ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเหยียบศาลยุติธรรมในคราวแรกของรัชสมัย ทั้งยังทรงรับเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และพระราชดำรัสตอบ ที่ยังความปลาบปลื้มใจให้กับบรรดาผู้พิพากษามาจนทุกวันนี้
เป็น 1 ใน 9 ภาพต้นฉบับที่ยังคงเหลืออยู่ และกลายเป็นบันทึกหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเหยียบกระทรวงและศาลยุติธรรม ในวาระแรกของรัชสมัย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2495 เมื่อเวลา 10.10 นาฬิกา
ในครั้งนั้นพระองค์ยังทรงรับเป็นองค์บรมราชูปถัมภกแห่งเนติบัณฑิตยสภา และทรงรับเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์ นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับเป็นสมาชิก ครั้นทรงฉลองพระองค์ครุยแล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสตอบ
นิกร ทัสสโร ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เผยว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในเกียรติยศอันนี้ ไมตรีจิตและความเอื้ออารีของท่านทั้งหลายจะทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกรักใกล้ชิดสนิทสนมกับท่านยิ่งขึ้น และต่อแต่นี้ไปการงานใดอันเป็นของสภานี้ ข้าพเจ้าก็ย่อมถือว่ามีส่วนร่วมด้วย”
คราวนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังประทับบัลลังก์ที่ 12 ศาลอาญา ทอดพระเนตรและทรงฟังการพิจารณาคดีอาญาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นคดีลักทรัพย์โม่หิน ซึ่งหลวงการุณย์นราทรผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย 6 เดือน ลดฐานรับสารภาพกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน แต่ให้รอการลงอาญาไว้ ในคราวเดียวกัน ยังได้ทรงเหยียบศาลแพ่ง ทรงฟังการพิจารณาคดีอีกถึง 2 คดีก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ
และค่ำวันเดียวกันยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินในงานสโมสรสันนิบาต ที่ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในวาระที่เสด็จพระราชดำเนินเหยียบศาลสถิตย์ยุติธรรมในคราวแรกแห่งรัชสมัย ไม่นับรวมที่เสด็จพระราชดำเนินศาลอาญา และศาลต่างจังหวัดอีกรวมแล้วถึง 10 ครั้งด้วยกัน
การเสด็จพระราชดำเนินศาล รวมถึงการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณของตุลาการ ผู้พิพากษาในทุกครั้ง พระองค์จะทรงมีพระราชดำรัสที่สำคัญ และเป็นแนวทางให้ผู้พิพากษาน้อมนำมาใช้ในการครองตน
การเสด็จพระราชดำเนินเหยียบศาลสถิตย์ยุติธรรมคราวแรกในรัชสมัย ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ทุกสถานที่ยังคงถูกจารึกไว้ ภาพทุกภาพ พระราชดำรัสทุกองค์ ยังคงเป็นสิ่งสะท้อนเตือนใจ ให้ผู้พิพากษาทุกคนรับรู้ ว่าการปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย ก็คือการทำหน้าที่ในนามของพระเจ้าอยู่หัว
[embed]https://youtu.be/2zrLVrpw90I[/embed]