svasdssvasds

30ปี จากไปรษณีย์ไทย สู่ เกาะปันหยี

30ปี จากไปรษณีย์ไทย สู่ เกาะปันหยี

บนพื้นที่ห่างไกล กลางทะเลไทย เกาะปันหยี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีชุมชนอาศัยอยู่มายาวนาน และแม้จะเป็นที่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ แต่ไปรษณีย์ไทยและการสื่อสารยังคงดำเนินมาได้อย่างต่อเนื่องนับจนถึงบัดนี้ ร่วม 30 ปี แล้ว ด้วยการทำงานอย่างมุ่งมั่นของ พนักงานนำจ่ายหญิงเพียงคนเดียว

"เกาะปันหยี" หรือหมู่บ้านกลางน้ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นหมู่บ้านของชาวมุสลิมที่ตั้งเรียงรายบนพื้นที่เล็กๆ กลางทะเล มีระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 7 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติและสัตว์ทะเล ตลอดจนมีร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหารมากมายบนเกาะ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกนิยมแวะเวียนมาชื่นชมความงามไม่ขาดสาย

ชุมชนเล็กๆ บนเกาะแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งโดยใช้เวลาเดินทางด้วยเรือกว่า 30 นาที และสามารถติดต่อเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ได้ปกติเหมือนกับที่อื่นๆ โดยมีตัวกลางการสื่อสารด้วยหน่วยงานสำคัญอย่างไปรษณีย์ไทย ผ่าน 'พิชชานันท์ เหมมินทร์' เจ้าหน้าที่นำจ่ายหญิงที่สวยที่สุดเพียงคนเดียวบนเกาะ ที่ส่งทั้งจดหมาย เอกสาร และพัสดุต่างๆ กับการบริการด้วยใจ ไม่ว่าลำบากเพียงใดก็ไปส่งถึงมือชาวเกาะปันหยีทุกคน

ตลอดระยะเวลา 30 ปี ของ 'พิชชานันท์' หรือ "พี่นันท์" ในเส้นทางอาชีพเจ้าหน้าที่นำจ่ายหญิงเพียงหนึ่งเดียวแห่ง 'เกาะปันหยี' กับภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการนำจ่ายเอกสาร พัสดุ EMS และ COD ซึ่งการทำงานในแต่ละวันเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ไม่บั่นทอนแรงใจของ 'พี่นันท์' ได้เลย โดยภารกิจตอนเช้าเริ่มต้นด้วยการนั่งเรือจากเกาะ ปันหยี เพื่อขึ้นฝั่งไปรับเอกสารหรือพัสดุที่ไปรษณีย์พังงา และต้องรีบนำกลับไปที่เกาะเพื่อทำบัญชีและรายการนำจ่ายให้ทันส่งให้แต่ละบ้านทุกวัน ทั้งนี้ เกาะปันหยีเป็นพื้นที่ที่มีกว่า 233 ครัวเรือน มีประชากรกว่า 1,400 คน 'พี่นันท์' จึงต้องใช้จักรยานคู่ใจปั่นไปส่งจดหมายและพัสดุจนเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน และด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ทำให้ 'พี่นันท์' สามารถจดจำชื่อ และบ้านเลขที่ของทุกคนบนเกาะปันหยีได้อย่างแม่นยำ

30ปี จากไปรษณีย์ไทย สู่ เกาะปันหยี

 

"ที่เกาะปันหยีแห่งนี้ เราเป็นเจ้าหน้าที่นำจ่ายของไปรษณีย์ไทยเพียงคนเดียว เรารู้จักพื้นที่ในเกาะแห่งนี้เป็นอย่างดี และสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานนี้คือ จำบ้านเลขที่ได้ทุกบ้าน จำชื่อ นามสกุลทุกคนได้หมด ซึ่งเกาะปันหยีมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ และมีนามสกุลซ้ำกันเยอะเราก็จำได้ แม้กระทั่งแมวบนเกาะเราก็จำได้ว่าเจ้าของเค้าอยู่บ้านหลังไหน ส่งของมาทุกบ้านแล้วเพราะเราทำงานนี้มานาน ทุกวันนี้เราทำงานด้วยใจจริงๆ และคิดว่าจะทำหน้าที่ส่งไปรษณีย์ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะผูกพันกับทุกคนบนเกาะเหมือนเป็นญาติกันแล้ว บางคนส่งลูกไปเรียนไกลบ้าน เค้าก็อยากส่งของไปให้ลูก หรือบางคนเค้าก็ส่งของไปให้ลูกที่อยู่ในเรือนจำ เราก็อยากให้ของถึงมือลูกเค้าเร็วที่สุด บางคนรอเอกสารจากราชการที่สำคัญเราก็ต้องรีบส่งให้ถึงมือ เห็นทุกคนมีความสุขเราก็มีความสุขไปด้วย นั่นล่ะคือความภาคภูมิใจในหน้าที่ของเรา" พิชชานันท์ กล่าว

ด้วยข้อจำกัดของเกาะปันหยีที่เป็นเกาะอยู่กลางทะเล ทำให้การไปรับหรือส่งของที่ชายฝั่งต้องใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการข้ามฝากขึ้นชายฝั่ง จึงมีความยากลำบากเพราะมีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศในแต่ละวัน แต่นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ยืนยันได้ว่าไปรษณีย์ไทยอยู่เคียงข้างคนไทยในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน และถึงแม้จะมีอุปสรรคในการขนส่งเพียงใด ก็ไม่อาจหยุดยั้งความตั้งใจที่จะส่งมอบบริการด้วยใจในทุกๆ วัน

30ปี จากไปรษณีย์ไทย สู่ เกาะปันหยี

พิชชานันท์ กล่าวต่อว่า "ความลำบากคือบางทีสภาพอากาศไม่ดี มีฝน มีพายุเข้าหนักๆ ก็ต้องหยุด เพราะเรือไม่สามารถข้ามไปฝั่งได้ แต่ถ้าไม่หนักมากเราก็ไม่ค่อยหยุดเพราะอยากไปนำของมาส่งให้ทุกคน กลัวว่าเค้าจะมีเอกสารหรือพัสดุด่วนที่ต้องใช้ แต่ละวันเราต้องนำจ่ายของให้ถึงมือผู้รับให้หมดทุกชิ้น บางวันมีจดหมายและพัสดุ 100 กว่าบ้าน เพื่อความรวดเร็วเราก็ใช้จักรยานปั่นไปส่งตามบ้าน ซึ่งที่เลือกใช้จักรยานเพราะมีหนึ่งภารกิจที่สำคัญของชาวเกาะอย่างเราคือ การเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบนเกาะ เกาะปันหยีเป็นบ้านของเรา และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย ก็ต้องรักษาบ้านเราให้สวยงามและอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ"

 ถึงแม้จะมีเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคในการทำงานอยู่บ้าง แต่การเป็นเจ้าหน้าที่นำจ่ายหญิงหนึ่งเดียวแห่ง 'เกาะปันหยี' ก็เป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่พิชชานันท์ภาคภูมิใจ ที่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้คนในชุมชนบนเกาะและคนภายนอกเกาะปันหยี และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ส่งของถึงมือผู้รับทุกคน

30ปี จากไปรษณีย์ไทย สู่ เกาะปันหยี

related