svasdssvasds

ศูนย์อนุรักษ์ช้างมาเลเซีย มุ่งลดปัญหามนุษย์กับช้าง

ศูนย์อนุรักษ์ช้างมาเลเซีย มุ่งลดปัญหามนุษย์กับช้าง

ช้างป่าบาดเจ็บและล้มตายจากน้ำมือของมนุษย์ เป็นข่าวที่ไม่ได้เกิดเฉพาะในบ้านเรา อย่างที่ประเทศมาเลเซีย ชาวบ้านมักจะทำร้ายช้าง เพราะมองว่าเป็นภัยต่อพื้นที่เพาะปลูก จนเกิดเป็นความพยายามที่จะช่วยช้างพลัดฝูง ให้ย้ายไปอาศัยในป่าลึกแทน

 

โขลงช้างย่ำพื้นเสียงดัง ฝ่าพงไพร ก่อนกระโจนอย่างงุ่มง่ามลงไปในแม่น้ำ โดยมีควานช้างผู้ดูแล คอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

นี่คือบรรยากาศการฝึกฝนช้าง ในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ช้างแห่งชาติกัวลากันดาห์ ตั้งอยู่ในป่าฝนของรัฐปะหัง ประเทศมาเลเซีย ที่มุ่งมั่นจะฝึกช้างเอเชีย 26 เชือก ให้เป็นหน่วยช้างพิเศษ ที่คอยยับยั้งความขัดแย้งระหว่างช้างกับมนุษย์

ศูนย์อนุรักษ์ช้างมาเลเซีย มุ่งลดปัญหามนุษย์กับช้าง

ช้างเหล่านี้ แต่เดิมเป็นช้างที่บาดเจ็บ กำพร้า หรือพลัดจากฝูง จากกรณีความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับมนุษย์ในหลายพื้นที่ทั่วคาบสมุทรมลายู หรือแหลมมลายู ก่อนได้รับความช่วยเหลือแล้วนำมาอาศัยที่ศูนย์แห่งนี้ ช้างที่แข็งแรงกำยำ จะได้รับการฝึกให้คอยช่วยเหลือช้างป่าพลัดฝูง ด้วยการนำทางไม่ให้ล่วงล้ำเข้าไปในถิ่นอาศัยของมนุษย์ จนตัวมันและชาวบ้านต้องตกอยู่ในอันตราย ซึ่งนับแต่ก่อตั้งศูนย์แห่งนี้เมื่อ 30 ปีก่อน สามารถช่วยย้ายถิ่นช้างป่าได้มากกว่า 700 ตัว โดยนำพาพวกมันไปอาศัยในป่าลึก

ศูนย์อนุรักษ์ช้างมาเลเซีย มุ่งลดปัญหามนุษย์กับช้าง

ประเทศมาเลเซีย อุดมไปด้วยป่าฝนและสัตว์ป่าหายากนานาชนิด ไม่ว่าจะช้าง ลิงอุรังอุตัง และเสื้อ แต่จำนวนสัตว์หายากเหล่านี้ ลดลงมากในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา จากการลักลอบล่าสัตว์ เพื่อนำชิ้นส่วนของพวกมันไปขายในตลาดมืด หรือไม่ก็ตกเป็นเหยื่อจากความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า อันเป็นผลจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกและการสร้างถิ่นฐานเข้าไปในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของสัตว์

ศูนย์อนุรักษ์ช้างมาเลเซีย มุ่งลดปัญหามนุษย์กับช้าง เจ้าเซเลนดัง ต้องสูญเสียขาไปข้างหนึ่งหลังตกลงในในหลุมกับดัก

ช้างป่าในมาเลเซียหลายตัว ตายหรือถูกฆ่า หลังล่วงล้ำเข้าไปในถิ่นอาศัยหรือพื้นที่เพาะปลูกของมนุษย์ ช้างบ้านหรือชาวสวน มุ่งทำร้ายพวกมัน โดยมองว่า เป็นภัยต่อพืชผล ไม่ตระหนักเลยว่าช้างเหล่านี้ เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือเจ้าเซเลนดัง ที่ต้องสูญเสียขาไปข้างหนึ่ง หลังตกลงในในหลุมกับดัก และตอนนี้ ต้องใส่ขาเทียมแทน

ปัจจุบัน เหลือช้างป่าเอเชียประมาณ 1,200 ตัว ในแหลมมลายู จากกว่า 1,700 ตัว เมื่อปี 2011 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านช้างยอมรับว่า หากการตัดไม้ทำลายป่า ลุกล้ำถิ่นอาศัยของสัตว์ยังดำเนินต่อไป อาจไม่เหลือช้างเอเชียในมาเลเซียอีกเลย เมื่อพ้นศตวรรษนี้ไปแล้ว

 

related