svasdssvasds

ปรับตัวใน "ที่ทำงานใหม่" ให้ได้เร็ว อาทิตย์แรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก

ปรับตัวใน "ที่ทำงานใหม่" ให้ได้เร็ว อาทิตย์แรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก

วันแรกของการไปที่ทำงานใหม่ คงไม่ต่างการไปโรงเรียนใหม่วันแรก แต่สิ่งที่พิเศษกว่า คือถ้าเราปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เราเริ่มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเร็วขึ้น

SHORT CUT

  • เชื่อว่าทุกคนเคยไปทำงานวันแรก บางคนอาจจะนานมากจนจำความรู้สึกนั้นไม่ได้แล้ว
  • การเมืองในองค์กร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ให้เร็ว เพื่อให้การทำงานราบรื่น ไม่สร้างความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความบาดหมางโดยไม่รู้ตัว
  • เปิดวิธีที่ช่วยให้เราสามารถได้รับพลังจากการสังเกตสิ่งรอบตัวในที่ทำงานใหม่

วันแรกของการไปที่ทำงานใหม่ คงไม่ต่างการไปโรงเรียนใหม่วันแรก แต่สิ่งที่พิเศษกว่า คือถ้าเราปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เราเริ่มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเร็วขึ้น

เชื่อว่าทุกคนเคยไปทำงานวันแรก บางคนอาจจะนานมากจนจำความรู้สึกนั้นไม่ได้แล้ว หลายคนอาจจะเฉยๆ เพราะย้ายที่ทำงานบ่อย วันแรกของการไปทำงานที่ใหม่คงไม่ต่างการไปโรงเรียนใหม่วันแรกเท่าไหร่ แต่สิ่งที่พิเศษกว่าคือถ้าเราปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เราเริ่มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเร็วขึ้นเท่านั้น 

ดังนั้นอาทิตย์แรกๆ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ฝ่าย HR หลายบริษัทจัดโปรแกม On-boarding ดูแลพนักงานใหม่เพื่อช่วยให้พนักงานปรับตัวเข้ากับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน วัฒนธรรมองค์กรได้อย่างราบรื่น เว็บไซต์ https://www.strongdm.com ระบุการค้นพบของนักวิจัยจาก Brandon Hall Group ว่าโปรแกม On-boarding ที่ดีช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเริ่มงานใหม่ถึง 82% และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงถึง 70%

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกองค์กรจะมีโปรแกรม On-boarding สำหรับพนักงานใหม่ หรือถ้าหากมีก็มีบางอย่างที่พนักงานใหม่จำเป็นต้องรู้แต่ไม่สามารถบรรจุในโปรแกรม On-boarding ได้ เช่น การเมืองในองค์กร ซึ่งเรื่องเหล่านี้มักเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ให้เร็ว เพื่อให้การทำงานราบรื่น ไม่สร้างความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความบาดหมางโดยไม่รู้ตัว

 

 “นุนชี่ พลังแห่งการสังเกตชีวิต” หนังสือแปลจากภาษาเกาหลีพูดถึงเรื่องนี้ว่าที่ประเทศเกาหลีให้ความสำคัญกับศาสตร์การสื่อสารจากการอ่านสถานการณ์มาก สอนเรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก บรรจุเรื่องนี้ในหลักสูตรการสอนที่โรงเรียน ให้เด็กๆ ได้สังเกตท่าทีของเพื่อนร่วมชั้น และอ่านบรรยากาศของห้องเรียน คนเกาหลีเชื่อว่าคุณสมบัติของการสังเกตชีวิตนั้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิต ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยมากและมักเรียกคุณสมบัตินี้ว่า “พลังแห่งการสังเกตสังกา” ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตอนเริ่มงานในที่ทำงานใหม่ 

4 วิธีที่ช่วยให้เราสามารถได้รับพลังจากการสังเกตสิ่งรอบตัวในที่ทำงานใหม่

  1. ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปทานข้าวกับเพื่อนร่วมงานหลายกลุ่มๆ ช่วงเวลาอาหารเที่ยงจะเป็นเวลาที่หลายคนคุยถึงเรื่องประชุมที่เพิ่งเสร็จในช่วงเช้าหรือเรื่องที่จะเข้าประชุมช่วงบ่าย ข้อมูลเหล่านั้นจะช่วยให้เรารู้ทั้งงานของเพื่อนร่วมงาน และหบ่อยครั้งมุกแซวเล่นที่หลุดออกมาก็ช่วยให้เราประเมินหรือตั้งข้อสังเกตเรื่องนั้นได้ไม่ยาก
  2. อย่าเพิ่งเชื่อข้อมูลประเภท “บอกแล้วเหยียบไว้นะ” “รู้แล้วอย่าบอกใคร” ข้อมูลแบบนี้มักถูกบอกเล่าผ่านตัวกรองของผู้เล่าที่มีต่อผู้ถูกพูดถึง ลองเช็คข้อเท็จจริงกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นดูด้วยเทคนิค “ได้ยินมาว่า........” ข้อควรระวังคืออย่าอ้างอิงชื่อผู้เล่า เพราะหากคนฟังนำไปเล่าต่ออ้างชื่อคนเล่าต้นเรื่องจะกลายเป็นความขัดแย้งที่มีเราเป็นส่วนร่วมไปโดยปริยาย

   3. หาโอกาสเข้าประชุมระหว่างแผนกเพื่อสังเกตท่าทีของผู้เข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะและประเด็นการพูดคุย ทัศนคติการทำงาน ทักษะการสื่อสาร ความสามารถในการรับมือข้อขัดแย้ง รวมถึงร่อยรอยความขัดแย้งของผู้เข้าร่วมประชุมผ่านการสนทนาโต้ตอบระหว่างการประชุม
   4. “คนที่เงียบที่สุดบางครั้งก็ฉลาดที่สุด” ทุกๆ ทีมจะมีคนแบบนี้อยู่เสมอ คนที่นั่งเงียบๆ เหมือนไม่มีตัวตน ประเภทความดีไม่เด่น ความชั่วไม่ปรากฎ คนลักษณะนี้มักเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดีและเอาตัวรอดได้ดี ให้ผูกมิตร (เทคนิคการผูกมิตรอ่านได้ที่นี่) และหาเวลาอยู่ด้วยกันตามลำพัง เช่น ไปทานข้าวหรือกลับบ้านพร้อมๆ  การพูดคุยจะทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจที่เราสามารถนำไปประมวลผลประกอบกับข้อมูลที่ได้มาจากการสังเกตช่องทางอื่นๆ 

หวังว่าทั้งหมด 4 ข้อที่ว่ามานี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนที่กำลังเริ่มงานใหม่

เพชร ทิพย์สุวรรณ
อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ 
ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคลากรของ ALERT Learning and Consultant

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

related