นักวิจัยญี่ปุ่นได้ค้นพบฟอสซิลผีเสื้ออายุ 2.6 ล้านปี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยถูกค้นพบ เน้นย้ำถึงความหลากหลายทางชีวภาพอันน่าทึ่งของระบบนิเวศในยุคโบราณ
นับเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อนักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบฟอสซิลผีเสื้อสายพันธุ์หายาก ชื่อว่า Tacola Kamitanii ซึ่งถูกขุดพบตั้งแต่ปี 1988 และถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฟอสซิลแมลงมานานหลายสิบปี โดยไม่มีใครสังเกตุเห็นหรือตระหนักว่ามันเป็นสายพันธุ์หายากที่แตกต่างจากตัวอื่น
จนกระทั่งมีการปประเมินฟอสซิลครั้งล่าสุด ที่ทำให้นักวิจัยพบว่า ฟอสซิลผีเสื้อที่มีปีกกว้างถึง 3.5 นิ้วตัวนี้ แม้จะจัดอยู่ในสกุล Tacola แต่ลักษณะเฉพาะตัวของมันบ่งบอกว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่
การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงแต่เน้นย้ำถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของเราอีกด้วย
เมื่อปี 1988 ฟอสซิลผีเสื้อตัวนี้ถูกพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเฮียวโงะ ใกล้กับบริเวณที่มีฟอสซิลแมลงอยู่มากมาย เดิมทีเชื่อว่าเป็นญาติใกล้ชิดของสายพันธุ์ Limenitidini จึงถูกเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ ก่อนจะค่อยๆ หายไปจากความทรงจำของทุกคน
ขณะที่ผลวิจัยล่าสุด ยืนยันว่าฟอสซิลนี้จัดอยู่ในสกุล Tacola โดยมีลักษณะเด่น เช่น ส่วนอกและส่วนท้องหนา ขนาดลำตัวที่ใหญ่ และมีปีกกว้างที่น่าประทับใจ เป็นรองเพียง Queen Alexandra ซึ่งเป็นผีเสื้อสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน จึงได้รับชื่อว่า Tacola kamitanii เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ
Tacola kamitanii ไม่ใช่แค่สายพันธุ์ใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นฟอสซิลผีเสื้อจากยุคไพลสโตซีนซึ่งมีอายุระหว่าง 2.6 ถึง 1.8 ล้านปี ทั้งยังมีความหายากระดับสูง เนื่องจากลักษณะที่เปราะบางของลำตัวและปีก
การค้นพบ Tacola kamitanii ซึ่งเป็นฟอสซิลผีเสื้อตัวแรกในยุคของมัน ยังถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการไขปริศนาประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของผีเสื้อ ทั้งยังช่วยพิ่มมิติใหม่ให้กับการศึกษาวิวัฒนาการและการกระจายพันธุ์ของผีเสื้อ ช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพตลอดหลายล้านปี