svasdssvasds

รักษาหายได้! เรื่องจริงจากปาก พนักงานต้อนรับสนามมวย ผู้รอดตายจากโควิด 19

รักษาหายได้! เรื่องจริงจากปาก พนักงานต้อนรับสนามมวย ผู้รอดตายจากโควิด 19

เปิดใจ! พนักงานต้อนรับชาวต่างชาติในสนามมวย ผู้รอดตายจากการติดเชื้อโควิด 19 เป็นแล้วรักษาหายได้แค่ใช้ความเข้าใจไม่ใช่รังเกียจ

วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง หรือว่า โต้ง เป็นพนักงานต้อนรับชาวต่างชาติสนามมวย ที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนสุขภาพดีแข็งแรงคนหนึ่ง ในวัย 39 ปี  โต้งเล่าว่าตั้งแต่เด็กจนโตตัวเองเคยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลแค่ครั้งเดียวในชีวิต แต่เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตัวเองมีไข้และเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว จึงไม่ได้คิดว่านี่จะเป็นอาการเริ่มต้นของการติดเชื้อโควิด 19 ที่ขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยยังไม่ถึงหลักร้อยคน

"11 มีนาคม ผมมีอาการไข้ขึ้นประมาณ 38 องศา และอาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว วันนั้นผมยังทำงานอยู่ พอเลิกงานกลับบ้านก็กินยา พักผ่อน พอวันที่ 12 ก็ไม่ได้ไปทำงานพักผ่อนต่อ อาการดีขึ้นกินยาไปไข้ก็ลด วันที่ 13 มีนาคม อาการก็ดีขึ้นทุกอย่างไข้ไม่มี ก็คิดว่าน่าจะไม่มีอะไร แต่วันนั้นมีข่าวว่าคุณแมทธิวติดโควิด และติดจากที่สนามมวย ซึ่งวันนั้นเราก็ไปทำงาน ก็เลยคิดว่าเริ่มมีความเสี่ยง และคนรอบช้างเขาก็ไม่สบายใจอยากให้ไปตรวจ วันที่ 14 มีนาคม จึงไปตรวจที่ศิริราช"

ช่วงเวลาที่นั่งรอผลตรวจกว่า 8 ชั่วโมงในจุดที่โรงพยาบาล โต้ง เล่าว่าไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลหากผลออกมาว่าตัวเองติดเชื้อเพราะมั่นใจในทีมแพทย์ของโรงพยาบาล แต่สิ่งที่ทำให้กังวลใจคือคนรอบตัวที่เพิ่งได้เจอกัน

"ผลออกมาตอนห้าทุ่มก็มีเจ้าหน้าที่ใส่ชุด PPE เข็นรถมาบอกเชิญครับ  ด้วยลักษณะของการมารับมันก็ชัดเจน ตอนที่รู้ว่าเราติดเชื้อก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าแค่ไข้หวัดธรรมดา  และถ้าเป็นคนปกติที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวเดี๋ยวมันก็คงจะหายไปเอง เราก็เลยไม่ได้กังวลใจเรื่องของตัวโรค แต่ก็แอบคิดนิดนึงว่าทำไมตัวเองซวยเหมือนว่าหนึ่งในล้าน ตอนนั้นคนติดเชื้อยังไม่ถึงร้อยในประเทศไทย แต่กลายเป็นว่าเรากังวลเรื่องคนรอบข้างว่าจะมีใครติดหรือเปล่า แฟน เพื่อนๆ ญาติที่เราได้พบในช่วงนั้น ซึ่งผลก็คือไม่มีใครติดเลยแต่พวกเขาก็มาตรวจและกักตัวด้วยเหมือนกัน"

โควิด-19,โควิด 19

ชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิดโรงพยาบาล

"ผมแอดมิทที่โรงพยาบาลศิริราชก่อนตอนที่ตรวจเจอเชื้อ อยู่ไป 10 กว่าวัน อาการผมก็ไม่มีอะไร ตอนแรกเขาจะให้กลับบ้าน แต่เนื่องจากผมไม่สะดวกผมอยู่กับแฟน กลับบ้านก็ต้องมากักตัวเองอีกให้ครบ 28 วัน  เขาก็เลยส่งตัวไปโรงพยาบาลสนามศูนย์การแพทย์กาญจนา  ศาลายา ไปกักตัวที่นั่นต่อ ตัวผมไม่มีอาการอะไรเลยตอนอยู่โรงพยาบาล แต่วันแรกที่แอดมิทต้องเข้าไปอยู่ในห้องความดันลบมีกระจกล้อมรอบเพื่อเฝ้าดูอาการ ห้องปลอดเชื้อ อยู่ในนั้น 2 วัน"

"พอ 2 วันไม่มีอะไรก็ย้ายไปอยู่ห้องเดี่ยวอีก 2 วันดูอาการไม่มีอะไร ก็ย้ายมาอยู่ห้องรวมในแผนกโควิดที่ศิริราชทำขึ้นมาโดยเฉพาะ ที่ผมอยู่มีเตียงอยู่ประมาณ 20 เตียงซึ่งดีกว่าอยู่ห้องเดี่ยว การอยู่ห้องเดี่ยวทำให้เราคิดมากวิตกกังวลไปเรื่อย เวลาเราอยู่กับตัวเองมากดูข่าวฟังโน่นฟังนี้บางทีก็ทำให้เราคิดเยอะก็จะกลายเป็นหลอนไป ได้ไปอยู่ห้องรวมเรายังได้คุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเหมือนกันก็ช่วยให้เราคลายกังวลไปได้เยอะ"

โควิด-19,โควิด 19

ผลข้างเคียงจากยาทำจิตตก

"ต้องบอกก่อนว่าแต่ละโรงพยาบาลจะไม่เหมือนกันตอนนี้เรายังมีมาตราฐานเป๊ะเหมือนกันทุกโรงพยาบาลทั่วโลก แต่ที่ศิริราชขั้นแรกคือรับผู้ป่วยมาทางคุณหมอจะประเมินก่อนว่าอาการหนักเบาแค่ไหน ถ้าคนอาการหนักเขาก็จะให้ไปอยู่ห้องพิเศษซึ่งมีเครื่องช่วยหายใจ มีการให้ยาฆ่าเชื้อปอดบางคนลงปอดก็ต้องไปตรงนั้นก่อน ถ้าเกิดอาการเบาหน่อยก็ให้ไปอยู่ห้องธรรมดา และพออาการดีขึ้นคุณหมอก็จะให้ยาต้านไวรัส HIV ในช่วงแรกและก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์และข้อมูลการวิจัย"

"อย่างผมช่วงแรกให้กินยาต้านไวรัส HIV 4 เม็ดต่อมื้อ และยาต้านไวรัสมาลาเลีย 1 เม็ดต่อมื้อ วันนึงกินทั้งหมด 2 มื้อ ผมกินทั้งหมด 5 วัน แต่อาการข้างเคียงจากยาต้านไวรัสมันแรงแล้วร่างกายเรามันต่อต้านทำให้ระบบในร่างกายรวนไปหมด อาการรวนของร่างกายที่ผมเป็น ท้องเสีย พะอืดพะอม นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะหายใจไม่สุด ผมตกใจมากตอนแรกอาการเราไม่หนักแล้วทำไมอยู่โรงพยาบาลอาการหนักนอนไม่ได้กินไม่ได้อยู่ 2-3 วัน พอเรารู้สาเหตุว่ามาจากผลข้างเคียงจากยาไม่ใช่จากเชื้อเราก็หายกังวลใจ"

โควิด-19,โควิด 19

เชื้อโรค สภาพร่างกาย การรักษา สะท้อนความรุนแรง

"ความรุนแรงของอาการโควิด มี 3 ปัจจัย ที่จะทำให้อาการรุนแรง หนึ่งเชื้อที่ได้รับเข้าไปปริมาณมากน้อยแค่ไหน บางคนไปจับตรงที่เขาจามมาเต็มๆ และนำเข้าร่างกายปริมาณเยอะมันก็มีผลต่อความรุนแรง และเชื้อก็มีหลากหลายสายพันธุ์ จีน ยุโรป ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็ยังไม่มีผลวิจัยแน่ชัดว่าสายพันธุ์ไหนมันดุสุด ซึ่งคุณหมอก็บอกว่าสายพันธุ์ก็น่าจะมีผล สองสภาพร่างกายของทุกคนที่รับเชื้อ ถ้าเป็นผู้ป่วยที่แข็งแรงย่อมรักษาได้เร็วและหายได้ง่ายกว่า ผู้ป่วยที่ไม่แข็งแรง อย่างที่เห็นกันในข่าวมีโรคประจำตัวพวกนี้จะหนัก เพราะว่าภูมิคุ้มกันเขาน้อยอยู่แล้ว สามกระบวนการรักษาความรวดเร็วในการรักษา ถ้าคุณป่วยรู้ตัวว่าไม่ปกติรีบมาหาหมอการรักษาได้ทันย่อมดีกว่าการรักษาที่ช้า บางเคสที่เสียชีวิตเป็นอาทิตย์ไม่ยอมมาหาหมอ บางคนปล่อยเป็นสิบๆ วัน อาการลงปอดไปเยอะแล้ว ก็จะกู้กลับมายาก"

โควิด-19,โควิด 19

ขาดความเข้าใจจึงเกิดความกลัว

"ผมว่าทุกคนเลยในโลกตอนนี้คือบางทีเราไม่เข้าใจในตัวของโรคว่ามันคืออะไรมันจึงทำให้เราวิตกกังวล ทำให้เรากลัว สิ่งที่เราไม่รู้เราจะกลัว ถ้าเราทำความเข้าใจกับมันให้ได้ รู้วิธีการป้องกัน การแพร่ของเชื้อ เท่านี้แหละ เราจะอยู่กับมันได้แบบสบายใจ ไม่ต้องไปกลัว วิตกจนเกินเหตุ ทุกวันนี้ข้อมูลที่เราได้มามันมีประโยชน์แค่ไม่กี่อย่างเองแต่เราไม่ค่อยเน้น เราจะเน้นตรงที่บิ๊วอารมณ์เรา วันนี้ตายเท่าไหร่ ติดเชื้อเท่าไหร่ พวกนี้มันเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องรู้ก็ได้รู้ไปมันก็บั่นทอนจิตใจเรา เราควรจะรู้ว่าโรคนี้มันติดต่อยังไง มันมีวิธีป้องกันยังไง วิธีป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อทำยังไงแค่นั้นเอง สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำเลยว่าอยากให้เชื่อฟังคุณหมอมากกว่าการไปฟังคนอื่น หรือข้อมูลที่แชร์กันจริงบ้างไม่จริงบ้างไม่รู้ แต่ที่คุณหมอพูดทุกๆ วันคือของจริงและมันเป็นประโยชน์"

โควิด-19,โควิด 19

โควิด19 รักษาหายได้ 

"เพื่อนๆ ที่เคยติดเชื้อรักษาตัวด้วยกันหลายๆ คนมีปัญหาในการใช้ชีวิตเพราะว่ามันเหมือนเป็นทัศนคติบางอย่างที่ผิดเพี้ยนอยู่ เช่น คนที่หายแล้วมีโอกาสกลับไปติดเชื้อใหม่ อาจจะแพร่เชื้อได้อีก ซึ่งมันไม่จริงคุณหมอได้ยืนยันแล้วคนที่หมอปล่อยกลับบ้านแล้วทุกคนไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว เพราะว่าถ้าปล่อยคนที่ยังแพร่เชื้อได้ออกไปใครที่จะเหนื่อย เดือดร้อนก็คือบุคคลาการทางการแพทย์ทุกคน"

"ซึ่งความคิดที่ว่าออกจากโรงพยาบาลแพร่เชื้อได้อยู่อันนี้ค่อนข่างอันตรายมากๆ คุณหมอยืนยันว่ายังไม่มีเคสที่รักษาหายแล้วกลับมาแพร่เชื้อได้อีกในโลกนี้ยังไม่มี ส่วนเคสที่หายไปแล้วและกลับไปตรวจผลเป็นบวกอีกมันคือซากไวรัสที่มันตายแล้วแต่มันยังอยู่ในร่างกายแต่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้วล้านเปอร์เซ็นต์ ผมเข้าใจว่าความระแวงมันมีแต่หากคุณหมอพูดขนาดนี้ ไม่เชื่อหมอแล้วเชื่อใคร และส่วนใหญ่ที่พบคนติดเชื้อที่หายออกไปแล้วจะเชื่อหมอกันทั้งนั้น"

"แต่คนที่ไม่เชื่อคือคนรอบข้างคนติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ และให้คนที่เคยติดเชื้อมาตรวจซ้ำๆ ทำให้คุณหมอต้องเสียเวลาในการทำงานอย่างมาก เพราะต้องมาอธิบายความเข้าใจกันใหม่ รวมถึงพฤติกรรมการรังเกียจคุณไม่ต้องกลัวคนที่เขาเคยติดเชื้อเพราะการเคยติดเชื้อทำให้มีภูมิคุ้มกันมากกว่าคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อ ใครที่ไม่เคยติดเชื้อก็มีวิธีป้องกัน วิธีดูแลตัวเองก็ทำไปตามที่ทางการแพทย์แนะนำ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน ล้างมือบ่อยๆ ถ้าเข้าใจเราก็อยู่ด้วยกันได้"

related