แม้หลายประเทศจะยังคงพยายามอย่างหนักเพื่อลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก แต่มันอาจไม่ทันที่จะฟื้นฟูการละลายของน้ำแข็งซึ่งส่งผลให้ชายฝั่งทั่วโลกเสี่ยงจมทะเล
นักวิทยาศาสตร์ต่างออกมาเตือนว่า โลกอาจต้องเตรียมเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นหลายเมตรหรือมากกว่านั้นในอนาคต ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมหาศาล แม้ว่าจะบรรลุเป้าหมายในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสก็ตาม
โดยอุณหภูมิของโลกในปัจจุบัน มีแน้วโน้มจะร้อนขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ เทียบกับช่วงปลายศตวรรษที่ 1800 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมากจนทำให้โลกร้อนขึ้น ขณะที่นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันกำลังมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและกิจกรรมที่ก่อมลพิษอื่นๆ
แต่แม้จะรักษาระดับอุณหภูมิไว้ได้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ก็ยังส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งทั้งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกายังคงละลายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอาจต้องใช้เวลานานนับศตวรรษจึงจะส่งผลกระทบอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูมวลน้ำแข็งขนาดใหญ่เหล่านี้
หนึ่งในนักวิจัยหลักอย่าง ศาสตราจารย์คริส สโตกส์ นักธารน้ำแข็งวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม กล่าวว่า สารสำคัญในคำเตือนของพวกเขาคือ ทั่วโลกต้องเร่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ และควรเป็นเป้าหมายของเราอย่างแท้จริง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลไม่สูงขึ้นหรือหยุดการละลายของแผ่นน้ำแข็งได้แต่อย่างใด
ขณะที่การสังเกตการณ์ปัจจุบันแสดงให้เห็นอัตราการละลายที่เพิ่มขึ้นทั้งในทวีปแอนตาร์กติกาตะวันตกและกรีนแลนด์ ทำให้เกิดกระแสความกังวลว่า สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอาจจะกำลังเกิดขึ้นตรงหน้าเราแล้ว เนื่องจากการละลายอาจเร่งตัวขึ้นต่อไปอีกจนเกิน "จุดเปลี่ยน" ของอุณหภูมิโลก