svasdssvasds

โรคเก็บสะสมของ อาการทางจิต เมื่อทิ้งไม่ได้ เสียดายของ สะสมจนกระทบต่อสุขภาพ

โรคเก็บสะสมของ อาการทางจิต เมื่อทิ้งไม่ได้ เสียดายของ สะสมจนกระทบต่อสุขภาพ

เช็กสัญญาณ โรคเก็บสะสมของ หรือ Hoarding Disorder อาการป่วยทางจิตที่เมื่อสะสมเรื้อรังอาจร้ายแรง กระทบทั้งสุขภาพกายและจิต ทางออกที่ต้องพึ่งแพทย์ด้วยพฤติกรรมบำบัด

จากคลิปไวรัลใน TikTok โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มยอดนิยม โดยบัญชีผู้ใช้งานที่ชื่อ butterfly_tong ที่พาไปส่องห้องเพื่อนสาวในคอนโดแห่งนึง ทำเอาหลายๆ คนตกใจกับสภาพห้องที่เต็มไปด้วยกองเสื้อผ้า เศษอาหาร และขยะจำนวนมาก กระจัดกระจาย ลามไปถึงเตียงนอน จนมองไม่เห็นพื้นห้อง รู้มั้ยว่า นี่อาจเป็นอาการของ โรคเก็บสะสมของ หรือ Hoarding Disorder

 ภาพจากคลิปของบัญชีผู้ใช้งาน TikTok @butterfly_tong

 ภาพจากคลิปของบัญชีผู้ใช้งาน TikTok @butterfly_tong
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำให้เกิดคำถามในใจว่า ทำไมถึงปล่อยให้ห้องเต็มไปด้วยข้าวของได้มากมายเช่นนั้น จนน่าเป็นห่วงถึงสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัย ทางจิตวิทยามีคำอธิบายเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน ดังนี้  

ชวนทำความรู้จัก โรคเก็บสะสมของ 
Hoarding Disorder หรือที่เรียกกันในภาษาไทยคือ โรคเก็บสะสมของ, โรคชอบสะสมสิ่งของ เป็นภาวะเจ็บป่วยทางจิตเช่นหนึ่ง มีพฤติกรรมสะสมขยะ เสียดายของไม่กล้าทิ้ง เพราะคิดว่าทุกชิ้นเป็นของสำคัญจนเข้าขั้นอันตราย ไม่ใส่ใจด้านสุขภาพ ความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเข้าข่ายที่ควรพูดคุยกับแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุหรือกระทบกับสุขภาพร่างกายและอาการร่วมทางจิตใจ ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น 

5 สัญญาณบ่งบอกเข้าข่าย โรคเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder)

  1. เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นเอามาไว้ในบ้าน และยังเอามาเพิ่มเรื่อยๆทั้งที่ไม่มีที่เก็บ
  2. ไม่สามารถตัดสินใจที่จะทิ้งของได้ หรือรู้สึกลำบากใจที่จะทิ้ง แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่จำเป็นและไม่มีค่าก็ตาม
  3. รู้สึกหงุดหงิดใจ ไม่สบายใจเมื่อต้องทำการทิ้งของ มีความคิดและการกระทำที่หมกมุ่น เช่น กลัวว่าถ้าทิ้งสิ่งใดไปแล้ว ในอนาคตจะไม่มีใช้ เมื่อเผลอทิ้งสิ่งใดไปก็จะรีบไปเช็กดูที่ถังขยะแล้วเอากลับคืนมาทันที
  4. ไม่ไว้ใจ หวาดระแวงคนอื่นจะมายุ่งกับสมบัติของตน
  5. ไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้ เช่น แยกตัวออกจากสังคม, มีปัญหากับคนภายในครอบครัว เรื่องการจัดเก็บสิ่งของ

โรคเก็บสะสมของในผู้สูงวัยเท่านั้นรึเปล่า
จากข้อมูลของ ผศ. พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า อาการนี้จะเริ่มมีตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น และจะเห็นกองข้าวของสะสมจนรกเต็มห้องอย่างชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป

โดยมี 2 แนวทางรักษาที่ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย นิยมใช้กันอยู่ประกอบด้วย 

  1. การใช้ยาต้านเศร้า (antidepressant) เพื่อลดความเครียดและความหมกมุ่นในการสะสมของ ช่วยปรับสารเคมีเกี่ยวกับวิธีคิด แต่เป็นวิธีที่ได้ผลลัพท์เพียงเล็กน้อย
  2. พฤติกรรมบำบัด เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากกว่าการใช้ยา เพราะเป็นการเยียวยาที่เน้นฝึกทักษะการตัดสินใจ การจัดการเลือกเก็บหรือทิ้ง ได้อย่างมีเหตุมีผลยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โรคเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder) ที่สะสมเรื้อรังถือเป็นอาการที่สามารถรักษาให้ดีขึ้น แต่อาจไม่ทำให้หายขาดได้

ในต่างประเทศ กูรูการจัดระเบียบข้าวของชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก มีชื่อว่า "คอนโดะ มาริเอะ" จนมีธุรกิจสอนการจัดบ้านในชื่อบริษัท KonMari Media และรายการโด่งดังที่ฉายทาง Netflix ที่ชื่อ Tidying Up with Marie Kondo


โดยนิตยสาร Times ยกย่องให้เป็นหนึ่งในร้อยผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกปี 2014 ซึ่งเธอใช้แนวคิดที่ว่าเมื่อมองเห็นของชิ้นนี้ในบ้านแล้วยังรู้สึก “Spark Joy” อยู่รึเปล่าการจัดระเบียบตาม คอนโดะ แบ่งออกเป็น 6 หมวด ดังนี้

  1. ประเภทเสื้อผ้า ให้แยกเป็นสามกอง สำหรับใช้, บริจาค และผ้าที่จะทิ้ง โดยพับเป็นสามทบ เพื่อประหยัดพื้นที่และแยกสัดส่วนให้ใช้งานง่าย
  2. ประเภทของใช้ในครัว แยกหมวดหมู่ตามการใช้งาน แบ่งใส่เป็นกล่องใสติดป้ายที่มองเห็นชัดเจน
  3. ประเภทเอกสาร แบ่งเป็นกล่องรอดำเนินการ, สำคัญ และจิปาถะ
  4. ประเภทหนังสือ คัดเลือกเล่มที่ยังทำให้รู้สึกจุดประกายความสุข สำหรับเล่มที่คัดทิ้งให้ขอบคุณและส่งต่อ
  5. ประเภทของจิปาถะ แบ่งตามการใช้งาน โดยเก็บใส่กล่องใสเพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็น
  6. ประเภทของที่มีคุณค่าทางจิตใจ เป็นหมวดที่เก็บไว้คัดแยกกองสุดท้าย เนื่องจากเป็นสิ่งของที่เจ้าของมีความทรงจำเบื้องหลัง จึงต้องใช้เวลาเลือกเก็บและทิ้งมากกว่าหมวดอื่นๆ

สำหรับในไทยเองก็มี นักจัดระเบียบบ้าน ที่ชื่อ อิมยาดา เรือนภู่ ที่สร้างรายได้ต่อเดือนไม่น้อยหน้าเช่นกัน

"คอนโดะ มาริเอะ" เป็นกูรูระดับโลกเรื่องการจัดระเบียบข้าวของชีวิต

ที่มา

ศูนย์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี

ชอบเก็บสะสมสิ่งของ ถือเป็นโรคทางจิตที่ควรรักษา

จัดบ้านแบบนี้ไม่มีทางรก ! ย่อยข้อมูล การจัดบ้านสร้างความสุข (ฉบับคุณมาริเอะ คนโด ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านชาวญี่ปุ่น)

Hoarding Disorder เก็บจนเกรอะ ภาวะป่วยทางจิตที่ควรไปพบแพทย์

related