svasdssvasds

คาดแรงงานไทยตกงานปีหน้าพุ่งถึงห้าแสนคน

คาดแรงงานไทยตกงานปีหน้าพุ่งถึงห้าแสนคน

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

รองประธานและกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ดร.ธนิต โสรัตน์ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเริ่มมีสัญญาณการจ้างงานลดลงจัดเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะนักศึกษาที่จบใหม่อีกประมาณ 524,000 คน อาจต้องประสบปัญหาภาวะว่างงานสูงขึ้น สำหรับการว่างงานของไทยอยู่เป็นอันดับ 7 จาก 181 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นอัตราว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 1.1-1.2 และยังบอกถึง 4 ปัจจัยหลักที่จะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย นั่นคือ

การเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้มีการนำเทคโนโลยีก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI หุ่นยนต์อัจฉริยะ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่ดิจิทัลลีนออโตเมชั่น ซึ่งจะทำให้การจ้างงานลดลงในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านคอมพิวเตอร์ อย่าง แผงวงจร ฮาร์ดไดร์ฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หลายโรงงานมีโครงการเกษียณก่อนเวลาตลอดจนการลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งไม่ได้มีแค่ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นยังมีในสถาบันการเงิน ภาคการค้าและภาคบริการเช่นกัน

ไทยเปลี่ยนประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาร้อยละ 60 ลงทุนในพื้นที่อีอีซีในอุตสาหกรรมที่เป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เงื่อนไขการลงทุนของไทยไม่ได้ผูกติดกับการจ้างงานดังเช่นในอดีต อีกทั้งการลงทุนใหม่เน้นเทคโนโลยีชั้นสูงทำให้แนวโน้มการจ้างงานลดน้อยลง

เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 โดยการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น อยู่ในช่วงชะลอตัว แม้แต่ประเทศจีน การขยายตัวอยู่ในช่วงต่ำสุดในรอบ 20 ปี อีกทั้งสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ขณะเดียวกัน ประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงทำให้การส่งออกเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมติดลบร้อยละ 2.0

สถานการณ์ว่างงานของไทยยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ จัดเป็นอันดับ 7 จาก 181 ประเทศทั่วโลก เป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากด้านการว่างงานน้อยที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีปัจจัยด้านการเข้ามาของเทคโนโลยีก้าวหน้าหรือผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ตลาดแรงงานของไทยรับมือได้ดีกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่การว่างงานอยู่ในระดับเฉลี่ย 3-4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไทยอัตราการว่างงานไตรมาส 2 อยู่ที่1.1 เปอร์เซ็นต์

คาดการณ์ว่า แรงงานจบใหม่ในปีหน้า โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2563 ที่เป็นช่วงจบการศึกษาของเหล่าบัณฑิตใหม่ จะมีตัวเลขคนว่างงานใหม่สูงถึง 520,000 คน สูงที่สุดมากกว่าปี 2562 ในเดือนกรกฎาคมที่มีตัวเลขบัณฑิตใหม่ว่างงานอยู่ที่ 436,000 คน และย้อนหลังกลับในในช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ตัวเลขว่างงานของแรงงานใหม่อยู่ที่ 382,000 คน

นายชาลี ลอยสูง  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่ายิ่งเศรษฐกิจโลกซบเซายิ่งมองเห็นภาพชัดเจนว่าหลายบริษัทออกมาลดต้นทุน และที่ง่ายที่สุดคือการลดต้นทุนด้านแรงงานปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซรามิก สิ่งพิมพ์และธนาคาร ที่งานหน้าเคาน์เตอร์จะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานน้อยลง ภาครัฐต้องวางแผนการรับมือรวมถึงวางแผนป้องกันช่วยตลาดแรงงานในอีก 3-5 ปีด้วย