SHORT CUT
ศิลปินสตรีทอาร์ตชาวอุบลฯ สร้างตัวการ์ตูน "จมูกแดง" จากลักษณะประจำตัวที่เล่าเรื่องวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของอีสานดั้งเดิม ให้เป็นศิลปะแนวป๊อบร่วมสมัย
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย อยากสร้างการสื่อสาร สร้างแรงจูงใจ ให้คนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานสืบทอด รากเหง้าที่หล่อหลอมชุมชน เพื่อไม่ให้สูญหายไป
นี่คือหัวใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานของ "เอ็ม" พีรพงษ์ สอนพงษ์ หรือ "REDMUUK" ศิลปินสตรีทอาร์ต ชาว จ.อุบลราชธานี ที่นำ "วัฒนธรรมอีสานดั้งเดิม" มาเล่าให้ร่วมสมัย ผ่านปากกามาร์เกอร์ พู่กัน และสีอะคริลิก
REDMUUK มาจาก RED คือ สีแดง MUKK คือ จมูก หมายถึง "จมูกสีแดง" เขาบอกเหตุผลสร้างสรรค์ศิลปะในนามนี้ เพราะตอนเด็กๆ ผอมแห้งแรงน้อย คนมองเหมือนตัวตลก จึงหยิบยกตรงนี้มาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว
"โดนบูลลี่ ตัวเล็กตัวผอม เคยขาหักไม่สามารถไปเล่นกีฬากับเพื่อนได้ เรียนวิชาการไม่เก่ง เพื่อนก็ไม่อยากให้ร่วมกลุ่ม แต่เวลาทำงานศิลปะ เขาถึงอยากชวนเข้ากลุ่ม ก็เลยจับตัวตลกตัวนี้ก็จะมีจมูกแดง มาใช้เป็นโลโก้"
เขาค้นพบตัวเอง มีใจรักศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แม้มีหลายคนทักท้วงเส้นทางสายนี้อาจะไม่โสภาสถาพร แต่ก็มุ่งมั่นพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้
"ผมรู้ตัวเองว่าชอบศิลปะ ตั้งแต่เรียนอนุบาล ตอนนั้นระบายสีได้รางวัลของโรงเรียน จากตัวแทนโรงเรียนขยับมาเป็นตัวแทนจังหวัด เป็นตัวแทนภาคอีสาน ไปแข่งโครงการศิลปะหัตถกรรม ระดับภูมิภาค"
"เราตื่นขึ้นมา ลายอยู่บนเสื้อผ้า มันก็จากศิลปะ จัดสวน หรือว่าหน้าปกหนังสือ ปกหนังสือเรียนเรามันก็จากศิลปะ ถ้าจริงตังกับมัน ทำอยู่ตลอด มันต้องไปได้วะ วันหนึ่ง มันต้องสร้างมูลค่าได้"
REDMUUK ให้นิยามผลงานของเขาว่าศิลปะร่วมสมัย "แนวป็อปร่วมสมัย"
เพื่อเป็นการสร้างตัวตนให้ชัดเจน ในฐานะที่เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี โดยกำเนิด จึงสร้างผลงานสดใหม่ ผสมผสานกับความเป็นอีสานดั้งเดิม
"ผมนำเอาวัฒนธรรมเก่าก่อน คือ งานศิลปะลายไทย มาใส่สีสันใหม่ ใส่ลวดลาย ลายเส้นใหม่ ที่มันไม่เหมือนลายไทยสมัยก่อน ใส่สีที่มันร้อนแรงจัดจ้าน ให้มันดูคัลเลอร์ฟู แรงบันดาลใจจากรอบตัว จากวัด จากวัฒนธรรมทางอีสานเลยครับ"
"ด้วยงานวัดมีสีสันต่างๆ เข้าไปในโบสถ์ พรมในโบสถ์ก็สีแดง พระประธานสีเหลือง ลายจิตรกรรมเยอะไปหมด ผู้คนอีสาน จะชอบสีที่ร้อนแรง อย่างเช่น ลายรถตุ๊กตุ๊ก ลายสามล้อ ลายอะไร จะมีสีที่แบบฉูดฉาด"
งานหนึ่งเฟรมของเขา เหมือนจิตกรรมบนผนังโบสถ์ ที่ถูกหยิบจับมาเล่าให้ร่วมสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมปัจจุบัน สร้างแรงจูงใจคนรุ่นใหม่ ให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมประจำถิ่น เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากย้อนกลับไปศึกษาผลงานรุ่นครูบาอาจารย์รังสรรค์เป็นมรดกทรงคุณค่า
"งานของผมมีลายเส้นที่แตกต่างจากวัด หยิบจับมาเล่าใหม่ ยักษ์ตัวนี้มายังไง มัจฉานุตัวนี้มายังไง ด้วยความที่อุบลฯ มีแม่น้ำมูลคั่นกลาง ริมน้ำก็มีวัด เห็นพญานาค มีต้นเทียน มีงานบุญประจำปี ลายเส้นผมจะมีความเป็นคลื่นน้ำ เคิร์ฟของคลื่นน้ำ และมีคมเขี้ยวเหมือนเขี้ยวพญานาค พญาครุฑต่างๆ"
"ค่อยๆ จับสัตว์ต่างๆ เอามาใส่ลายเส้น จับดอกไม้ในป่าหิมพานต์มาใส่ ก็มาจัดองค์ประกอบเป็นงาน ที่วัยรุ่นหยิบจับได้ อย่างเช่นบนลายเสื้อผ้า บนสินค้า ไปอยู่ในมีเดียต่างๆ บนหน้าเว็บไซด์ ไปอยู่ในแพลตฟอร์ม อย่างเช่นเขาเปิดร้านกาแฟ ร้านอาหาร เอางานอาร์ตตรงนี้ ไปอยู่บนเมนูได้"
"ผมคิดว่าถ้าเรา ไม่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา งานมันก็จะอยู่แค่ที่เดิม ในเมื่อโลกเรามันผ่านไปจนมายุค AI ยุคอะไรแล้ว ถ้าเราไม่พัฒนาตาม งานเรามันก็จะไม่ก้าวไปไหน วันรุ่นในสมัยใหม่เขาก็คงไม่เข้าใจ เราต้องทำงานให้เขาเข้าใจ ให้ดูแมส"
"เหมือนมาเห็นสีสัน ยักษ์ตัวนี้มาจากไหน มาจากเรื่อรามเกียรติ์ มาจากหิมพานต์ มาจากภูเขาไหน ของในหิมพานต์ เห็นงานตรงนี้ แล้วอยากดูลึกกว่านี้ สามารถไปศึกษา วัดนี้มีงานแบบนี้ หรือหนังสือตำราเรียน มันก็จะนำไปสู่ยุคครูบาอาจารย์ของเราได้"
จากที่เคยออกไปทำงานข้างถนน โดนเตือน โดนปรับ เพียรพยายามทำมาเรื่อยจนเป็นที่ยอมรับ ได้จัดแสดงกับอาจารย์ และศิลปินในจังหวัด ขยับไปสร้างงานในหอศิลป์ มีเจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ เจ้าของแบรนด์สุรา เบียร์คราฟ และแบรนด์สินค้าต่างๆ ติดต่อเข้ามาให้ออกแบบ
ได้โอกาสจัดแสดงเดี่ยวของตัวเอง เป็นครั้งแรก ใช้ชื่อว่า "นิทรรศการ HIMAPHAN" ในกรุงเทพฯ ที่ร้าน Saphan 55 ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2568 นำเสนอความงดงาม และความลึกลับของป่าหิมพานต์ ผ่านผลงานศิลปะ ที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิม และมุมมองร่วมสมัย สะท้อนถึงความเชื่อและคติชนของไทยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
ผลงานที่โพสต์แสดงไว้ในโลกออนไลน์ ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม ระดับประเทศ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้วงกว้างเกิดความประทับใจ และใคร่รู้ "วัฒนธรรมอีสาน" จากการหยิบเอาสิ่งที่อยู่ในชุมชน สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และถูกมองข้ามไปเมื่อวันเวลาเคลื่อนตัว มาส่งต่อผ่าน "ศิลปะสตรีทอาร์ต"
"มีคนมาให้กำลังใจในเฟซบุ๊ก มาซื้อผลงาน มาติดตาม ได้ไปดูงานเราไปทำข้างถนน ถ่ายรูปกับงานเรา แล้วก็แท็กมาหาเรา จากอุบลฯ มาจัดแสดงให้คนกรุงดู มันรู้สึกดี เหมือนเราได้เป็นตัวแทนเล่าเรื่องวิถีชีวิตของบ้านเราจริงๆ ครับ มีวัฒนธรรมต้นเทียน มีบุญบ้าน มีงานประจำปี แล้วเราได้เอางานพวกนี้มาวาดมานำเสนอ เหมือนเราเอาบ้านเรา เอาหมู่บ้านเรา ได้มาจัดแสดง ก็มีความภูมิใจตรงนั้น"
"เริ่มมีฝรั่งมาแลกเปลี่ยนความคิด ผมเขียนเรื่องราวเป็นศาสนพุทธ ฝรั่งเขาเป็นคริสต์ มีฟาโรห์ ลองเอาหิมพานต์ เอาราชสีห์ไปใส่กับสิงห์เฝ้าวิหารของเขาไหม เพราะความเชื่อเรื่องปรัมปรามาคล้ายๆ กันเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระดับประเทศเลยครับ เพราะว่าไทยเรา มีวัฒนธรรมดั้งเดิม ลายเส้นมีอัตลักษณ์ความเป็นไทย ลวดลายอ่อนช้อย ครูบาอาจารย์คิดค้น สืบทอดกันมา"
"ถึงศิลปะเราจะช้ากว่าตะวันตก แต่เรามีวัดที่สวย ตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 4 ที่ 5 มีศิลปินเขียนวัด ขรัวอินโข่ง มีนั่นมีนี่ ผมว่าฝรั่งเข้ามาดูจุดนี้ มีเรือที่อ่อนช้อยที่ต่างจากฝรั่ง สุพรรณหงส์ ที่ต่างชาติควรมาดู ควรมาศึกษาของไทย ส่วนที่เข้าใจงานผมแล้ว อยากไปเสพให้มันลึกขึ้น เราก็ต้องส่งต่อให้งานครูบาอาจารย์ที่เขาอยู่ถูกที่ถูกเวลา อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ที่เล่าชัดๆ ผมเหมือนหยิบย่อยมาอีกที จากงานบรมครูเขา เพราะว่า ครูเขาเขียนเป็นตำราเล่มหนาเลย เรื่องแต่ละเรื่อง อย่างเช่น รามเกียรติ์ รามายณะ หิมพานต์ โอ้โหเต็มตู้พระไตรปิฎกครับ เกิดมานี่ไม่รู้จะเขียนจบตอนไหน"
เขาทิ้งทาย ในนาม REDMUUK ขอเป็นเหมือนหยดน้ำน้อยๆ เล่าเรื่องผ่านศิลปะสตรีทอาร์ต เพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้เกิดความรัก หวงแหน และเห็นคุณค่า ประเพณี วิถีชีวิต สร้างสรรค์ให้เจริญงอกงาม โดยสืบทอดจากมรดกวัฒนธรรมในอดีต