svasdssvasds

ฝุ่น PM 2.5 ลด! ทุกภาคส่วนเดินหน้าแก้ปัญหาต่อเนื่อง

ฝุ่น PM 2.5 ลด! ทุกภาคส่วนเดินหน้าแก้ปัญหาต่อเนื่อง

ทิศทางลมที่พัดจากใต้ขึ้นเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีค่าฝุ่นสูง แต่ลมไม่ได้พัดเข้า กทม. ทำให้ค่าฝุ่นใน กทม. ลดลงไม่เกิดค่ามาตรฐาน ขณะที่ทุกภาคส่วนจับมือเดินหน้าลดฝุ่นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับระหว่างประเทศ ภาครัฐ เอกชน และองค์กร

ทิศทางการจัดการฝุ่น PM 2.5 เริ่มดีขึ้น หลังภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือเอาจริงเอาจังในการรณรงค์หยุดเผาและลดการสร้างมลภาวะ ขณะที่รัฐบาลก็ได้หารือสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับทิศทางลมที่เปลี่ยนทำให้ฝุ่นใน กทม. ลดลง ทั้งหมดนี้เป็นการเดินหน้าพร้อมกันทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับประเทศจนไปถึงระดับองค์กร ดังนี้

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงที่รัฐสภา

นายกฯ คุยกัมพูชา ร่วมแก้ PM 2.5

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเรื่องของฝุ่นละออง PM2.5 ที่รัฐสภา ว่า เป็นปัญหาที่มีรากเหง้าจากปัญหาเศรษฐกิจ ยังมีการเผาทำลายวัชพืชด้วยการใช้ไม้ขีดเพียงก้านเดียว ดังนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ ควบคู่กับการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศอากาศ 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าลดลงอย่างมีนัยยะ แต่ต่อเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะยังเข้าใจการแก้ปัญหาน้อยหรือขาดปัจจัยบางอย่าง แต่เมื่อวานนี้ก็ได้มีการหารือกับผู้นำของกัมพูชา ซึ่งยืนยันว่าจะร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องนี้

ขณะเดียวกันตนได้สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหากเกษตรกรยังใช้วิธีการเผาอยู่ก็อาจจะมีการใช้บังคับกฎหมายโดยกระทรวงมหาดไทย หรือตัดความช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์

'วิสาระดี' ดัน 'เชียงใหม่โมเดล' แก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ

ด้านนางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด ขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ยกให้เชียงใหม่เป็นต้นแบบการบูรณาการด้าน PM 2.5 โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ ลดการเผาได้กว่า 80% จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยใช้วิธีการไถกลบตอซังและขนเปลือกข้าวโพดไปใช้ประโยชน์อื่นแทนการเผา พร้อมเดินหน้ามุ่งจัดการปัญหาใน จ. เชียงราย และบริเวณภาคเหนือตอนบนต่อไป

ข้อมูลจากศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่าในช่วงนี้พื้นที่ภาคเหนือเกินค่ามาตรฐาน 13 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 18.9 - 66.3 มคก./ลบ.ม. โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงราย ที่มีไฟป่าหมอกควันและ PM 2.5 เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพราะเป็นจังหวัดที่มีจุดความร้อนสะสมลำดับที่ 5 จำนวน 10,129 จุด จากทั้งหมด 17 จังหวัดภาคเหนือ แต่ด้วยทิศทางลมที่พัดฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่โล่งของประเทศข้างเคียง เช่น เมียนมา ลาว ผนวกกับสภาพอากาศที่นิ่งและความกดอากาศสูง ทำให้มีการขังตัวของฝุ่น PM 2.5 ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนทุกปี ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตที่สุด จึงได้ประกาศเป็นช่วงเวลาห้ามเผา

ด้านนางสาววิสาระดีเสนอให้ใช้ประโยชน์จากศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและ PM 2.5 เพื่อเพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชน ส่งเสริมโครงการเกษตรลดการเผา และป้องกันหมอกควันแก่เด็กเล็กและผู้ป่วยด้วยการสร้างห้องปลอดฝุ่น DIY ต้นทุนน้อยแต่มีประสิทธิภาพ และโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นที่ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 พร้อมกับรับข้อเสนอของนายกฯ ในการทำงานเชิงรุก ใช้กฎหมาย เช่น รณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้วิธีการฝังกลบ หากฝ่าฝืนจะถูกตัดสิทธิ์รับความช่วยเหลือจากรัฐ ลดหรือห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่พิสูจน์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการเผา เป็นต้น 

นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือประเด็นหมอกควันข้ามแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ตนเห็นว่าถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือในการคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชนไทยและกัมพูชา เพราะทั้งสองฝ่ายพร้อมแบ่งปันข้อมูลและแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ ส่งเสริมการแก้ปัญหาการเผาไหม้ทางเกษตร และผลักดันขยายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ต่อไป

ห้องลดฝุ่น

เชียงใหม่ Kick Off โครงการ 'ห้องลดฝุ่น'

นายแพทย์ จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน และมีนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ มอบใบรับรองห้องลดฝุ่นและมอบเกียรติบัตรผู้ให้สนับสนุนการจัดทำห้องลดฝุ่น ที่อาคารยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

ที่มาของโครงการสืบเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และปัญหาฝุ่นขนาดเล็กในช่วงต้นปี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อป้องผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สอดคล้องประกาศกรมอนามัย เรื่อง ค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ และเพื่อให้เป็นไปตามมติ ที่ประชุมคณะทำงาน "ห้องลดฝุ่น" จังหวัดเซียงใหม่ วันที่ 17 มกราคม 2567 และประกาศคณะกรรมการแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศทั่วไป ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป กำหนดให้ PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงดำเนินการ ประกาศเรื่อง มาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้านสุขภาพ ฉบับที่ 1/2567 สำหรับอาคารสาธารณะและบ้านเรือน ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการลดฝุ่นในพื้นที่ห้อง อาคาร และสถานที่พักอาศัย

โดยเป้าหมายการดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่หน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ สถานศึกษาภาครัฐและเอกชน รวมถึงบริษัทห้างร้านต่างๆ ปัจจุบันนี้ห้องลดฝุ่นของจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนอยู่ที่ 206 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567) 

ขณะที่แนวทางการจัดเตรียมห้องลดฝุ่นจังหวัดเชียงใหม่ปี 2567 มีหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการทำห้องลดฝุ่นคือ “กัน กรอง ดัน” กันฝุ่นคือป้องกันฝุ่นจากด้านนอกไม่ให้เข้ามาภายในห้องใช้หลักการปิดให้มิดชิดรวมถึงอุดรอยรั่วต่างๆของห้อง กรองฝุ่นคือ ใช้เครื่องกรองอากาศเพื่อลดฝุ่นภายในห้องโดยเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของห้อง ดันฝุ่นคือ สร้างแรงดันภายในห้องให้สูงกว่าด้านนอก เพื่อดันอากาศภายนอกที่มีฝุ่นไม่ให้เข้ามาภายในห้อง

สำหรับเกณฑ์มาตรฐานห้องลดฝุ่นจะมีอยู่ 3 เกณฑ์ 1 ถึง 3 ดาว 1 ดาว คือ ป้องกันฝุ่นจากภายนอกใช้อุปกรณ์ลดฝุ่นหรือเครื่องฟอกอากาศ 2 ดาว คือ มีเครื่องเติมอากาศ ให้ค่าฝุ่นต่ำกว่า 37.5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือต่ำกว่าภายนอกร้อยละ 25 และ 3 ดาว คือ มีเครื่องเติมอากาศ ให้ค่าฝุ่นต่ำกว่า 37.5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือต่ำกว่าภายนอกร้อยละ 50

ซึ่งในวันนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับมอบอุปกรณ์เครื่องเติมอากาศ ห้องลดฝุ่น จากตรวจแทนบริษัทเอกชนจำนวน 3 แห่ง  ได้แก่ Camifil (Thailand) Ltd., บริษัท อินโนเวทีฟ อินสทรูเมนต์ จำกัด, บริษัท อัลติแมค คอมเมอร์เชียล จำกัด 

หน่วยงานตัวแทนของชาวเชียงใหม่ก็ได้เข้ารับมอบใบประกาศรับรอง ห้องลดฝุ่นจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย สำนักสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดเชียงใหม่เชียงใหม่(บ้านพักราชการ), โรงพยาบาลนครพิงค์(ห้องมารดาหลังคลอด) , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ห้องลดฝุ่นศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟฟ้าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5จังหวัดเชียงใหม่), ภาคเอกชน ฟิสเนต playground fitness ซึ่งหน่วยงานที่กล่าวมาข้างต้นเป็นห้อง ห้องลดฝุ่นระดับ 3 ดาว  และมีห้องลดฝุ่นระดับ 1 ดาว คือ โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท , ศูนย์การค้าเมญ่า 

นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่รวมพลังกันในทุกเครือข่ายไม่ใช่เพียงแค่ภาคราชการอย่างเดียวเรารวมกันทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงเอกชน เพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน 

ปัจจุบันนี้สถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้นจากการที่ร่วมมือกันคิดและลงมือทำ ห้องลดฝุ่น เป็นนโยบายของทางสาธารณสุข แต่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่และกว้าง จึงต้องมีการบูรณาการพูดคุยและทำงานร่วมกันให้เหมาะกับบริบทของจังหวัดให้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์ฝุ่นพิษของจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้นในทุกมิติ ซึ่งเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จำนวนจุดความร้อนของจังหวัดเชียงใหม่เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน ลดลงไปร้อยละ87ในห้วงเวลาเดียวกันของที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนที่ลดลงมาก็มาจากความร่วมมือในทุกฝ่าย

ในเรื่องของค่าฝุ่น PM 2.5 ในปีที่ผ่านมาวัดที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในปีนี้เราวัดที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากมาดูในห้วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปี 2566 มีค่าคุณภาพอากาศเกินคาดมาตรฐานไปกว่า 30 วัน แต่ปีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นปีมาค่าคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ซึ่งข้อมูลของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ลดลงเช่นกัน รวมถึงตอนนี้เราไม่มีมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด ตราบใดที่สถานการณ์ยังดีอยู่ แต่เราใช้วิธีการเข้าไปคุยเข้าไปทำความเข้าใจ เป็นการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ถือว่าเชียงใหม่ทางถูกทางในปีนี้

กทม. แถลงข่าวเรื่องฝุ่น PM 2.5

ลมเปลี่ยนทิศจากใต้ขึ้นเหนือ พลิกค่าฝุ่น กทม. ลดลง

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร อธิบายประเด็นทิศทางลมที่เป็นปัจจัยสำคัญของค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมากับวันนี้

3 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในกทม.

  1. มลพิษในพื้นที่ซึ่งมีคงที่อยู่ตลอด เนื่องจากจำนวนอุตสาหกรรมหรือรถยนต์มีจำนวนเท่าเดิม
  2. สภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งดูได้จาก 2 ประเด็น
  • อัตราการระบาย

เปรียบเสมือนพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นห้องๆหนึ่ง ถ้าอยู่ในช่วงกลางปีที่สภาพอากาศเปิด เพดานของห้องจะค่อนข้างสูง เมื่อมีมลพิษก็จะสามารถระบายออกได้ค่อนข้างง่าย แต่ถ้าเป็นช่วงที่สภาพอากาศปิดที่อัตราการระบายต่ำเพดานห้องจะลดลง เมื่อมีมลพิษจะกักอยู่ก็จะระบายออกได้ยาก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวมีอัตราการระบายต่ำเพราะเพดานอากาศมีการกดตัว  ซึ่งสังเกตได้ว่าเพดานอากาศจะมีการกดตัวลงในช่วงเวลากลางคืน ในช่วงเช้าจะเห็นถึงการสะสมของฝุ่น แต่พอมีแดดออกในช่วงกลางวัน เพดานอากาศจะมีการเพิ่มสูงขึ้น

  • ทิศทางลม

ช่วงที่มีลมจากจีน เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามา จะพาฝุ่นที่จากภายนอก ทั้งภาคตะวันออก ภาคกลาง และจากประเทศเพื่อนบ้าน พัดเข้ามา ประกอบกับในกรุงเทพฯ มีอาคารสูงหนาแน่น ทำให้อัตราการระบายต่ำ ส่งผลให้ฝุ่นที่พัดเข้าถูกกักอยู่และระบายได้ยาก

 3. จุดเผา หากทิศทางของลมพัดมาจากจุดที่มีการเผามากๆ จะส่งผลต่อค่าฝุ่นที่สูงขึ้นได้

สำหรับในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครไม่สูงมาก (28.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ณ เวลา 15.00 น.)  สาเหตุมาจากอัตราการระบายที่มีมากกว่า 4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนทิศทางของลมในวันนี้มีทิศทางที่พัดจากใต้ขึ้นเหนือ นั้นหมายความว่า จุดเผาจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะมีการพัดขึ้นมาที่ภาคอีสานตอนใต้และอีสานตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีค่าฝุ่นสูง แต่ลมไม่ได้พัดเข้า กทม. ทำให้ค่าฝุ่นใน กทม. วันนี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งต่างจากช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ กทม. มีปริมาณฝุ่น  PM 2.5 สูงเพราะทิศทางลมพัดจากด้านตะวันออกเข้า กทม. โดยตรง

โฆษก กทม. ย้ำว่า ปัจจัยของสภาพอากาศ เพดานอากาศ การระบาย และทิศทางของลมเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยภายในที่เกิดขึ้น กทม. ได้พยายามเข้าไปจัดการที่ต้นตอ ยกตัวอย่างมาตรการในการตรวจรถควันดำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดแคมเปญ "รถคันนี้ลดฝุ่น" รณรงค์ให้ประชาชนไปเปลี่ยนไส้กรองและถ่ายน้ำมันเครื่อง โดยมีแพ็คเกจจากบริษัทน้ำมัน และค่ายรถยนต์ต่างๆ ให้ส่วนลดและสิทธิประโยชน์ เช่น จอดรถฟรีเพิ่ม 2 ชั่วโมง และรับบัตรกำนัล ซึ่งสามารถรับสิทธิได้ถึงสิ้น ก.พ. นี้

related