svasdssvasds

ขาใหญ่ในตลาดหุ้น : ทายาทรุ่น 3 อาณาจักรโกลเบล็ก "ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ"

ขาใหญ่ในตลาดหุ้น : ทายาทรุ่น 3 อาณาจักรโกลเบล็ก "ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

1511698588873 หากจะพูดถึงธุรกิจที่มีความครบวงจร ทั้งธุรกิจค้าหลักทรัพย์ และธุรกิจผลิตและจำหน่ายทองคำแท่ง ที่ถือว่าเป็นสัญชาติไทยแท้ๆ เห็นทีคงหนีไม่พ้นกลุ่มบริษัทโกลเบล็ก กรุ๊ปฯ ที่แตกแขนงดำเนินธุรกิจ ภายใต้ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจ เม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และธุรกิจซื้อขายทองคำแท่ง ภายใต้การบริหารงานของอาณาจักรโกลเบล็ก จากรุ่นพ่อ ส่งไม้ต่อมายังรุ่นลูก “ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ” หรือ “อัพ” หนุ่มที่มีดีกรีปริญญาตรีสาขาเศรษฐ ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐฯ และปริญญาโทการเงิน เอกการลงทุนตราสารอนุพันธ์ จากมหาวิทยาลัยวอร์ริก ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันอัพเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด (GBS) ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งโกลเบล็ก กรุ๊ป

“การที่ตัวเองได้เรียนด้านตราสารอนุพันธ์ ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการลงทุนมากขึ้น รู้ว่าความเสี่ยงอยู่ตรงไหน หรือรู้จนกระทั่งว่าอะไร คือ ความเสี่ยง ซึ่งตัวเองในฐานะ CEO ของบล.โกลเบล็กฯ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องความเสี่ยงด้านการลงทุน เพื่อนำมาปรับใช้ให้ถูกจังหวะและโอกาส”

ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ (อัพ) เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่ครอบครัวทำธุรกิจค้าทองคำ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปี 2483 ก่อนจะเข้ามาทำธุรกิจในกรุงเทพฯ ด้วยการเปิดร้านขายทอง ภายใต้ “ห้างทองจิ้น ไถ่เฮง” (แม่ไฉน) ย่านวรจักร จากนั้นในปี 2537 ครอบครัวก็มาตั้งบริษัท เกรทเทสท์ โกลด์ แอนด์ รีไฟเนอรี่ฯ เพื่อดำเนินธุรกิจทองคำแบบครบวงจร ซึ่งมีทั้งโรงงานสกัดทองคำ ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ชื่อเสียงของ “ตระกูล คูหาเปรมกิจ” ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเมืองไทย สำหรับเป็นผู้นำเข้าและส่งออกทองคำมากที่สุด

สำหรับความท้าทายในการทำงานจากรุ่นคุณพ่อ สู่รุ่นของตัวเองนั้น คุณอัพ เล่าว่า การทำงานหลังจากเข้ามารับช่วงต่อจาก “โอฬาร คูหาเปรมกิจ” ผู้เป็นพ่อ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการถ่ายทอดวิชาด้วยการให้ลงมือปฏิบัติจริง ให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งในบางครั้งก็จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่คุณพ่อ ก็ให้อิสระที่จะเรียนรู้เอง เมื่อมีปัญหาก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมกับให้คำแนะนำ

ทั้งนี้ หากถามว่า การบริหารงาน โกลเบล็ก ในยุคของ “อัพ ธนพิศาล” เป็นอย่างไร CEO หนุ่มไฟแรง อยากให้มองว่า เป็น professional คนหนึ่งที่เข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดรับตามยุคสมัยที่มีการปรับเปลี่ยนไป เพื่อให้บริษัท มีความแข็งแกร่ง สู้คู่แข่งได้จะดีกว่า และเมื่อได้รับโอกาส ก็ต้องทำหน้าที่การบริหารงานภายในองค์กรให้ดีและมีการพัฒนาให้มากที่สุด

โดยสิ่งที่มอง คือ อยากจะหาจุดเด่นไปแข่งขันกับคนอื่นได้ ถ้าคนอยากจะมาหาเรา ก็นึกถึงว่า โกลเบล็ก มีหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มนักลงทุน สร้างจุดแข็ง ที่จะเดินไปด้วยกัน ทำให้เค้าโตขึ้นไปด้วยกัน ระหว่างโกลเบล็ก และลูกค้าทำให้ลูกค้า รู้สึกว่า มีเวลธ์มากขึ้น

“อัพ” มองว่า 3 ปีข้างหน้า การแข่งขันในปัจจุบัน มันเหนื่อย ต้องปรับตัวเองให้มีจุดแข็งทางด้านใดด้านหนึ่ง มันมีพื้นที่ที่เราแข่งได้ โดยการสร้าง value added ให้กับองค์กร ให้มีรายได้อย่างสมํ่าเสมอ โดยที่เราไม่ต้องมาแข่งนั่งลดค่าคอมมิสชันแล้ว พยายามใช้นวัตกรรม เครื่องมือต่างๆ ที่จะทำให้ลูกค้ามีกำไรสูงสุด Vision คือทำให้ลูกค้า return ค่อนข้างสูง

ส่วนการบริหารงานแบบครอบครัว หัวใจหลักของความสำเร็จ คุณอัพ เล่าว่า ต้องยอมรับว่าบุคลากร ในโกลเบล็ก กรุ๊ป ทุกคนเป็นคนเก่ง ดังนั้นก็เท่ากับว่าเรากำลังบริหารคนเก่งๆในองค์กร เพื่อให้พวกเราเหล่านั้นมีเป้าหมายเดียวกัน คือการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งแน่นอนสิ่งยากที่สุดคือการบริหารจัดการความคิดของ บุคลากร เราจะทำยังไงให้เขาทุกคนคิดไปในทิศทางเดียวกับเรา และคำตอบคือ การบริหารงานด้วยความใส่ใจ ให้ใจเป็นตัวบริหารงาน จึงเป็นที่มาของการบริหารงาน รูปแบบครอบครัว เพราะเราต้องดูถึงสิ่งที่เขาต้องการ เปิดโอกาสให้เขามีเวทีในการแสดงความคิดเห็น และประตูลดช่องว่างระหว่างเจ้านายและลูกน้อง ให้เขาสามารถเข้ามาปรึกษาเราได้ทุกเรื่อง ที่สำคัญต้องการยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกัน

พร้อมทั้งยังได้เปรียบเทียบที่เป็นข้อคิดทิ้งท้ายว่า การมีลูก หรือแม้แต่การบริหารองค์กรคือการลงทุน ดังนั้นขึ้นชื่อว่าการลงทุนแล้วเราก็ต้องดูแลและบริหารจัดการทุกอย่างให้ออกมาให้ดีที่สุด หรือหากมีข้อผิดพลาดก็ต้องมีให้น้อยที่สุด โดยเราต้องลงไปใส่ใจในทุกๆรายละเอียดที่ทำ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมามีประสิทธิภาพผลิดอกออกผล และเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

...........

คอลัมน์ :ขาใหญ่ในตลาดหุ้น /หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

related