ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรี “ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” สิ้นสุดลง เป็นเหตุให้หลุดเก้าอี้ ส.ว. ขณะหม่อมหลวงปนัดดา-สุวิทย์-ไพรินทร์ รอด
วันนี้ (27 ส.ค. 62) องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังค์อ่านคำพิพากษาในคดีที่ กกต. ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (5) กรณีการถือครองหุ้นสัมปทานกับหน่วยงานรัฐ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่าการถือครองหุ้นในบริษัทสัมปทานรัฐก่อนเข้าดำรงตำแหน่งไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ หม่อมหลวงปนัดดา และนายไพรินทร์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว แม้จะถือครองหุ้นมาก่อนดำรงตำแหน่ง ก็ไม่เป็นการกระทำต้องห้าม
ส่วนกรณีนายสุวิทย์ แม้จะมีหุ้นในบริษัท แฟมิลี่ บิสสิเนส โซไซตี้ จำกัด 19,000 หุ้น แต่ที่ประชุมวิสามัญได้มีมติให้เลิกกิจการ ก่อนที่นายสุวิทย์จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี จากนั้น บริษัทดังกล่าวได้ตั้งให้ภรรยาของนายสุวิทย์เป็นผู้ชำระบัญชี ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะอยู่ระหว่างการชำระบัญชีในขณะที่นายสุวิทย์ดำรงตำแหน่ง ก็ไม่ถือว่าประกอบกิจการ เพราะได้เลิกกิจการไปแล้ว จึงถือว่า ไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ ศาลเห็นว่ากระทำการต้องห้าม เนื่องจากคู่สมรสได้ซื้อหุ้น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือว่า เป็นบริษัทคู่สัญญาสัมปทานหน่วยงานรัฐ เพิ่มอีก 800 หุ้น จากเดิมที่มีอยู่ 4,200 หุ้น ภายหลังจากที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีแล้ว แม้ภายหลังจะขายหุ้น หลังถูก กกต.ตั้งเรื่องสอบ ก็ไม่อาจลบล้างการกระทำได้ จึงถือว่า เป็นการกระทำในลักษณะต้องห้าม เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ส่วนข้อโต้แย้งว่า ไม่ทราบมาก่อน ว่าเป็นบริษัทสัมปทานรัฐนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อจะลงทุนก็ย่อมมีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบริษัทนั้นก่อน หากยินยอมให้มีเหตุอ้างว่าไม่รู้ ก็จะไม่สามารถใช้บังคับกรณีผลประโยชน์ขัดกันได้ แม้จะมีหุ้นเพียงเล็กน้อย ไม่มีอำนาจในการบริหารบริษัทนั้น ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุจำนวนหุ้นหรือต้องมีอำนาจในการบริหาร แม้จะมีหุ้นเดียวก็ถือว่า มีหุ้นอยู่ในบริษัทที่เป็นคู่สัญญาของรัฐ จึงส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวมีผลนับจากวันที่ลาออกจากตำแหน่ง 9 พ.ค. 2562 และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายแพทย์ธีระเกียรติดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.ทันที ทำให้นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ ซึ่งอยู่ในรายชื่อ ส.ว.สำรองลำดับที่ 2 ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน