควบคุมมิให้พ.ร.บ.อากาศสะอาด ได้ผ่านเข้าสภาหรือไม่ 

เพราะหากเราไปสำรวจในประเทศที่มีพ.ร.บ.อากาศสะอาดใช้ กลุ่มทุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะไม่มีเยอะ พูดง่าย ๆ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมจะเสียประโยชน์เป็นรายแรก หากประเทศไทยมีให้อำนาจรัฐเต็มที่ในการใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด พร้อมทั้งมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนี่ส่งผลไม่ดีนักแต่กลุ่มคนดังกล่าว

ฝุ่น PM 2.5

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ร่องรอยร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด มีการเดินทางที่ไม่สู้ดีนัก เพราะถูกตีตกบ้าง ถูกดองบ้าง ติดเงื่อนไขเรื่องพ.ร.บ.การเงินบ้าง แต่ปัญปาฝุ่นไม่เคยหายไปไหน

ฉะนั้น ชวนรอติดตามว่า ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดที่เสนอโดยรัฐบาล จะทนต่อแรงเสียดทานและจะสามารถมอบสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างอากาศที่ดี ให้กับประชาชนได้หรือไม่

 

 

ที่มา: Greenpeace Thailand

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related