SHORT CUT
กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมจับตามองไม่น้อย กับกรณีที่ NETA เนต้าออโต้ ประเทศไทย มีกรรมการเหลือคนเดียว-ผู้บริหารจีนหนีไปไหนหมด และที่สำคัญ ยอดขายร่วง 45.8% , เรามาร่วมหาคำตอบกัน ที่ละประเด็น
ช่วงนี้ใครตามข่าวรถยนต์ไฟฟ้าในไทย คงไม่มีชื่อไหน "ร้อนแรง" เท่า NETA Auto (ประเทศไทย) อีกแล้ว เมื่อจู่ ๆ กรรมการบริษัทเหลือเพียงคนไทยคนเดียว แถมผู้บริหารชาวจีนหายตัวไร้ร่องรอย ทั้งที่บริษัทกำลังเจอวิกฤติยอดขายดิ่งหนักถึง 45.8% แล้วเกิดอะไรขึ้น? ใครหนี ใครรับผิดชอบ? และสถานการณ์นี้บอกอะไรเราบ้าง ? เราแยกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ชวนคิด
บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนตั้งแต่ ธ.ค. 2564 โดยมีผู้บริหารจีนเป็นกรรมการหลัก
แต่เมื่อ พ.ค. 2568 จู่ ๆ รายชื่อกรรมการก็เปลี่ยน เหลือเพียง “นางสาวสรินยา ศรีไทย” พนักงานตำแหน่ง Sale Operation Specialist เป็นกรรมการคนเดียว
ที่สำคัญ เธอถึงกับเข้าแจ้งความไว้ที่ สน.ทองหล่อ ว่าเธอเข้าใจว่าจะมีกรรมการร่วมกัน 2 คน แต่กลับกลายเป็นว่าเธอ “อยู่คนเดียว” บนเอกสารทั้งหมด
เคสแบบนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า “ผิดวิสัย” ธุรกิจจีนที่จะยอมให้ชาวต่างชาติลุยเดี่ยว ถืออำนาจลงนามบริษัทแต่เพียงผู้เดียว
ทั้งนี้ การที่ผู้บริหารจีนถอนตัวออกพร้อมกัน แถมทิ้งกรรมการไว้เพียงคนเดียว สะท้อนภาวะ “หนีหรือถอย?” จากปัญหาที่กำลังก่อตัวใหญ่โต
นาย ซูน เปาหลง อดีตกรรมการผู้มีอำนาจ กลับลาออกจากตำแหน่งในเดือนเดียวกับที่เปลี่ยนชื่อกรรมการ แม้ยังดำรงตำแหน่ง “ผู้จัดการทั่วไป”
ยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้บริหารคนอื่น ๆ อยู่ที่ไหน และยังมีบทบาทกับไทยอยู่หรือไม่
คำถามที่คาใจ : การที่ผู้บริหารระดับสูงชาวจีนหายไปหมด โดยปล่อยให้พนักงานคนไทยเป็นกรรมการเพียงคนเดียว — เป็นการ “วางมือแบบตั้งใจ” หรือแค่ “เอาตัวรอดก่อน”?
Hozon Auto บริษัทแม่ที่จีน กำลังเผชิญหนี้สินกว่า 100,000 ล้านหยวน (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) - เกิดการลดเงินเดือน ปลดพนักงาน และค้างหนี้ซัพพลายเออร์
• ในไทยเอง NETA มียอดขายรถ EV ลดลงถึง 45.8% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567
• ขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 1,882 ล้านบาท
• โรงงาน BGAC ที่ประกอบรถ NETA เตรียมปลดพนักงานถึง 400 คน
• ดีลเลอร์บางแห่งลดราคา NETA V-II เหลือเพียง 399,000 บาท โดยมีข่าวลือว่าเป็นการ “จ่ายหนี้เป็นรถ” แทนเงินสด
• สำนักงานที่ RSU Tower กำลังจะหมดสัญญาเช่า มิ.ย. 2568 และอาจไม่มีการต่อสัญญาแล้ว
ทั้งบริษัทแม่และลูกในไทยกำลังตกอยู่ในภาวะ “ชักไม่ไหว” การถอนตัวของผู้บริหารอาจเป็นสัญญาณให้จับตา ว่านี่อาจไม่ใช่แค่การจัดโครงสร้าง แต่คือ “สัญญาณเตือนก่อนล่ม”
เรื่องของ NETA Auto เป็นมากกว่าข่าวรถขายไม่ดี เพราะมันสะท้อนปัญหาโครงสร้าง การบริหารข้ามชาติ ความเสี่ยงของดีลเลอร์ในไทย และอนาคตของอุตสาหกรรม EV จากจีน
ที่มา : thansettakij