svasdssvasds

เหตุไลออนแอร์ตก สะท้อนปัญหาความปลอดภัย ด้านการบินของอินโดนีเซีย

เหตุไลออนแอร์ตก สะท้อนปัญหาความปลอดภัย ด้านการบินของอินโดนีเซีย

เหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของสายการบินไลออนแอร์ตกที่อินโดนีเซีย ทำให้อุตสาหกรรมการบินอินโดนีเซียเป็นที่จับตามองอีกครั้งในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย

สถานีข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลออสเตรเลียคนหนึ่งได้บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า หลังเกิดเหตุเครื่องบินไลออนแอร์ตกเมื่อวานนี้ที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการแนะนำเจ้าหน้าที่รัฐบาลและบริษัทที่เกี่ยวข้องเลี่ยงการโดยสารสายการบินดังกล่าวจนกว่าจะทราบผลการสอบสวนที่แน่ชัด

ทั้งนี้ ไลออนแอร์เป็นหนึ่งในสายการบินหลายสิบสายของอินโดนีเซียที่เคยถูกห้ามบินเข้าน่านฟ้ายุโรปตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 หลังเกิดอุบัติเหตุทางอากาศหลายครั้งและมีความกังวลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย

ในปี 2007 นี้เอง เครื่องบินของสายการบินการูดา แอร์ไลน์ พร้อมผู้โดยสาร 140 คนไถลออกนอกรันเวย์ที่เมืองยอกยอกาตาร์ และเกิดเพลิงไหม้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน

ต่อมาในปี 2013 เครื่องบินโบอิ้ง 737 ของไลออนแอร์ ก็ลงจอดที่รันเวย์และตกลงไปในทะเลใกล้เกาะบาหลี ทำให้ผู้โดยสารต้องว่ายน้ำหนีตาย และในปีเดียวกัน เครื่องบินโบอิ้ง 737 อีกลำของไลออน แอร์ชนกับวัวตัวหนึ่งขณะลงจอดที่สนามบินในเมืองโกรอนตาโล

ขณะที่ในปี 2014 เครื่องบินของสายการบินแอร์ เอเชีย เที่ยวบิน 8501 ตกลงในช่องแคบคาริมาตาขณะกำลังบินจากเมืองสุราบายา ไปยังประเทศสิงคโปร์ ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งลำรวม 162 คน

อย่างไรก็ตาม หลายปีต่อมา มาตรฐานด้านความปลอดภัยของหลายสายการบินหลัก รวมถึงไลออน แอร์ มีการพัฒนาดีขึ้น จึงถูกถอดออกจากบัญชีดำ และในปีนี้เอง สายการบินอื่นๆที่เหลือของอินโดนีเซียก็ได้ถูกถอดออกจากบัญชีดำของยุโรปหมดแล้ว

ทั้งนี้ สหรัฐฯก็ใช้มาตรการห้ามบินเข้าน่านฟ้ากับสายการบินของอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน แต่ได้มีการยกเลิกการแบนไปแล้วในปี 2016

ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างแหล่งข่าวระบุว่า การห้ามสายการบินของอินโดนีเซียเข้าน่านฟ้าในช่วงปี 2007 นั้น เป้นมาตรการกดดันไปยังรัฐบาลอินโดนีเซีย ว่าต้องเอาจริงในเรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยของการบิน มากกว่า การกดดันไปที่ผู้ประกอบการโดยตรง

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยเกาะเล็กเกาะใหญ่มากกว่า 13000 เกาะ จึงทำให้อุตสาหกรรมการบินในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพราะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายและเร็ว ปัจจุบัน อินโดนีเซียคือตลาดการบินภายในประเทศใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ตามหลังสหรัฐฯ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น

ซีเอพีเอ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเรื่องอุตสาหกรรมการบินในออสเตรเลีย ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศของอินโดนีเซียเพิมขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 97 ล้านคนในปี 2017 ถือว่าเพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2005 เลยทีเดียว และจากสถิติปีที่แล้วพบว่า ไลออน แอร์ยังครองสัดส่วนตลาดการบินภายในประเทศถึง 51%  อีกด้วย

 

related