svasdssvasds

ส่อง Portfolio ผู้ว่าฯ กทม. ! กว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีผลงานอะไรบ้าง ?

ส่อง Portfolio ผู้ว่าฯ กทม. ! กว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีผลงานอะไรบ้าง ?

ส่อง Portfolio ผู้ว่าฯ กทม. ตลอด 4 ปี นอกจากประกาศค่าโดยสารอัตราใหม่ รถไฟฟ้าสายสีขียว 104 บาท แล้วมีผลงานอื่นๆ อีกไหม ?

การประกาศอัตราใหม่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แม้ไม่แน่ใจว่า จะเรียกผลงานได้เต็มปากเต็มคำไหม ? แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประกาศดังกล่าวที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ได้ส่งผลกระทบกับผู้คนเป็นจำนวนมาก

โดยตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. การทำหน้าที่ของ พล.ต.อ.อัศวิน ก็มีหลายโครงการได้รับเสียงชื่นชม แต่หลายๆ โครงการ หรือหลายเหตุกาณ์ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยเช่นกัน

เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยวิธีพิเศษ

พล.ต.อ.อัศวิน ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในขณะนั้น ตามประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 64/2559

หลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. ถูกสั่งให้พักราชการ เพื่อเปิดทางให้องค์กรอิสระตรวจสอบ ข้อครหาทุจริตในหลายโครงการของ กทม. ทำให้ พล.ต.อ.อัศวิน กลายเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในรอบ 35 ปี ที่มาจากการแต่งตั้ง

โดย พล.ต.อ.อัศวิน เคยกล่าวถึงกรณีของตัวเองว่า “ผมเข้ามาด้วยคำสั่ง คสช. ถือว่าเป็นผู้ว่าฯ ที่มาด้วยวิธีพิเศษ ก็ต้องทำอะไรให้คนกรุงเทพฯ แบบพิเศษ จะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีผู้ว่าฯ ใหม่ หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

“เนื่องจากมาแบบพิเศษ ก็ไปแบบพิเศษได้ หากทำไม่ดีก็โดนปลดได้ คงไม่เอาชื่อเสียงที่ทำมาทำลายตัวเอง...”

เราลองไปดูกันซิว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. คนนี้ ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง โดยมีผลงาน หรือเหตุการณ์ที่เป็นไฮไลต์ ดังต่อไปนี้  

การแก้ปัญหาน้ำท่วม  

“น้ำท่วมกรุงเทพฯ” คือสถานการณ์ไฟต์บังคับ ที่ทดสอบการแก้ปัญหาของผู้ว่าฯ แต่ละราย โดยผู้ว่าฯ คนก่อนหน้านี้คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไม่น่าประทับใจนัก อีกทั้งได้สร้างวาทกรรม “น้ำรอระบาย” (ที่แปลว่าน้ำท่วมน่ะแหละ) เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ พล.ต.อ.อัศวิน ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากยุคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กรุงเทพฯ ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก หลังฝนตก ทั้งๆ ที่บ่อยครั้ง ฝนไม่ได้ตกหนักเลย

แต่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุด ก็คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 หลังจากฝนตกจนเกิดน้ำท่วมขังบริเวณวงเวียนบางเขน พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สาเหตุที่ระบายน้ำได้ช้า เนื่องจากหากุญแจเครื่องสูบน้ำไม่เจอ ! (อึ้งที่ 1)

โดยได้อธิบายว่า เนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินที่เสร็จสิ้นแล้ว ไม่ได้ส่งมอบงานให้ กทม. เจ้าหน้าที่ กทม. จึงไม่มีกุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำ ! (อึ้งที่ 2)

ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ก็ยอมรับตามตรงว่า เป็นความผิดของ กทม. ส่วนวิธีแก้ปัญหาหลังจากนี้ก็คือ ได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทำกุญแจสำรองไว้หลายๆ ดอก (อึ้งที่ 3)

ส่อง Portfolio ผู้ว่าฯ กทม. ! กว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีผลงานอะไรบ้าง ?

การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นปัญหาที่คนกรุงเหมือนจะทำใจยอมรับได้แล้วว่า จะต้องเจอะเจอทุกปี ในช่วงต้นฤดูหนาว และไม่ได้คาดหวังอะไรกับการแก้ปัญหาของ กทม. มากนัก

แม้ที่ผ่านมาจะมีการประชาสัมพันธ์ถึงการทำงานของ กทม. ในการรับมือ ฝุ่น PM 2.5 แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ต้องบอกว่า ยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนเท่าใดนัก

ส่อง Portfolio ผู้ว่าฯ กทม. ! กว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีผลงานอะไรบ้าง ?

รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

การรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ แม้จะนำพื้นที่ไปจัดทำสวนสาธารณะ และอนุรักษ์โบราณสถานเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ แต่ก็สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคม เพราะเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่อยู่ร่วมกับป้อมมหากาฬมาอย่างยาวนาน ที่หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน

โดย กทม.ได้ประกาศจะนำพื้นที่ชุมชนฯ ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ ตั้งแต่ปี 2546 แต่มีการประท้วงของชาวชุมชน นักกิจกรรม และนีกวิชาการ เพื่อรักษาลมหายใจของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป กระทั่งมีการเข้ารื้อชุมชนในยุคผู้ว่าฯ พล.ต.อ.อัศวิน เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2561

การพัฒนาคลองโอ่งอ่าง

การพัฒนาคลองโอ่งอ่าง จากคลองที่น้ำเน่าเสีย และปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม จนกลายเป็น Land mark แห่งใหม่ของคนเมือง

อีกทั้งยังมีกิจกรรมทางน้ำ พายเรือคายัค และเล่นซับบอร์ด จัดระเบียบแผงค้า ปรับปรุงทางเท้าให้เป็นถนนคนเดิน ที่ประกอบไปด้วย ตลาดนัดชุมชน สตรีทอาร์ต สตรีทฟู้ด เป็นต้น

ส่อง Portfolio ผู้ว่าฯ กทม. ! กว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีผลงานอะไรบ้าง ?

จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ของผู้ว่าฯ กทม. มีการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ปรับปรุงทางเท้าและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อความเป็นระเบียบในหลายพื้นที่ และยังทำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

การประกาศค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว อัตราใหม่

ในแง่ของเส้นทางรถไฟฟ้า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันมีการขยายจนครอบคลุมหลายพื้นที่ แต่ในแง่ของตั๋วค่าโดยสารแล้ว ยังถือว่าสูง หากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่ราว 331 บาท

ซึ่งจากการประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 104 บาท ของผู้ว่าฯ กทม. จึงก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วจะมีทางออกอื่นๆ ที่ดีกว่านี้หรือไม่ ?

related