svasdssvasds

เปิดแผนลุยขยายผล “นาเปียกสลับแห้ง”ขับเคลื่อน BCG ลดการปล่อยก๊าซมีเทน!

เปิดแผนลุยขยายผล “นาเปียกสลับแห้ง”ขับเคลื่อน BCG ลดการปล่อยก๊าซมีเทน!

รัฐเปิดแผนเดินหน้าขยายผล “นาเปียกสลับแห้ง”ขับเคลื่อน BCG ลดการปล่อยก๊าซมีเทน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ชี้เป็นวิธีที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศผันผวน

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัญหาที่ไทยเร่งรับมือ เพราะแนวโน้มมีโอกาสทวีความรุนแรง ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ เปิดแผนเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้กรมชลประทาน รับลูกศึกษาการให้น้ำนาข้าวแบบประหยัด ผลพบว่าช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าน้ำ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ชี้เป็นวิธีที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศผันผวน เตรียมขยายผลหวังช่วยเสริมความมั่นคงให้อาชีพชาวนา

โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(BCG)  ทั้ง 3 ด้าน  ได้แก่  เศรษฐ กิจชีวภาพ (Bio Economy) คือ ใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนวียน (Circular  Economy) ซึ่งจะคำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน

โดยให้หน่วยราชการในสังกัดศึกษาวิจัยสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับ BCG โดยในส่วนของกรมชลประทานได้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯในขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG  โดยทำการศึกษาและวิจัยเปรียบเทียบการให้น้ำแบบประหยัดสำหรับนาข้าว เป้าหมายเพื่อขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกร หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ เฉพาะอย่างยิ่งการหาแนวทางประหยัดน้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในสภาวะอากาศที่ผันผวนสูงเช่นปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกันต้องไม่กระทบผลผลิต และเป็นวิธีที่นำไปปฏิบัติได้จริง โดยในการศึกษาฯ ได้คำนึงถึงการประเมินประสิทธิภาพด้านการใช้น้ำในนาข้าวเป็นสำคัญ ร่วมด้วยปัจจัยในการเพาะปลูก เช่น ดิน เมล็ดพันธุ์ ฯ การดูแลนาข้าว ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพการปลูกจริงของเกษตรกร ซึ่งทางคณะผู้วิจัยจึงเลือกวิธีการทำนาแบบนาเปียกสลับแห้ง และทำการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ได้แก่ กข.85 และออกแบบการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดร่วมกับเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ IOT เข้ามาเฝ้าติดตามสมดุลน้ำในพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน สำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา

เปิดแผนเดินหน้าขยายผล “นาเปียกสลับแห้ง”ขับเคลื่อน BCG ลดการปล่อยก๊าซมีเทน!

 ด้านนายวิทยา แก้วมี  รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานได้ทำต้นแบบและคู่มือการบริหารจัดการการทำนาที่มีประสิทธิภาพใช้น้ำน้อย หรือทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ที่ช่วยประหยัดน้ำกว่าการปลูกแบบเดิมถึงร้อยละ 30-50  หรือประหยัดจากเดิมที่ใช้น้ำไร่ละ 1,200 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เหลือประมาณไม่เกิน 860 ลบ.ม. และยังช่วยจัดการการให้ปุ๋ยแก่ต้นข้าวในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยได้ร้อยละ 30-4ต่อไร่ และเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่เพาะปลูกได้ร้อยละ 20-30 ต่อไร่

นอกจากนี้จากผลงานวิจัยยัง พบว่า พันธุ์ข้าว ชนิดดิน วิธีปลูก วิธีการจัดการน้ำ ชนิดกับอัตราการใช้ปุ๋ย และปริมาณสารอินทรีย์ในนาข้าว มีอิทธิพลต่อการสร้างและปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งการจัดสรรน้ำในแปลงนา การใส่ปุ๋ย และการไถพรวนแบบนาแบบเปียกสลับแห้งสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทน และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปรากฎการณ์เรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 75 ช่วยสนับสนุนเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ( Net Zero ) ภายในปี 2065 ด้วย

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า  ต้นแบบแนวทางดังกล่าว นอกจากจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการทำนา อาทิ ค่าปุ๋ย สารเคมีสำหรับควบคุมกำจัดศัตรูพืช ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสูบน้ำเข้าแปลงนา อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงในอาชีพ และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนรัฐบาลขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG ในการส่งเสริมให้เกิดการขยายผลการทำนาแบบใช้น้ำน้อยไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ-สังคมทั้งระยะสั้นและระยะยาวตามความเป็นไปได้ต่อไป

“กรมชลประทานจะทำการขยายผลการศึกษาเปรียบเทียบการให้น้ำแบบประหยัดสำหรับนาข้าวและสร้างแนวทางลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงใน จ.นครราชสีมา รวมถึงการเผยแพร่ผลการวิจัยในเวทีวิชาการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานด้วยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดภายใต้สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกับลดการทำลายรสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ด้วย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related