svasdssvasds

เปิดกลยุทธ์สื่อสาร "นายกฯ สิงคโปร์" ทำความเข้าใจ Entertainment Complex

เปิดกลยุทธ์สื่อสาร "นายกฯ สิงคโปร์" ทำความเข้าใจ Entertainment Complex

เปิดวิธีการสื่อสารของ "นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์" ทำความเข้าใจประชาชนก่อนลุย Entertainment Complex ที่มีกาสิโน

การพัฒนานโยบายสำคัญอย่างสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อสังคม แม้กระทั่งที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำประเทศใช้ระยะเวลาในการสื่อสารอย่างโปร่งใส และการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน และมีการวางมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด 

กลยุทธ์การสื่อสารของสิงคโปร์

เมื่อนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ต้องเผชิญกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจในการพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโน ในปี พ.ศ. 2548 เขาไม่ได้เลือกวิธีการผลักดันนโยบายแบบเร่งด่วน แต่ใช้กระบวนการสื่อสารที่โปร่งใสและสมดุล โดยยอมรับตรงไปตรงมาทั้งความจำเป็นทางเศรษฐกิจและความกังวลด้านสังคม

ในการแถลงต่อรัฐสภาสิงคโปร์ ลี เซียนลุง ไม่ได้เน้นย้ำแต่เพียงตัวเลขรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น แต่อธิบายความจำเป็นเชิงยุทธศาสตร์ที่สิงคโปร์ต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันกับศูนย์กลางการท่องเที่ยวอื่นๆ ในภูมิภาค เขาคาดการณ์ว่าหากขาดสิ่งดึงดูดใหม่ นักท่องเที่ยวของสิงคโปร์อาจหดตัวลง

สิ่งที่โดดเด่นในการสื่อสารของผู้นำสิงคโปร์คือ "การไม่หลีกเลี่ยงประเด็นละเอียดอ่อน"  แต่กลับยอมรับอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับผลกระทบทางสังคม ความมั่นคงและความปลอดภัย รวมถึงความกังวลเรื่องอาชญากรรมและการฟอกเงิน พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบว่าจะมีการออกมาตรการรับมือปัญหาเหล่านี้

ประเด็นที่ผู้นำสิงคโปร์ แสดงความกังวลที่สุดคือ "การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม" โดยเฉพาะความกลัวที่ว่าประชาชนอาจหันไปหวังรวยจากการพนันแทนการทำงานหนัก เขาเน้นย้ำอย่างชัดเจนว่าค่านิยมความสำเร็จที่เกิดจากการทำงานหนัก ความมานะ บากบั่น และพากเพียร จะต้องดำรงเอาไว้

ความกังวลของประชาชนสิงคโปร์

ข้อถกเถียงสำคัญในสิงคโปร์เกี่ยวกับนโยบายกาสิโนไม่ได้มีพื้นฐานมาจากประเด็นศีลธรรม หรือคุณธรรมเท่านั้น แต่เป็นความกังวลเชิงระบบเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการมีแหล่งการพนันขนาดใหญ่

ชาวสิงคโปร์มีความเข้าใจที่ชัดเจนในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างการพนันทั่วไป กับการพนันในแหล่งขนาดใหญ่ พวกเขามองว่ากาสิโนขนาดใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะการติดการพนัน การเสียพนัน และการสิ้นเนื้อประดาตัว

ในสังคมของภูมิภาคเอเชียที่มีพื้นฐานครอบครัวขยาย ปัญหาผู้ติดการพนันไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งครอบครัว มีความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมที่จะเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะการติดการพนัน

การดีเบตที่ยังไม่จบสิ้น

แม้ว่าสิงคโปร์จะมีวิธีการจัดการผลกระทบทางสังคมในแบบฉบับของตนเอง รวมถึงการตั้งสภาแก้ไขปัญหาการติดพนันแห่งชาติ มาตรการห้ามผู้ประกอบการให้ยืมเงินหรือใช้บัตรเครดิตเล่นกาสิโน และการจำกัดการตลาดสำหรับพลเมืองสิงคโปร์ แต่ "ดีเบตว่าด้วยกาสิโน" ก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องแม้จะเปิดดำเนินการมาหลายปีแล้ว

คำถามสำคัญที่ยังคงอยู่คือ แม้ในท่ามกลางมาตรการต่างๆ ของรัฐ เหตุใดกาสิโนขนาดใหญ่จึงยังคงไม่ปลอดภัยต่อสังคมและครอบครัว และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น

โมเดลสิงคโปร์จึงมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในดีเบตระหว่างการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการแตกสลายของครอบครัวและสังคม ที่ยังคงถกเถียงกันไม่เสร็จมาจนปัจจุบัน

มุมมองทางวิชาการของไทย

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ชี้ให้เห็นว่า "โมเดลจากสิงคโปร์" มีเสารองรับ 3 เสา ได้แก่

  1. หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator)
  2. หน่วยงานดูแลผลกระทบ
  3. กองทุนแก้ไขปัญหา

แต่กฎหมายของไทยมีเพียงเสาค้ำยันเดียวคือ Regulator ที่ทำหน้าที่ทั้งกำกับดูแลและออกใบอนุญาต โดยขาดทั้งหน่วยงานดูแลผลกระทบและกองทุน

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

อีกทั้งความไม่พร้อมด้านธรรมาภิบาล เป็นอีกประเด็นสำคัญที่นายธนากรชี้ให้เห็น เมื่อพิจารณาจากปัญหาคอร์รัปชัน สิงคโปร์กับไทยห่างกันในดัชนีความโปร่งใสถึงร้อยตำแหน่ง สิงคโปร์อยู่ Top 5 ของโลก แต่เราอยู่อันดับร้อยกว่า"

รัฐบาลไทยควรทำอย่างรอบคอบและไม่รีบร้อน โดยเรียนรู้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จ สิงคโปร์ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะเปิดกาสิโน ส่วนญี่ปุ่นใช้เวลา 20 ปีกว่าจะถกกันจบว่าจะทำกาสิโน และที่สำคัญคือกาสิโนญี่ปุ่นถูกเสนอจากข้างล่างขึ้นมา ไม่ใช่รัฐบาลลงไปจี้

ที่มา : thansettakij

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related