svasdssvasds

ทำไมบางคนเห็นผีบ่อย แต่บางคนทั้งชีวิต แม้แต่เงาผีสักตัวยังไม่เคยเห็น?

ทำไมบางคนเห็นผีบ่อย แต่บางคนทั้งชีวิต แม้แต่เงาผีสักตัวยังไม่เคยเห็น?

หลักวิทยาศาสตร์ช่วยหาคำตอบ ว่าทำไม บางคนเห็นผีง่ายมาก แต่บางคนอยู่มาเกือบทั้งชีวิตแล้ว เงาผีสักยังไม่เคยเห็น

SHORT CUT

  • สิ่งแรกที่จะทำให้คุณสามารถเห็นผีในบ้านได้นั้น คือ “ต้องเชื่อว่ามีผีอยู่ในบ้าน” เสียก่อน 
  • คนที่เชื่อเรื่องผีและสิ่งเหนือธรรมชาติอื่นๆ อยู่แล้ว มัก คิดว่า เสียงเอี๊ยดอ๊าดในบ้านนั้น มาจาก สิ่งลึกลับ
  • ผู้ที่ใช้การรับรู้เชิงวิเคราะห์ พวกเขาจะพึ่งพาข้อมูลที่เชื่อถือได้ และจะไม่ถูกสัญชาตญาณครอบนำ พวกเขาจึงไม่เห็นผี 

หลักวิทยาศาสตร์ช่วยหาคำตอบ ว่าทำไม บางคนเห็นผีง่ายมาก แต่บางคนอยู่มาเกือบทั้งชีวิตแล้ว เงาผีสักยังไม่เคยเห็น

“ผี (GHOST)” หรือ “วิญญาณ Soul” หมายถึง สิ่งลึกลับที่มนุษย์ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ในบางเวลา ซึ่งผีมีทั้งดีและร้ายโดยผีดีมักเชื่อกันว่ามาให้ความคุ้มครอง ผีร้ายมักเป็นมักมาเพราะอาฆาตแค้น

ปัจจุบัน “ผี” ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด ว่ามีตัวตนจริงๆ หรือไม่ ซึ่งบนโลกนี้ก็มีคนที่อ้างว่าเห็นผีอยู่มากมาย ในขณะที่มีอีกมากเช่นกัน ที่ทั้งชีวิตนี้ยังไม่เคยเห็นผีแม้แต่ตัวเดียว ทำใกล้สงสัยไม่ได้ว่า ถ้าผีมีจริงอย่างที่คนเห็นผีอ้าง ทำไม พวกมันถึงไม่มาปรากฏตัวให้คนที่ไม่เชื่อเรื่องผีเห็นด้วย ทั้งๆ ที่คนไม่เชื่อหลายคนก็ต้องการเห็นผีเหมือนกันแท้ๆ

บางที คำตอบของคำถามนี้ ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยหาเหตุผล ว่าทำไม จึงไม่ใช่ทุกคนที่สามารถมองเห็นผีได้ 

ทำไมเราถึงเห็นผี

วิทยาศาสตร์อธิบายการเห็นผี

จะเห็นผีได้ ต้องเชื่อเรื่องผีก่อน

ตามคำพูดของนักสังคมวิทยา “คริสโตเฟอร์ เบเดอร์ (Christopher Bader)” สิ่งแรกที่จะทำให้คุณสามารถเห็นผีในบ้านได้นั้น คือ “ต้องเชื่อว่ามีผีอยู่ในบ้าน” โดยเขาเผยว่า การรับรู้ของเรา เกี่ยวกับสิ่งเกิดขึ้นรอบตัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม จะถูกขับเคลื่อนด้วย ความต้องการ ความคาดหวัง และความเชื่อ ซึ่งความเชื่อนี้เองจะมีพลังกับเรามากที่สุด และความเชื่อจะเด่นชัดขึ้น เมื่อประสาทสัมผัสของเราที่เกิดไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ

ทำให้หลายครั้งที่เราได้ยินเสียงแปลก ๆ ในบ้าน ความเชื่อจะผลักดันให้เรา ‘เชื่อ’ เสียงที่เกิดขึ้นนั้น ว่ามาจากสิ่งที่เรา ‘เชื่อ’ ดังนั้น คนที่เชื่อเรื่องผีและสิ่งมีเหนือธรรมชาติอื่นๆ จึงคิดว่า เสียงเอี๊ยดอ๊าดในบ้านนั้นมาจาก สิ่งลึกลับที่น่าสะพรึงกลัว ในขณะที่คนไม่เชื่อเรื่องผี จะคิดว่าเป็นเพราะความเก่าแก่ของบ้านมากกว่า ที่ทำให้เกิดเสียงแปลกๆ ขึ้น

และเพราะมีคนจำนวนมากที่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะอ้างว่าเห็นผี โดยในปี 2001 และ 2005 ‘Gallup Polls’ ของสหรัฐ เผยว่า ชาวอเมริกันมากถึง 75% มีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างน้อย 1 รูปแบบ และ 50 % จากหลุมนั้น ยอมรับว่า เป็นผู้ศรัทธาในพลังงานเหล่านั้น

ทำไมบางคนเห็นผีบ่อย แต่บางคนทั้งชีวิต แม้แต่เงาผีสักตัวยังไม่เคยเห็น?

รูปแบบการรับรู้ คือตัวแปรสำคัญ

"รูปแบบการรับรู้" ของคนคน หนึ่งสามารถทำนายความเชื่อเหนือธรรมชาติได้ นักวิจัยเผยว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด เห็นได้จาก “ผู้ที่ใช้การรับรู้ตามสัญชาตญาณ” และ “ผู้ที่ใช้การรับรู้เชิงวิเคราะห์”

โดยผู้ที่ใช้การรับรู้ตามสัญชาตญาณ จะแก้ไขหรือประมวลผลปัญหาตรงหน้าอย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นในสิ่งนั้นทันที พูดง่ายๆ คือเชื่อตามสัญชาตญาณตัวเองนั่นเอง

ในทางกลับกันผู้ที่ใช้การรับรู้เชิงวิเคราะห์ พวกเขาจะพึ่งพาข้อมูลที่เชื่อถือได้ และจะไม่ถูกอารมณ์และสัญชาตญาณครอบนำมากจนเกินไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ที่ใช้การรับรู้ตามสัญชาตญาณ จะเห็นสิ่งเหนือธรรมชาติบ่อยกว่าผู้อื่น

บุคลิกภาพส่งผลต่อความเชื่อเรื่องลี้ลับ

มีการศึกษาจำนวนมาก ที่ยืนยันว่าบุคลิกภาพ ส่งผลต่อความเชื่ออย่างมาก โดยคนที่ชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต หรือแสวงหาความรู้สึกต่างๆ จะมีแนวโน้ม เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ มากกว่าคนที่ไม่ชอบหาประสบการณ์อะไรใหม่

เพราะทุกศาสนามีเรื่องของผี

เพราะคนจำนวนมากยังนับถือศานาอยู่ และทุกศาสนาก็มีเรื่องของโลกหลังความตาย ภูตผีปีศาจ และเรื่องของปาฏิหาริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง คำสอนของแต่ละศาสนาจึงกำหนดรูปแบบของสิ่งที่เราเห็น เช่นถ้าเห็นแบบนี้คือเทวดา หรือเห็นแบบนี้คือเจ้ากรรมนายเวร จึงมีคนตีความสิ่งลึกลับที่เห็นจากความเชื่อในศาสนาของตัวเอง ซึ่งมักจบลงด้วยการเห็นผี

การเห็นผีเป็นผลจากสารเคมีในสมอง

มีรายงานว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นโรค พาร์กินเคยเห็นภาพหลอน ทั้งในรูปแบบของผี และสิ่งเหนือธรรมชาติ อื่นๆ ซึ่งนักประสาทวิทยา โอลาฟ แบลงก์ (Olaf Blanke) เผยให้เห็นว่า การหยุดชะงักของการสื่อสารระหว่างสมองส่วนหน้าและขมับของสมอง คือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนของผู้ป่วยพาร์กินสัน

จึงกล่าวได้ว่า การที่คนคนหนึ่งเจอผีนั้น อาจเป็นประสบการณ์ทางจิตวิทยา ที่มีรากฐานมาจากประสบการณ์ ความเชื่อ เหตุการณ์ทางชีววิทยา การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง หรือแม้แต่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การพบเจอสิ่งเหนือธรรมชาติของ นักปีนเขาสูง นักสำรวจขั้วโลก หรือกะลาสีเรือนั้น อาจเกิดจาก อุณหภูมิร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ระดับออกซิเจนต่ำ รวมถึงการต้องอยู่คนเดียวเป็นเวลานาน จึงมีโอกาสเห็นภาพหลอนมากกว่าคนทั่วไป

สรุปคือ คนที่เห็นผีมักจะเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยก็เปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ของมัน และหากคุณมี บุคลิกภาพ รูปแบบการรับรู้หรือความเชื่อทางศาสนาที่เอื้อต่อการเห็นผีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การไปอยู่ใน สภาพแวดล้อมที่น่าขนลุก ก็จะทำให้คุณเชื่อว่าตัวเองเห็นผีได้ไม่ยากเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related