SHORT CUT
เปิดใจ "ผู้ใหญ่บ้าน ฟินแลนด์" หัวหน้าวงรุ่นใหม่ หวังขยายฐานวัฒนธรรมหมอลำอีสานไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยไม่สูญเสียจิตวิญญาณ เพื่อให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปไกลกว่านี้
"ทุกอย่างต้องเดินไปตาม พ.ศ.ทุกอย่างต้องเดินไปตามเวลา และเข็มนาฬิกา นาฬิกาไม่เดินถอยหลัง"
"ไม่ได้เป็นแค่หมอลำ ไม่ได้เป็นแค่คนอีสาน แต่ว่า มันเป็นกับโลก"
"ธิติวุฒิ วารุณ" หรือ "ผู้ใหญ่บ้านฟินแลนด์" ผู้บริหาร "ค่ายเพลงโตเกียวมิวสิค" เจ้าของวง "คอนเสิร์ตโตเกียว" บอกเหตุผลทำให้เขาสร้างสรรค์โตเกียวคอนเสิร์ต ให้เป็นวงหมอลำร่วมสมัย สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นสมาชิก สืบสานความบันเทิงเชิงวัฒนธรรมประจำถิ่นอีสาน รักษาผู้ชมกลุ่มเดิม และขยายฐานให้กว้างมากขึ้น
ชายชาวจังหวัดอุดรธานี ย้ายไปอยู่ประเทศฟินแลนด์ ตอนมีอายุ 15 ปี เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จากการทำคอนเทนต์ ถ่ายทำคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการทำอาหาร และเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้อย่างสนุกสนาน ลงเฟซบุ๊ก และช่องยูทูบ ผู้ใหญ่บ้าน ฟินแลนด์
"เดิมใช้ชื่อว่า บ่าวอุดร พาเพลิน ไม่เป็นที่จดจำ วันหนึ่งระหว่างไลฟ์เก็บผลเบอร์รี่ในป่า มีผู้ติดตามคอมเมนต์ ช่างพูดเหลือเกิน พูดเข้าป่าเข้าดงเหมือนผู้ใหญ่บ้าน พูดไม่หยุดไม่หย่อน เอ๊ะ ทำไมชอบคำนี้จัง ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอใช้ชื่อผู้ใหญ่บ้านแล้วกัน แต่ผู้ใหญ่บ้านอะไรดีนะ อยู่ฟินแลนด์ ก็เลยเป็นผู้ใหญ่บ้านฟินแลนด์จนถึงทุกวันนี้"
หลังจากย้ายมาลงหลักปักฐานที่ จ.ขอนแก่น ก่อตั้งค่ายเพลงโตเกียวมิวสิค และวงคอนเสิร์ตโตเกียว ใช้เวลาแต่องค์ทรงเครื่อง ควบคู่กับการใช่โซลเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือเรียกแขก เพียงไม่นาน สามารถยกระดับเป็นวงหมอลำคิวทอง
ในวัย 24 ปี เขาได้รับคำชื่นชมเป็น "หัวหน้าวงรุ่นใหม่มาแรง" จากผู้นำวงชั้นนำ อาทิ "ภักดี พลล้ำ" หรือ "พ่อเอ๊ะ ระเบียบวาทะศิลป์" หัวหน้าหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ และ "โจ ยมนิล" หรือ "ยมนิล นามวงษา" หัวหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง
"เอาตรงๆ สมัยก่อน ไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ เพราะว่า เราเป็นเด็กคนหนึ่งที่อยู่ต่างประเทศ อยู่ในสังคมที่เป็นฝรั่ง สังคมยุโรป ไม่ได้มีหมอลำคลุกคลีอะไรเลย และก็ไม่ได้ชอบหมอลำมาตั้งแต่เด็ก แต่พอเรามาทำยูทูบ ทำอะไร เริ่มซึม และกลายเป็นว่า เริ่มชอบ"
เขาเชื่อว่า ทุกคน ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ แต่ถ้าหากไม่ให้โอกาสเจเนอเรชันใหม่ ไม่สร้างแรงจูงใจให้มาเรียนรู้ ฝึกฝนวิชาจากรุ่นครูบาอาจารย์ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดแก่นของหมอลำ ก็จะไร้การสืบสาน
"ถ้านึกถึงโตเกียวฯ ต้องนึกถึงเด็กรุ่นใหม่ เยาวชน แนวคิดแบบใหม่ การแสดงแบบใหม่ มาผสมผสานความเป็นอีสานขนานแท้" ผู้ใหญ่บ้านฟินแลนด์กล่าว
การแสดงหน้าเวทีของโตเกียวคอนเสิร์ต จึงถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการผสมผสาน ลูกทุ่ง สตริง อินดี้ วาไรตี้ หมอลำ พัฒนาศิลปะพื้นบ้านให้ร่วมสมัย เพื่อเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน ต่อยอดไปสู่อนาคต ทำให้คนต่างถิ่นเข้าใจง่ายขึ้น เป็นการสลายกำแพง และแลกเปลี่ยนกัน เพื่อขยายฐานรากเหง้าทางวัฒนธรรมไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยไม่สูญเสียจิตวิญญาณ
"ผมว่าถ้าคนรุ่นใหม่ไม่สืบสาน มันก็จะหายไปเรื่อยๆ ไม่เอาเพลงหมอลำมาร้อง ไม่เอาเพลงลูกทุ่ง ไม่เอาเพลงอีสานมาร้อง ก็อาจจะค่อยๆ จางไป ก่อนหน้านี้เราใช้ว่า โตเกียวลำซิ่ง มันยังดูอยู่ที่เดิมอยู่ เลยพลิกชื่อใหม่ว่า คอนเสิร์ตโตเกียว หมอลำก็มีให้ดู T-Pop สไตล์เต้นแบบวัยรุ่นมีหมดทุกอย่าง EDM นั่นนี่นู่น แบบผับเคลื่อนที่ ดนตรีที่ล้ำสมัย มีหมดทุกอย่าง"
"ถ้าหมอลำ คุณก็กินกันอยู่แค่หมอลำ แต่ว่าถ้าอยากกว้าง อยากขยายไป เราลองเอาคนที่ไม่ได้ฟังหมอลำมาฟังด้วย มารู้จักหมอลำ มารู้จักอีสาน มารู้จักลำเรื่อง ลำกลอน ลำซิ่ง ลำประยุกต์ ลำต่างๆ เราเอาเพลงหมอลำ หรือ เราดัดแปลงเพลงหมอลำของเรา ที่คนภาคกลางสามารถฟังได้ อย่างน้อยก็เข้าใจอยู่นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่ว่าร้องไปแล้วไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาจะไม่อิน และไม่เก็ทในการฟัง คำร้องไม่เป็นลาวลึก ลาวแบบเก่าๆ คนรุ่นใหม่เขาฟังไม่เป็น เราก็เปลี่ยนเป็นลาวใหม่ๆ ศัพท์ใหม่ๆ บ้าง"
การสร้างสรรค์งาน ทุกอย่างต้องเดินไปตาม พ.ศ. ทุกอย่างต้องเดินไปตามเวลา และเข็มนาฬิกา นาฬิกาไม่เดินถอยหลัง ไม่ได้เป็นแค่หมอลำ ไม่ได้เป็นแค่คนอีสาน แต่ว่ามันเป็นกับโลก โลกปัจจุบันฟังเพลงแนวไหน ฟังเพลงจังหวะใด พฤติกรรมผู้บริโภค หรือ ผู้ชมในปัจจุบันเป็นอย่างไร
ต้องมีการออกแบบหมอลำใหม่ โดยยึดที่เอกลักษณ์ของหมอลำกับกลุ่มผู้ชมเดิม รุ่นปู่ย่า ตายาย รุ่นพ่อรุ่นแม่ และสร้างความต้องการใหม่ ด้วยการปรับวิธีการเล่าเรื่องหรือนำเสนอใหม่ให้เหมาะกับกลุ่มผู้ชมและยุคสมัย ให้ความสำคัญกับฉาก แสง สี เสียง
"ส่วนมากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เขาปูเสื่อ เขาจะกลับก่อนเที่ยงคืน ถ้าก่อนเที่ยงคืน ก็จะมีเพลงแนวที่เอาใจแม่ๆ คุณยาย คุณป้า คุณน้า ซึ่งเราจะปรับให้มันบาลานซ์กัน ในระหว่างการรับฟัง ถ้าเราไม่ปรับตาม คนเที่เขารักหมอลำ งานก็จะน้อยลง ซึ่งผมมองว่าไม่ได้ลืมไม่ได้ลบ แต่เราปรับให้เข้ากับสมัยมากกว่าครับ"
ในประวัติศาสตร์ มีศิลปินชั้นครู นำการแสดงหมอลำไปกู่ก้องต่างแดน โดยเฉพาะทางทวีปยุโรป อาทิ สมหมายน้อย ดวงเจริญ, พรศักดิ์ ส่องแสง ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และ สมจิตร บ่อทอง ตำนานที่ยังมีลมหายใจ เป็นต้น เบิกทางให้ศิลปินรุ่นลูกรุ่นหลาน ได้เดินรอยตาม แต่ทว่า ส่วนใหญ่บินเดี่ยวไปเดินสายแสดงแลกทิป หรือมาลัยติดแบงค์ ในร้านอาหารไทย
แทบไม่มี หรือถ้ามีก็น้อยมาก ที่ขนความบันเทิงเชิงวัฒนธรรม ไปแบบเต็มวง เวที แสง สี เสียง ทีมงานนับร้อยชีวิตเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ไปปิดวิกทำการแสดง เต็มรูปแบบ เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมาย ผู้นำวงโตเกียวฯ อยากปักให้สำเร็จ
"เราขยายฐานจากอีสาน ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของหมอลำ ไปแสดงทั่วไทยได้แล้ว ไปแบบขนเวที ขนทีมงานไปแสดงเต็มรูปแบบ ไปเหนือมาแล้ว ไปใต้ สมุยก็ไปมาแล้ว ไปมาหมดแล้ว ยิ่งทำยิ่งชอบ ยิ่งมีส่วนสานต่อยิ่งภูมิใจในรากเหง้าบ้านเกิด อยากไปไกลมากกว่านี้ อยากเอาเวทีขึ้นเรือไปจัง ขึ้นเรือสำราญข้ามไป ไปตั้งที่ไหนก็ได้ อย่างน้อยก็ญี่ปุ่นวะ ใกล้ขนาดนี้ หรือว่า จีนๆ ที่มันแบบตั้งได้"
"การที่เราจะทำงาน หรือมีความฝัน ไม่ใช่เพ้อฝัน ทุกอย่างเป็นไปได้หมด ถ้าเราจะทำ ผมก็เลยมองกับทางบริษัท ค่ายเพลงเรา หรือวง เราลองเอาภาษาต่างชาติ เข้ามาใช้บ้างดีไหม เนื้อร้องภาษาอังกฤษทำนองหมอลำ เป็นต้น ลองดึงคนกลุ่มเหล่านั้น"
จากการที่ผู้ชมหมอลำบนโลกออนไลน์ที่มีมากขึ้นตามแนวโน้มของยุคดิจิทัล และกลุ่มคนรุ่นใหม่ พบว่า วงหมอลำที่ปรับธุรกิจเข้ากับโลกออนไลน์ได้เร็ว สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง สร้างแรงจูงใจและสร้างฐานแฟนคลับใหม่ได้ดี
"หมอลำเป็นซอฟต์พาวเวอร์แล้ว แต่ยังสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้มากกว่านี้อีก เราต้องพรีเซนต์ในทางใหม่บ้าง คือตอนนี้ผมโปรโมตวงแบบ เป็นคลิปเรียล คลิปสั้น ทุกแพลตฟอร์มผมยิงหมดเลย ติ๊กต็อก เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตราแกรม ซึ่งผมมองว่า เป็นนักร้อง เป็นศิลปิน ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่ว่าจำเพลง ต้องมีเวลาทำคอนเทนต์ วันนี้จะไปไหน อยู่หลังเวทีนะ กินข้าวแล้ว แต่งหน้าไลฟ์สด โพสต์กรุ๊ปไลฟ์สด นั่นกลายเป็นการโปรโมตของบุคลากรของเรา วงของเราเองด้วย คนก็จะตามมาดู"
"ผมมองว่า หมอลำทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดี ร้านค้า พ่อค้า แม่ขาย เขาก็มีที่ขาย ไม่ต้องไปรอแค่งานกาชาด ไม่ต้องไปรอแค่งานประจำปี แค่มีหมอลำ แม่ค้าพากันไปซื้อของมาจับมาจ่าย ปิ้งลูกชิ้นขาย นึ่งข้าวไปขายตอนดึกๆ ปิ้งไข่ขาย เอาก๋วยเตี๋ยวมาขาย คนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับหมอลำ หรือเชื่อมโยงกัน นักร้อง นักร้องนักดนตรี เก็บเวที เครื่องไฟ พ่อค้าแม่ขายผมว่าเป็นแสนๆ คนครับ ได้เงินจากตรงนี้ ถ้าหมอลำไม่มีในอีสาน ถ้าเกิดหมอลำหายไป ก็เงินพันล้านแหละหายไปเลยต่อปี เพราะปีหนึ่งวงดนตรีวงเดียวทำเงินได้ บางวง 70-80 ล้าน แล้วมีกี่ร้อยวง กี่สิบวงครับที่ทำเงินแต่ละปีให้กับเศรษฐกิจบ้านเรา"
หัวหน้าวงคอนเสิร์ตโตเกียว ทิ้งท้ายการให้สัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้ ถ้าหากวงหมอลำสามารถขยายฐานออกไปทำการแสดงนอกประเทศได้เต็มรูปแบบ ทั้งแบบออนทัวร์ หรือ เฟสติวัล มหกรรมดนตรีระดับนานาชาติ นอกจากเป็นการสืบสาน และเผยแพร่มรดกของชาติแล้ว จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอีกมากมาย จากฐานของหมอลำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง