svasdssvasds

กรมสุขภาพจิต ดึงสติสังคม เร่งเยียวยา วอนสื่อเลี่ยงชื่อคนร้าย กันเลียนแบบ

กรมสุขภาพจิต ดึงสติสังคม เร่งเยียวยา วอนสื่อเลี่ยงชื่อคนร้าย กันเลียนแบบ

อธิบดี กรมสุขภาพจิต เผยต้องเยียวยารวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สื่อไม่ขุดคุ้ยผู้ประสบเหตุ เผยภาพ เสียง คลิป ลดสร้างบาดแผลให้ทั้งสังคมในระยะยาว

วันนี้ (6 ต.ค.65) จากกรณี กราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู ที่ตำบล อุทัยสวรรค์ อำเภอ นากลาง จังหวัด หนองบัวลำภู จนเป็นเหตุทำให้มีเด็กและผู้เสียชีวิตอย่างน้อง 36 ราย และอยู่ระหว่างการรักษาตัว อีกเป็นจำนวนมากโดยคนร้ายที่ก่อเหตุเป็นอดีต ตร.นอกราชการ ที่เคยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถูกจับกุมตัวพร้อมของกลางยาบ้า และ สภ.จ.หนองบัวลำภู ได้มีคำสั่งให้ออกจากราชการแล้ว โดยล่าสุด พบว่าสังหารคนในครอบครัวและยิงตัวเองเสียชีวิต

ทีมข่าว Spring News ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ซี่งกำลังลงไปในพื้นที่ ถึงกรณีเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู สำหรับมุมมอง ผลกระทบในด้านจิตวิทยา และการเยียวยาผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ไว้ดังนี้ 

 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบในทันทีและต่อเนื่อง หลักการในการในการช่วยเหลือที่สำคัญ คือ ความรวดเร็วและประสิทธิภาพ หลังจากได้รับนโยบายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการได้เต็มที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รถยนต์ที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ

ขณะนี้ได้มีการส่งทีมงานสุขภาพจิตในพื้นที่ลงไปในจุดเกิดเหตุแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดูแลคือ

กลุ่มขั้นต้น คือการดูแลสภาพจิตใจของเด็กและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ที่กำลังอยู่ในสภาพของความหวาดกลัว ตระหนก ซึ่งต้องได้รับความดูแลอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยหลักการ คือการทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกปลอดภัย รู้สึกอยู่ในสถานที่ที่รอดพ้นจากอันตรายแล้ว 

โดยเฉพาะเด็กๆ ต้องการคนที่คุ้นเคย เพื่อทำให้รู้สีกได้รับการปกป้องทางร่างกายและความรู้สึกได้ ต้องให้ความรู้แก่กลุ่มที่จะดูแลเด็กที่ประสบเหตุการณ์นี้ ซึ่งทำได้ด้วยการรับฟัง และเข้าใจการแสดงออก ท่าทางของเด็กๆ 

สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งคือการซักไซ้ ขุดคุ้ย ให้เล่าถึงเหตุการณ์ จากผู้ที่สนใจหรือรวมถึงสื่อมวลชน ที่เข้าไปรุมล้อมเด็กๆ หรือ ผู้อยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้เพื่อให้ตอบคำถามถึงเหตุการณ์นี้ซ้ำๆ จะเป็นการดึงให้เด็กต้องกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำอีกครั้ง ทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจที่ลึกและเรื้อรังยากต่อการเยียวยา ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องรับมือในการลงพื้นที่ในครั้งนี้

กลุ่มขั้นที่สอง คือ กลุ่มญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละคนอาจมีสภาพทางอารมณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งเสียใจ ความทุกข์ และความรู้สึกผิด ต้องเร่งเข้าไปเยียวยาผลกระทบทันที บาดแผลทางจิตใจยิ่งดูแลเร็วยิ่งคลี่คลายได้ง่าย ซึ่งถ้าไม่เข้าไปจัดการให้ทันเวลาจะยิ่งสร้างปัญหาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระยะยาวได้

การทำงานของสื่อมวลชน ในครั้งนี้มีการช่วยกันกระจายความรู้เรื่องการส่งต่อ เผยแพร่ ภาพและเสียง ในเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุในทางจิตใจอย่างมาก ซึ่งการส่งต่อภาพความรุนแรงเหล่านี้ไม่เพียงสร้างบาดแผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่จะยิ่งเป็นการทำร้ายคนทั้งหมดในสังคม 

จึงต้องช่วยกันระมัดระวังการแชร์ภาพ เสียง หรือคลิป ทั้งนี้การบอกเล่าเนื้อหาโดยสรุป เพื่อให้เกิดการป้องกันเป็นเรื่องดี แต่การขุดคุ้ย บรรยากาศที่เหตุการณ์ซ้ำๆ จะกลายเป็นปัญหา เพราะจะทำให้คนชาชินกับความรุนแรง ในคนที่เกรี้ยวกราดโกรธเคืองง่ายอยู่แล้ว อาจทำให้หันไปเลือกใช้ความรุนแรงอันเนื่องมาจากความชาชินจากภาพข่าวเหล่านี้ 

พญ.อัมพร ได้กล่าวทิ้งท้าย ไว้ว่า อ้างอิงข้อมูลจากทางวิชาการสะท้อนว่า การระบุชื่อ หรือ ประกาศชื่อผู้ก่อเหตุ ผ่านสื่อ อาจทำให้เกิดการเลียนแบบได้ง่ายขึ้น เพราะอาจมีคนที่ต้องการให้ชื่อของตัวเองถูกจดจำแล้วก่อเหตุตาม คุณหมอแนะนำให้สื่อมวลชนหลีกเลี่ยงการระบุชื่อของผู้ก่อเหตุ จะเป็นผลดีกับสังคมโดยรวมมากกว่า

related