svasdssvasds

ชายที่ถูกงูกัด 200 ครั้ง หวังใช้เลือดช่วยพัฒนาเซรุ่มแก้พิษงู

ชายที่ถูกงูกัด 200 ครั้ง หวังใช้เลือดช่วยพัฒนาเซรุ่มแก้พิษงู

ห้ามลอกเลียนแบบ! ชายคนนี้ปล่อยให้งูกัดตัวเองมาแล้วหลายร้อยครั้ง และคาดหวังว่าเลือดของเขาอาจช่วยพัฒนาเซรุ่มรักษาพิษงูที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทิม ฟรีด คือชายผู้มีความหลงใหลในสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์มีพิษมาเป็นเวลานาน และมักจะทำให้ผู้คนตกตะลึงกับความจริงที่ว่าเขาถูกงูกัดมาแล้วหลายร้อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความตั้งใจของตัวเขาเอง

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว และความเชื่อว่าอยากทำให้ร่างกายของตนเองสามารถป้องกันพิษงูได้ ฟรีดจึงเริ่มฉีดพิษงูเข้าร่างกายที่ละน้อย ก่อนจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพยายามสร้างความทนทานต่อพิษงู และสุดท้ายเขาก้าวไปถึงขั้นการปล่อยให้งูพิษกัดโดยตรง โดยทำแบบนี้ซ้ำๆ มานานเกือบ 20 ปี จนร่างกายเต็มไปด้วยรอยเขี้ยวงู

เขาเล่าว่าในตอนแรกมันน่ากลัวมาก ร่างกายโคลงเคลงไปหมด แต่ยิ่งทำบ่อยครั้งเท่าไหร่ ร่างกายก็ยิ่งปรับตัวได้เก่งขึ้น และสงบสติอารมณ์ได้ดีมากขึ้น แม้จะต้องเผชิญความผิดพลาดหลายครั้งจนต้องเข้าโรงพยาบาลและร้ายแรงที่สุดคือต้องถูกตัดนิ้ว

ชายที่ถูกงูกัด 200 ครั้ง หวังใช้เลือดช่วยพัฒนาเซรุ่มแก้พิษงู

อย่างไรก็ตาม แพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาเตือนว่านี่ไม่ใช่แนวคิดที่ดี และไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัย บุคคลอื่นจึงไม่ควรลอกเลียนแบบเด็ดขาด

จากการติดตามการทำงานของร่างกายของฟรีด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เมื่อระบบภูมิคุ้มกันสัมผัสกับสารพิษในพิษงู ร่างกายจะพัฒนาแอนติบอดีที่สามารถต่อต้านพิษได้ ยิ่งเป็นพิษเพียงเล็กน้อยร่างกายก็จะตอบสนองอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการรับพิษปริมาณมาก และหากเป็นพิษที่ร่างกายเคยเห็นมาก่อน ร่างกายจะตอบสนองได้เร็วขึ้นและรับมือกับการสัมผัสพิษในปริมาณที่มากขึ้น

ชายที่ถูกงูกัด 200 ครั้ง หวังใช้เลือดช่วยพัฒนาเซรุ่มแก้พิษงู

ฟรีดยินดีอย่างมากที่จะให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาร่างกายและภูมิคุ้มกับพิษงูที่เขาพยายามสร้างขึ้น เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการถูกงูกัดราว 110,000 คน ขณะที่การผลิตเซรุ่มแก้พิษงูนั้นมีราคาแพงและยากลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำโดยการฉีดพิษงูเข้าไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น ม้า แล้วเก็บรวบรวมแอนติบอดีที่สัตว์เหล่านี้ผลิตขึ้น จึงมักใช้รักษาพิษงูได้บางสายพันธุ์เท่านั้น และอาจเกิดอาการแพ้ในผู้ป่วยเนื่องจากเซรุ่มไม่ได้มาจากร่างกายมนุษย์ด้วยกัน

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเลือดของฟรีด พบว่าพวกเขาสามารถระบุแอนติบอดี 2 ชนิดที่สามารถทำลายพิษของงูหลายสายพันธุ์ได้ และมีเป้าหมายเพื่อผลิตเซรุ่มที่จะสามารถให้ปกป้องผู้คนจากพิษงูได้อย่างกว้างขวางในอนาคต โดยการวิจัยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่กำลังทดสอบในหนูทดลองเท่านั้น และคาดว่าใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสามารถทดสอบในมนุษย์

ขณะที่ฟรีดได้มอบคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเดินตามรอยของเขาว่า หนทางที่ดีที่สุดคือ "อย่าทำ"