พาไปไล่เรียงดูเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันที่กระทบเศรษฐกิจไทยมากที่สุด และเหตุการณ์นั้นตรงไปสมัยใครเป็นนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจไทยก็ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว มีดีบ้าง ตกต่ำบ้างคละเคล้ากันไปเหมือนกับชีวิตคนเรามีทุกข์มีสุข ยุคใดที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูปากท้องผู้คนก็ได้กินอิ่มนอนอุ่น ความสุขของผู้คนในสังคมก็มีมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลดีต่อทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่มีมากขึ้น สินค้าเกษตรราคาดี ส่งออกสดใส การบริโภคในประเทศคล่องตัว ประชาชนมีกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอย เรียกได้ว่าดีทั้งระบบจริง ๆ
แต่...หากในปีใดที่เศรษฐกิจย่ำแย่ก็ดูเหมือนทุกอย่างจะแย่ตามไปหมดทั้งสภาพจิตใจ และการทำมาหากินเรื่องปากเรื่องท้องของผู้คนก็จะตกต่ำตามไปด้วย หากจะว่าไปแล้วก็มีหลายเหตุการณ์ที่เขย่าเศรษฐกิจไทยให้สะเทือนไม่น้อยแต่สุดท้ายบ้านเราก็เอาตัวรอดผ่านมันมาได้หมด ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจไทยก็เจอบททดสอบใหญ่ อย่าง โควิด -19 ที่ยังต้องลุ้นก็ว่าเราจะผ่านมันไปได้ยังไง ?
ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องโควิด -19 กับเศรษฐกิจไทยวันนี้ “สปริงนิวส์”จะพาไปย้อนรอยว่ามีเหตุการณ์ไหนที่สำคัญ ๆ เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยให้สั่นคลอนบ้างในอดไตถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 สมัยที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปีนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญกับเศรษฐกิจไทยที่น่าจดจำ หรือที่เรียกติดปากกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง
โดยมีสาเหตุหลักมากจาก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาหนี้ต่างประเทศ ารลงทุนเกินตัว และฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกิดปัญหาความไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงินในประเทศ ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย รวมถึงการถูกนักลงทุนต่างชาติโจมตีค่าเงินบาท ตอนนั้นเศรษฐกิจทุกอย่างล้มระเนระนาด และเกิดฟองสบู่อสังหาฯ ปิดกิจการกันจำนวนมาก ผู้คนตกงานสูงมาก
ถัดมาคือเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลือง ในปี 2548 ซึ่งตรงกับยุคของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นการชุมนุมของผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง มีการปิดสนามบิน และสถานที่สำคัญหลายที่ ส่งผลให้การขนส่ง โลจิสติกส์ หยุดชะงักไปชั่วคราว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักสุดต่างชาติชะลอ และยกเลิกการเดินทางสุด ๆ ทำให้ไทยสูญเงินมหาศาล
เหตุการณ์ต่อมา คือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกา ในปี2551 ตรงกับยุคของนายกสมัคร สุนทรเวช แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดในต่างประเทศ แต่เกิดในประเทศเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลก จึงทำให้กระทบไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน ผัวผวน
เหตุการณ์สำคัญต่อมาคือ ม็อบเสื้อแดง ในปี 2553 ตรงกับยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้นก็มีการชุมนุมกันในหลายพื้นที่สำคัญๆของกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด เหตุการณ์นี้กระทบต่อการท่องเที่ยวเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติหวาดกลัวยกเลิกการเดินทางมายังไทย หลายประเทศออกเตือนนักท่องเที่ยวห้ามเดินทางมาไทย อีกทั้งยังกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ในไทยด้วย
ห่างกันเพียง 1 ปี ประเทศไทยก็เจอศึกหนักอีกเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ยุคนั้นนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นส่วนใหญ่น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางที่เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ทำให้โรงงาน และแรงงาน ภาคการผลิตได้รับความเสียหายจำนวนมาก กระทบต่อการส่งออก และกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่จะลงทุนใหม่ นอกจากนี้ยังกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ การค้าการขายในเมืองหลวง รวมถึงการท่องเที่ยวถูกต่างชาติยกเลิกจำนวนมาก
จากนั้นอีก 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นในประเทศไทยในปี 2557 อย่างไรก็ตามตอนนั้นหลังรัฐประหารก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงทำให้กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และกระทบความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างชาติเพราะมีหลายชาติมองว่ารัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย
เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เจอศึกหนักแต่เพียงที่กล่าวมาข้างต้น เพราะในปลายปี 2562 ลากยาวมาถึงต้นปี 2564 ไทย และทั่วโลกยังเผชิญกับการระบาดของโควิด- 19 ที่ทำเอาเศรษฐกิจทุกอย่างล้มระเนระนาด คนตกงาน ถูกจ้างให้ออกจากงานจำนวนมาก เหตุการณ์ในครั้งนี้นักธุรกิจ และหลายคนบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่บั่นทอนเศรษฐกิจไทยไม่ให้เติบโต ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าโควิด- 19 จะพ่นพิษใส่เศรษฐกิจไทยไปถึงไหนกัน เพราะตอนนี้ยังไม่มีทีท่าที่จะคุมมันอยู่ได้เลย !