svasdssvasds

กรมสุขภาพจิตสั่งจับตาหลังพบวัยรุ่นไทยป่วยซึมเศร้ากว่า 1 ล้านคน

กรมสุขภาพจิตสั่งจับตาหลังพบวัยรุ่นไทยป่วยซึมเศร้ากว่า 1 ล้านคน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

วันที่ 24 ธ.ค.60 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า โรคซึมเศร้าเป็นภาวะการเจ็บป่วยที่ต้องเร่งรักษาเพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกระบุว่าปัจจุบัน 1 ใน 20 คนของประชากรโลกกำลังป่วยด้วยโรคดังกล่าว และ ป่วยซ้ำสูงร้อยละ 50-70ที่น่าเป็นห่วงคืออาการป่วยเป็นสาเหตุให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ในประเทศไทยพบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ 44 หรือประมาณ 3 ล้านกว่าคนจากทั้งหมด8 ล้านคน อัตราป่วยเฉลี่ยร้อยละ 18 ซึ่งคาดว่าป่วยแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่เข้าถึงบริการน้อย เพราะอารมณ์และพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ป่วยจะไม่เหมือนผู้ใหญ่

 

โดยวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ก้าวร้าว แปรปรวนง่าย หรือเสี่ยงใช้ยาเสพติด กระทั่งอาจแยกตัว ไม่กล้าเข้าสังคม ทำให้ผู้ปกครอง ครู เข้าใจผิดว่าเป็นนิสัยเกเร อีกทั้งวัยรุ่นยังมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่ต้องการถูกระบุว่ามีปัญหา อาจจะปฏิเสธการรักษา ทำให้วัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าจำนวนมากไม่ได้รับการช่วยเหลือและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้นตามมา เช่น ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น ติดยา เรียนไม่จบ เป็นต้น

 

ดังนั้นกรมสุขภาพจิต จึงให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พัฒนาแนวทางการดูแลรักษาวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้วัยรุ่นที่มีปัญหาได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นอย่างทันท่วงที ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองใช้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของวัยรุ่น และระบบบริการมากที่สุด คาดว่าจะพร้อมใช้ต้นเดือนม.ค.2561

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า วัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า มี 4 กลุ่มใหญ่คือ

1.ผู้ที่มีประวัติเป็นคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรควิตกกังวล สมาธิสั้น

2.มีโรคเรื้อรังทางกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคที่ทำให้ร่างกายผิดรูปหรือมีผลต่อภาพลักษณ์ 3.ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม เช่น อกหัก ใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์ ปัญหาการเรียน โดนรังแก ใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

และ 4.กลุ่มที่มีครอบครัวไม่อบอุ่น มีความขัดแย้งในครอบครัว รวมทั้งการเลี้ยงดูที่ขาดการสอนทักษะการจัดการอารมณ์ตนเอง

สำหรับแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า มี4 ส่วนหลัก ได้แก่

1.การคัดกรองซึมเศร้า ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือและช่องทางที่เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น

2.การตรวจวินิจฉัยทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ

3.การรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด กระตุ้นพฤติกรรม อารมณ์ ความคิดทางบวก ซึ่งสามารถลดภาวะซึมเศร้าลงได้ภายใน 4 สัปดาห์

และ4.ส่งเสริมให้โรงเรียนและครอบครัวมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหา.

 

related