SHORT CUT
สารพิษจากเหมืองทองฝั่งเมียนมา ปนเปื้อนแม่น้ำกกในระดับอันตราย ทั้งสารหนู แคดเมียม และตะกั่ว ส่งผลให้ปลาตุ่มพอง-ชาวบ้านริมฝั่งเกิดอาการแสบตา ต้นเหตุมาจากเหมืองในเขตอิทธิพลของกลุ่มว้า ซึ่งอยู่นอกการควบคุมของรัฐบาลเมียนมา
รัฐบาลไทยยังไร้แผนเจรจาชัดเจน แม้จะมีการตรวจสอบและลงพื้นที่ แต่ยังไม่มีท่าทีระดับนโยบายรัฐต่อรัฐ ขณะที่นักวิชาการเสนอให้เปิดโต๊ะเจรจา 4 ฝ่าย (ไทย-เมียนมา-ว้า-จีน) เพื่อยุติการปล่อยมลพิษ
ใครจะไปเชื่อ! ปลาเป็นตุ่มพิษ-ประชาชนติดเชื้อ ตรวจพบแล้วว่า "สารหนู-โลหะหนัก" ปนเปื้อน "แม่น้ำกก" แต่กลับไม่มี "ผู้มีอำนาจ" คนใดเหลียวแล
12 พ.ค. 2568 วันที่เผยแพร่บทความชิ้นนี้ เป็นเวลากว่า 39 วัน เดือนกว่าๆที่หน่วยงานในพื้นที่ "พยายาม" แก้ปัญหาข้ามชาติ "ปัญหาสารพิษในแม่น้ำกก" เท่าที่ทำได้ แต่กลับ "ไม่พบสัญญาณใด" จากผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาล เช่น นายกรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจตัวจริงที่จะไปเจรจากับเพื่อนบ้าน เพราะปัญหานี้ "ซับซ้อน" กว่าที่คิด ผู้คุมเหมืองทองแห่งสารพิษนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลเมียนมา แต่เป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มว้า โดยมีบริษัททุนจีนเป็นผู้เข้ามาลงทุน ว้าไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเมียนมา
ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 68 ที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยผลตรวจคุณภาพแม่น้ำกกว่า "พบสารพิษอันตรายเกินค่ามาตรฐาน" ทั้ง สารหนู แคดเมียม และตะกั่ว สารพิษอันเป็นผลผลิตจากการขุดแร่ทองคำในฝั่งต้นน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผลตรวจก็ชี้ชัดว่า "ความเข้มข้น" ของสารดังกล่าวมีมากที่สุดที่ แม่น้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นรอยต่อกับแม่น้ำกกฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ค่อยๆเจือจางลงตามระยะทาง และยังพบการปนเปื้อนที่ท้ายแม่น้ำกกฝั่ง อ.เชียงแสน ก่อนไหลออกแม่น้ำโขง และที่ร้ายแรงกว่าคือ พบปลาติดเชื้อมีตุ่มพองในแม่น้ำโขง ฝั่ง อ.เชียงของ แล้วด้วย
สถานการณ์นี้หนักจนเกิดการยกเลิกการจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่ผ่านมาของพี่น้องริมแม่น้ำกก สั่งประชาชนห้ามล่าสัตว์-อุปโภค-บริโภค น้ำในแม่น้ำกก
สื่อหลายสำนัก รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้าน ต่างเปิดเผยข้อมูลพร้อมภาพที่ตรงกันว่า "มีการเปิดหน้าดิน" ทำเหมืองทอง ในเขตอิทธิพลของว้า เหนือแม่น้ำกกใกล้กับ อ.แม่อาย อยู่จริง มีภาพลักษณะคล้ายเรือขุดทองกลางแม่น้ำ มีภาพเหมืองแร่ริมแม่น้ำด้วย
นักวิชาการยืนยันตรงกันว่า "สารหนู" เป็นสารพิษผลผลิตจากการทำเหมืองทอง โดยปกติสารหนูจะอยู่ใต้ดิน ไม่โดนออกซิเจนก็จะไม่เป็นอันตราย แต่ทันทีที่มีการเปิดหน้าดินเพื่อขุดทองสารหนูก็จะสัมผัสอากาศ เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอันตราย เมื่อฝนตกจะชะเอาสารพิษจากกองกากแร่เหล่านี้ลงลำน้ำสาธารณะได้หากไม่มีการบำบัดอย่างถูกต้อง
ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่ทำอะไรเลย จากข้อมูลพบว่ามีการประชุมติดตามสถานการณ์นี้ โดยมีรองนายกฯ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นประธานฯ เพื่อติดตามสถานการณ์และแนวทางดำเนินงานร่วมกัน มี มท.4 น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เดินทางลงพื้นที่ด้วยตนเองเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา / นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้สั่งการให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสารปนเปื้อนโดยเฉพาะสารหนูในแม่น้ำกกเป็นเดือนละ 2 ครั้ง / มีการสั่งการให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน / ยืนยันว่าไม่กระทบต่อคุณภาพน้ำประปาใน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย
แม้รัฐบาลบอกว่าประปาปลอดภัย แต่แม่น้ำเป็นมากกว่านั้นสำหรับชาวบ้าน เพราะมันคือชีวิต คืออาชีพ คือแหล่งรายได้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2568 มีรายงานว่า ชาวบ้านริมแม่น้ำกก เขต อ.เมือง จ.เชียงราย เกิดอาการปวดแสบตาและตาบวมหลังลงคลองผันน้ำจากแม่น้ำกกเพื่อหาของที่ตกหล่นในน้ำ โดยคลองดังกล่าวเป็นคลองส่งน้ำจากโครงการฝายชลประทานเชียงราย ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรของชุมชน
คำถามคือ ที่บอกว่าเราทำอยู่ หรือทำแล้ว ทำน้อยไปหรือไม่? แม้หน่วยงานในพื้นที่จะกระตือรือร้นแก้ปัญหามากขนาดไหนแต่ก็มีอำนาจจำกัด เรื่องนี้อาจจะ "ใหญ่ไป" สำหรับหน่วยงานท้องถิ่นหรือเปล่า?
นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน ประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ นำคณะลงพื้นที่เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา เผยว่า ปัญหานี้มาจากการทำเหมืองทองที่เกิดขึ้นในฝั่งประเทศเมียนมา ระหว่างเมืองยอนกับเมืองสาด ที่ตั้งอยู่รัฐฉาน และอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของว้า โดย สส.รังสิมันต์ อ้างว่ามีข้อมูลบางส่วนว่าอาจเป็นเหมืองที่ทำอย่างผิดกฎหมายมากกว่า 30 กว่าแห่ง หากยิ่งนิ่งเฉยกับปัญหา จะลุกลามไม่ใช่แค่ลุ่มน้ำกก แต่จะลามไปถึงแม่น้ำโขงด้วย
ขณะที่นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เสนอแผนแก้ปัญหานี้ว่า การที่ปลาได้รับสารปนเปื้อนเป็นเรื่องใหญ่ของคนในลุ่มน้ำ และการแก้ไขปัญหาหลักคือการแก้ไขปัญหาผลกระทบการทำเหมืองในเขตรัฐฉาน ซึ่งมันเกินกำลัง "รัฐท้องถิ่นหรือหน่วยงานท้องถิ่น" เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องเจรจา 4 ฝ่าย คือ ไทย เมียนมา กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ว้า และจีน เพื่อหามาตรการควบคุมมลพิษ หากทำไม่ได้ก็ต้องยุติการทำเหมือง
และแม้ว่ายังไม่มีประชาชนติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากการรับประทานสัตว์น้ำในแม่น้ำกกในวันนี้ แต่อันตรายจากสารหนู อันเป็นสารตั้งต้นของ "มะเร็ง" ก็เหมือนระเบิดเวลาในร่างกาย ยังไม่ส่งผลวันนี้แต่หากสะสมในร่างกายมากเข้า ย่อมอันตรายถึงชีวิตแน่นอน
.
อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนกรุงฯ จะเป็นเรื่องใหญ่กว่านี้หรือไม่
หรือรัฐบาลไทยทำได้เพียงเท่านี้ หรือเราต้องรอเวลาไปถึงเมื่อไร
อย่าลืมว่าทุกเวลาที่เสียไป คือโอกาสที่ประชาชนจะได้รับอันตรายจากสารพิษมากขึ้นเท่านั้นด้วย