svasdssvasds

อย. ย้ำ! ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ คุ้มครองผู้บริโภคในการใช้ยาอย่างเข้มข้น

อย. ย้ำ! ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ คุ้มครองผู้บริโภคในการใช้ยาอย่างเข้มข้น

อย. แจง พ.ร.บ.ยา ที่ร่างขึ้นมีวัตถุประสงค์ที่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างครอบคลุม ซึ่งมีข้อดีหลายด้าน เช่น มีข้อกำหนดให้ทบทวนทะเบียนตำรับยาได้ทุกเมื่อ เมื่อมีข้อมูลไม่เหมาะสมด้านความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิผล ซึ่งอาจส่งผลต่อประชาชน

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้เข้าใจผิด และคลาดเคลื่อนในสาระและบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับนี้ในด้านการจ่ายยาและการขายยา อย. ขอชี้แจงว่า ตามมาตรา 22 (5) ของร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ ที่กล่าวว่า “การจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว หรือการจ่ายยาที่การแบ่งจ่ายในกรณีซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ใช้ยาสำหรับรักษาผู้ป่วยเฉพาะรายของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ใช้สำหรับสัตว์ที่ตนป้องกันหรือบำบัดโรค หรือการจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง” นั้น หมายถึง การยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตเป็นผู้ขายยาในกรณีที่แพทย์ ทันตแพทย์ หรือสัตวแพทย์จ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนในคลินิก ซึ่งได้ทำการวินิจฉัยแล้วรักษาเท่านั้น และไม่หมายความถึงการขายยาในร้านยาแต่อย่างใด

และท้ายบทบัญญัติได้กำหนดว่า “โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง” นั้น เป็นการเปิดโอกาสไว้รองรับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ที่อาจสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนในคลินิกได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการหารืออย่างรอบด้านระหว่างวิชาชีพที่เกี่ยวข้องแล้วจึงดำเนินการเสนอออกกฎกระทรวง และต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย ส่วนประเด็นการขายยาในร้านขายยานั้น ผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการถูกแยกออกจากกัน คือ ผู้รับอนุญาตจะเป็นผู้ใดก็ได้ อาจเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้ประกอบวิชาชีพก็ได้ ส่วนผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยา ต้องเป็นเภสัชกรเท่านั้น ไม่ใช่ใครก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการสามารถเป็นคนเดียวกันได้ นั้นคือกรณีที่เภสัชกรเป็นผู้รับอนุญาตด้วย ทั้งนี้ ผู้รับอนุญาตถูกกำหนดให้มีหน้าที่ต่างๆตามกฎหมาย รวมถึงการจัดหาสถานที่ที่เป็นสัดส่วน เหมาะสม ตามที่กฎหมายกำหนด และการจัดหาผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกร) มาประจำร้านขายยาตลอดเวลาทำการด้วย

ดังนั้น จึงขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การจัดตั้งร้านยาไม่ใช่ว่าทำที่ใดก็ได้ และการขายยาจะต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ปฏิบัติการตามช่วงเวลาที่ระบุ ยกเว้นไว้แต่เพียง ร้านขายยาประเภทขายยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (ข.ย.2 ตามพ.ร.บ.เดิม) ที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการอาจเป็นวิชาชีพอื่นหรือผู้ผ่านการอบรมจาก อย. แล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ยังคงมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพ กระบวนการพิจารณาอนุญาตยา และความมั่นคงด้านยาของประเทศเป็นหลัก และขอให้ทุกฝ่าย เข้าใจตรงกันว่า การจ่ายยาโดยบุคลากรวิชาชีพ จะกระทำสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนซึ่งได้ผ่านการวินิจฉัยและรักษาโดยบุคลากรเหล่านั้น ส่วนการขายยาในร้านขายยา จะกระทำสำหรับผู้มารับบริการที่ร้านยา โดยมีเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้าย

[caption id="attachment_338023" align="alignnone" width="4608"] อย. ย้ำ! ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ คุ้มครองผู้บริโภคในการใช้ยาอย่างเข้มข้น pharmacy store interior with medicine, vitamin, food supplement and healthcare over the counter product on medical shelves blur drugstore for background[/caption]

related