svasdssvasds

Censorship ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์คนทำงาน ขยายพื้นที่ปลอดภัย ยิ่งเล่าปัง

Censorship ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์คนทำงาน ขยายพื้นที่ปลอดภัย ยิ่งเล่าปัง

Censorship และ Soft Power ขั้วตรงข้าม ที่ฉุดรั้งคอนเทนต์ไทย ไปได้ไม่ไกลเท่าชาติทรงพลังอื่น เช่น อเมริกาหรือเกาหลีใต้ ชวนผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ซีรีส์ดัง ปิง – เกรียงไกร วชิรธรรมพร เปิดประเด็นและตั้งคำถาม ที่เหมือนมีบทสรุปแต่ยังแก้ไม่ได้

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้คนไทยที่รับข่าวสารเป็นประจำ คงคุ้นหูกับคำว่า Soft Power กันทุกคน เพราะมองไปทางไหนก็ดูจะเรียกว่าเป็น Soft Power ได้เสียหมด โดยเฉพาะในปี 2022 นี้เองก็ดูจะยิ่งตอกย้ำผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น มิลลิ กินข้าวเหนียวมะม่วง บนเวทีทำให้ขายดีชั่วข้ามคืน แต่เท่านั้นเพียงพอจะเป็น  Soft Power ที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงมั้ยลองมาทำความเข้าใจนิยามคำนี้กันสักหน่อย 

Soft Power ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในปลายทศวรรษ 1980 โดย Joseph S. Nye เป็นการขยายอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมหรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) โดยผ่านปัจจัยสำคัญ 3 ข้อคือ 

  1. วัฒนธรรม
  2. ค่านิยมทางการเมือง
  3. นโยบายต่างประเทศ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โดย 3 ประเทศที่มี Soft Power ทรงพลังที่สุดในโลก ปี 2022 ที่จัดอันดับโดย Brand Finance บริษัทจัดการกลยุทธ์เกี่ยวกับ Brand Positioning ประกอบด้วย

  1. สหรัฐอเมริกา
  2. สหราชอาณาจักร
  3. เยอรมนี
  4. จีน
  5. ญี่ปุ่น

ส่วนไทยร่วงจากอันดับที่ 31 ในปี 2021 มาอยู่ในอันดับ 35 ในปีปัจจุบัน 

ปิง – เกรียงไกร วชิรธรรมพร

จากงานสัมมนา หัวข้อ "Soft Power ละมุนยังไงให้สุดปัง" ชวนคุณปิง – เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซัน 2 – 3 และโปรดิวเซอร์ซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ มาคุยสั้นๆ แต่ในประเด็นร้อนๆ ที่ตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ ว่าทำไมผู้มีอำนาจถึงอยากให้เราพูดได้แค่บางเรื่อง และ ทำไมถึงมีบางเรื่องที่พูดถึงไม่ได้ทั้งที่เรารับรู้ว่ามีอยู่จริง เช่น พัทยาไม่มีการค้าประเวณี หรือ กทม.ไม่มีบ่อน แต่มีข่าวการยิงกันในบ่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์ นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่าง จากอีกหลายประเด็นที่ถูกปิดกั้นจนทำให้เป็นอุปสรรคกับคนทำงานสร้างสรรค์ กรอบยิ่งแคบ ประเด็นยิ่งน้อย ความปังก็ดูจะยิ่งมีจำกัดและมาเป็นช่วงๆ 

Censorship เป็นอุปสรรคต่อการทำงานสร้างสรรค์มั้ย 

Censorship เป็นปัญหาต้นๆ สำหรับการทำคอนเทนต์ เพราะว่า ในการทำงานสร้างสรรค์จำเป็นที่ต้องการอิสระที่จะเล่าเรื่องอะไรก็ได้ จึงทำให้เห็นความแตกต่างของประเทศที่มี Freedom of Speech กับ คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมเมื่อมาเทียบกันจะเห็นชัดมาก เพราะเปิดกว้างให้พูดเรื่องอะไรก็ได้ แม้แต่คอนเทนต์ที่มีความอ่อนไหว ถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกาเห็นได้ว่าสามารถทำคอนเทนต์ที่มีเนื้อหา วิพากษ์ วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ พาดพิงไปถึงบุคคลระดับสูง นักการเมืองคนสำคัญ ก็สามารถพูดถึงได้ 

ทำให้คนทำงานสร้างสรรค์เลือกหยิบประเด็นที่ตัวเองสนใจขึ้นมาเขียนหรือขยายต่อในมุมมองที่ตัวเองเชื่อ โดยคนดูจะเป็นคนใช้วิจารณญาณในการตัดสิน 

คือวิธีการคิดมีความแตกต่างจากในประเทศเรา ซึ่งมีประเด็นที่ไม่สามารถพูดถึงได้หลายหัวข้อ 

จึงทำให้ลดความหลากหลายของแนวหนังลง เช่น ที่ต่างประเทศมี อย่าง Political Thriller ภาพยนตร์การเมืองดีๆ เข้มข้น ซึ่งถ้าคนทำงานบันเทิงในประเทศเราอยยากเล่าเรื่องนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ลึกเท่า เพราะมีหลายอย่างที่เราต้องระวังถ้าจะพูดถึง หรือ ภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ตาม 

ทำให้สุดท้ายแล้วพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสร้างสรรค์งานเหลือเพียงกรอบสี่เหลี่ยม เช่น ภาพยนตร์รัก โรแมนติก ตลก เท่านั้น ซึ่งนั่นก็เพราะการโดนจำกัดขอบเขตของการเล่าเรื่องซึ่งจริงๆ มันคือวัฒนธรรมและตัวตนของเราเอง ที่มีอยู่ในสังคม แต่บางอย่างมันไม่สามารถเล่าออกมาได้ 

แล้วสื่อควรพูดได้แค่ไหน และควรพูดเรื่องอะไร
ส่วนตัวคิดมองแบบสุดโต่งเลย คือ ทุกเรื่องสามารถพูดได้หมด แต่ด้วยจรรยาบรรณสื่อ ก็ควรต้องให้ยึดให้มั่นไว้ด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็เข้าใจคนที่มีความกังวลและต่อต้านไม่อยากให้พูดบางเรื่อง (จากกรณี Sex Workers ในประเทศ) ก็เพราะอาจมาจากความเป็นห่วงเป็นใย กลัวว่าผู้รับสารจะมองในมุมที่ถูกต้องได้รึเปล่า แต่ในความห่วงจนต้องควบคุมนั้นเองก็เป็นการปิดกั้น

ซึ่งในฐานะคนทำสื่อควรที่จะมีความรับผิดชอบที่เป็นมาตราฐานการทำงานเพื่อเผยแพร่สารออกไป ด้วยการ 

  • ศึกษาประเด็นที่อยากเล่าให้มีความลึกซึ้ง 
  • ตอบคำถามให้ได้ว่าเล่าเรื่องนี้เพื่ออะไร
  • ถ้าทุกขั้นตอนเกิดมาจากเจตนาที่ดี เพื่อเปิดเผยสิ่งที่มีอยู่ในสังคม ให้คนรับรู้ ก็เป็นเรื่องที่สามารถเล่าออกมาได้ 

ซึ่งปัจจุบันยังมีหน้ากากทางศีลธรรม ทำให้ปิดตามองไม่เห็น บ่ายเบี่ยง ไม่ยอมรับ ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย 

รวมถึงเรื่องกัญชาเสรีเองก็ตาม ถ้าการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยมีมาตราฐานเสมอหน้ากัน แต่เหมือนว่าประเทศไทยจะยังไม่โปร่งใสเหมือนเช่นใน เนเธอแลนด์ ที่มีโซนสำหรับ sex workers และการใช้กัญชาที่เปิดใช้มายาวนานแล้วก็ตาม ซึ่งในตัวประเด็นเหล่านี้เองไม่ได้ผิด แต่อยู่ที่การกำกับดูแลให้ตรวจสอบได้และเหมาะสม  

การปูพื้นฐานวิจารณาณผ่านการศึกษาสำคัญเพียงใด
วิชา Media Literacy ในประเทศเรายังไม่มีการให้ความรู้ ความเข้าใจกันอย่างจริงจัง หรือ จริงๆ แล้วผู้มีอำนาจเองก็ไม่ได้ให้คนฉลาดเท่าทัน เพื่อให้ควบคุมได้ง่าย เพราะการมีวิจารณาณจะทำให้ผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าจะรับคอนเทนต์อะไรเข้ามา ด้วยการฟังจากความคิดเห็นและทัศนคติของสื่อแต่ละช่องแล้วนำมาตัดสินใจด้วยตัวเอง 

ซึ่งก็ดูจะเป็นภาคเอกชนที่ต้องเร่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการรับมือกับสื่อในยุคปัจจุบันกันเอง ซึ่งถ้าด้วยเจตนาที่ผู้มีอำนาจตั้งใจไม่อยากให้ประชาชนรู้เท่าทันก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวว่าเรากำลังถูกพาไปในทิศทางไหน

ทั้งนี้จากการพูดคุยในงานสัมนาและนโยบายในภาพรวมเอง ดูเหมือนว่า การที่รัฐพยายามชูจุดขายเรื่อง Soft Power แต่จำกัดให้นำเสนอได้มีอาหาร สถานที่สวยงาม ความหลากหลายของเนื้อหาลดลง ก็อาจทำให้การยืนระยะของการสร้างพลังละมุนเพื่อให้ส่งผลทางธุรกิจในระดับเศรษฐกิจก็ดูจะเป็นเพียงกระแสที่พัดมาแล้วพัดไป การจัดตั้งองค์กรทางวัฒนธรรมที่ดูแลและสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เอกชนสามารถพัฒนาคุณภาพคอนเทนต์ได้อย่างเต็มที่โดยมีภาครัฐผลักดันผ่านนโยบายและหาช่องทางเผยแพร่ที่มีคุณภาพไปได้ไกลและต่อเนื่องผ่านงบประมาณ

related