ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ นายกสมาคมไตลื้อแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีอ่านสาส์น และลงนามถวายอาลัย เจ้าหม่อมคำลือ กษัตริย์ราชอาณาจักรเชียงรุ่งสิบสองปันนา องค์สุดท้าย ซึ่งเสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ณ เมืองคุนหมิง มณทลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพิธีจัด ณ. วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ข้อูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ หรือ คนลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อและยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่าง ๆ
เดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน ประมาณศตวรรษที่ 12 จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจื๋องหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนาปัจจุบันตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่ง นาน 790 ปี
ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชต่อมาในปี ค.ศ. 1579-1583 (พ.ศ. 2122-2126) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,000 หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อนาหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาจนถึงปัจจุบันเมืองสิบสองปันนาได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีตดังนี้ (ที่มาของคำว่า สิบสองพันนา อ่านออกเสียงเป็น "สิบสองปันนา")
ปัจจุบันชาวไทลื้อกระจายตัวอยู่ที่ ประเทศพม่า มีแถบเมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงลาบ เมืองไร เมืองพะยาก เมืองโก เมืองโต๋น เมืองเลน เชียงตุงประเทศลาว เมืองหลวงน้ำทา เมืองหลวงพูคา เมืองบ่อแก้ว ไชยบุรี (เชียงฮ่อน เชียงลม หงสา) เมืองหลวงพะบาง ประเทศไทย เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ประเทศเวียดนาม เมืองแถน
ชาวไทลื้อถือเป็นกรณีตัวอย่างการดำรงอยู่ได้ของกลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลาย ในประเทศไทย โดยยังคงรักษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ ตามทฤษฏีดอกไม้หลากสี ของการสร้างรัฐชาติ
ขณะที่เจ้าหม่อมคำลือ หรือ ตาว ซื่อซิน เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง องค์ที่ 41 และเป็นองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ พญาเจือง หรือ ราชวงศ์อารยะโวสวนตาน ที่ปกครองอาณาจักรหอคำเชียงรุ่งมายาวนานถึง 790 ปี ถือเป็นอาณาจักรไทเดิมหนึ่งเดียวที่มีระบอบศักดินาแบบจารีตยาวนานที่สุดในแหลมทองเจ้าหม่อมคำลือ ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1928 เป็นราชบุตรของ เจ้าหม่อมแสงเมือง ซึ่งเป็นอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน
ฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนจึงมีศักดิ์เป็นลุงของเจ้าหม่อมคำลือ แต่พระองค์ท่านเอง(เจ้าหม่อมสุวรรณผาคราง) ไม่มีราชบุตร จึงได้ขอเจ้าหม่อมคำลือมาเป็นราชบุตรบุญธรรม และไปเรียนหนังสือที่เมืองจุงกิงเมื่ออายุ 16 ปี จนถึงปี ค.ศ. 1944 ได้เข้า “พิธีฮับเมือง” แต่ในช่วงนั้นเกิด สงครามมหาเอเชียบูรพา (ค.ศ. 1939-1945) พิธีฮับเมืองจึงไม่สมบูรณ์ ท่านได้กลับไปเรียนหนังสือ และกลับมาทำพิธีฮับเมืองครั้งที่สอง เมื่อ ค.ศ. 1948 ขณะอายุ 20 ปี
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในประเทศจีน ราวปี ค.ศ. 1949-1950 ท่านจึงกลายเป็น “กษัตริย์องค์สุดท้าย” โดยเปลี่ยนฐานันดรศักดิ์จากกษัตริย์เป็นสามัญชน โดยที่ยังมิได้ บริหารราชการแผ่นดินเลย เนื่องจากหลังจากทำพิธีฮับเมืองครั้งแรกแล้วท่านได้แต่งตั้งให้เจ้าหม่อมแสนเมือง พระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
จากนั้นท่านก็ไปเรียนหนังสือต่อท่านได้เรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยยูนนาน และได้แต่งงานกับ สิว์ จิ๊ว เฟิน ชาวจีนคุนหมิง ในปี ค.ศ. 1953 ก่อนที่จะทำงานเป็นนักวิจัยด้านภาษาศาสตร์ อีก 8 ปี ที่สถาบันวิจัยชนชาติส่วนน้อยแห่งชาติ สังกัดสภาวิทยาศาสตร์ประเทศจีนในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
ต่อมาเจ้าหม่อมแสนเมืองได้ขอให้รัฐบาลจีนย้ายทั้งสองกลับมาที่คุนหมิง โดยมาทำงานเป็นนักวิจัยด้านภาษาซึ่งรวมถึงอักษรไทลื้อ จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1971 รัฐบาล จีนมีคำสั่งให้เจ้าหม่อมคำลือและภรรยาไปทำงานในชนบททำงานในสวนอ้อยใน อ.เชียงกุ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสิบสองปันนา เป็นเวลานาน ถึง 9 ปี
การใช้เวลาในสวนอ้อยนี้ สิว์ จิ๊ว เฟิน เล่าว่า สามารถพกหนังสือหรือตำราเข้าไปอ่านได้ด้วย และหลังจาก เติ้ง เสี่ยว ผิง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของจีนแล้ว เห็นว่านโยบายเอียงซ้าย นโยบายที่ให้เจ้านายไปใช้แรงงานในชนบท เป็นนโยบายที่ผิดพลาด ดังนั้นเจ้าหม่อมคำลือและภรรยาจึงมีโอกาสกลับคุนหมิง โดยทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยชนชาติในมหาวิทยาลัยชนชาติยูนนาน จนกระทั่งเกษียณอายุ โดยมีคุณวุฒิทางวิชาการคือ “ศาสตราจารย์”
อย่างไรก็ดี หลังจากเกษียณอายุแล้ว ทางการจีนได้ให้ฐานะ ทางสังคมแก่ เจ้าหม่อมคำลือในฐานะเจ้านายเก่าคือเป็น รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองระดับมณฑล และ กรรมการสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ซึ่งมีที่พัก และ รถประจำตำแหน่งให้
ทั้งนี้ เจ้าหม่อมคำลือมีพระอนุชาชื่อ เจ้าหม่อมมหาวัง อยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ของประเทศไทย แต่ปัจจุบันก็สิ้นแล้ว คงเหลือแต่ลูก ๆ ซึ่งอยู่ที่แม่สาย และรวมถึงในกรุงเทพฯ ที่ใช้ นามสกุล “คำลือ” เพื่อเป็นที่ระลึกถึง “เจ้าหม่อมคำลือ” กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรไทลื้อ เจ้าหม่อมคำลือในปัจจุบัน ยังเป็นที่รักและเคารพของชาวไทลื้อ
Cr.FB: Ladawan Wongsriwong,วิกิพีเดีย