สธ.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีผู้ป่วยเพิ่มเติม เผยเตรียมร่างประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว รอเสนอคกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เคาะวันที่ 24 ก.พ.นี้
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ล่าสุดวันนี้(20กพ.)ว่า จำนวนผู้ป่วยสะสมยังเท่าเดิม 35 ราย รักษาหายแล้ว 17 ราย เหลือนอน รพ. 18 ราย ทุกรายอาการปกติดี ส่วน 2 คนที่มีอาการรุนแรงขณะนี้อาการทรงตัวและคงที่
โดยทั้ง 2 คนได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคอิโบลา แม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่เมื่อมีข้อมูลการใช้รักษาว่าได้ผล เราจึงมีการเตรียมพร้อมที่นำมาใช้ ซึ่งตามปกติการนำมารักษาโรคหนึ่งมาใช้กับอีกโรคหนึ่ง จะมีคณะกรรมการยาพิจารณารับรอง แต่กรณีคนไข้โรคอุบัติใหม่จะมีการยกเว้นและเตรียมความพร้อมให้ใช้ได้
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า สำหรับคนไทยบนเรือสำราญไดมอนด์ปรินเซสที่ประเทศญี่ปุ่น ผลตรวจเจอเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จำนวน 2 คน เป็นลูกเรือ 1 คน และนักท่องเที่ยว 1 คน ได้รับการดูแลรักษาแล้ว ส่วนอีก 1 คนที่ตรวจแล้วไม่เจอเชื้อและจะเดินทางกลับไทยนั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการของประเทศญี่ปุ่นว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น ต้องเฝ้าระวัง 14 วันก่อนกลับหรือไม่ หรือให้เดินทางกลับได้เลย ซึ่งตรงนี้อยู่ระหว่างการประสานงานว่าเป็นเช่นไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อันตรายหรือไม่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค บอกว่า เรื่องนี้เรามีการพิจารณามาตั้งแต่เดือน ม.ค. แต่ข้อมูลขณะนั้นยังไม่ชัดเจนในเรื่องการติดต่อจากคนสู่คน จึงยังไม่ได้ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย แต่ขณะนี้ข้อมูลมีความชัดเจนแล้วในหลายๆ เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการด้านวิชาการได้มีการประชุมสัปดาห์ก่อน ก็พิจารณาเห็นชอบในการจัดทำร่างประกาศเสนอคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 24 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ การประกาศโรคติดต่ออันตราย จะทำให้การบริการจัดการโรคนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการต่างๆ จะใช้วิธีขอความร่วมมือ แต่ถ้าประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว การดำเนินงานจะให้กฎหมายเป็นตัวนำ ซึ่งจะมีคำสั่งข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจนหากไม่ให้ความร่วมมือ
"การพิจารณาเป็นโรคติดต่ออันตราย หลักเกณฑ์ก็คล้ายกับการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก คือ โรคที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเป็นเชื้อใหม่ มีความรุนแรง เช่น ป่วยตายสูง ซึ่งช่วงแรกในประเทศจีนเป็นเช่นนั้น มีการป่วยแพร่ระบาดเร็วข้ามประเทศ โดยหลายประเทศก็ยกระดับเป็นโรคสำคัญมากกว่าโรคติดต่อทั่วไปแล้ว"