svasdssvasds

บิ๊กตู่ จัด PODCAST ตอบทุกข้อสงสัย การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

บิ๊กตู่ จัด PODCAST ตอบทุกข้อสงสัย การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

นายกฯ จัด PODCAST ตอบข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19

นายกรัฐมนตรีตอบข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่าน PM PODCAST ดังต่อไปนี้

สาเหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรอย่างเหมาะสม ขณะที่แผนฉีดวัคซีนในประเทศไทยมีความล่าช้าเกินไปหรือไม่ และในอนาคตรัฐบาลมีแผนงานแจกจ่ายวัคซีนระยะยาว ในประเทศไทยอย่างไร ?

นายก : ความพยายามและดำเนินการในการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เริ่มในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2563 ภายหลังจากที่ได้เห็นเงื่อนไขต่าง ๆ จากทั้งผู้ผลิตวัคซีน และ COVAX  ในลักษณะเป็นการจองวัคซีนล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ทราบผลการทดลองวัคซีนเฟส 3

ประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีกลไกการจัดหาวัคซีนที่มีเงื่อนไขในการจ่ายเงินก่อนโดยที่มีโอกาสไม่ได้รับวัคซีนหากการวิจัยล้มเหลว สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการประสานขอคำปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ก็ได้รับข้อแนะนำและหนังสือตอบกลับจากกรมบัญชีกลางว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 ได้

จึงได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561 เพื่อให้สามารถดำเนินการจองวัคซีนล่วงหน้าได้ตามกฎหมายที่มี http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/239/T_0017.PDF

แผนการฉีดวัคซีนได้มีการเตรียมการไว้เพื่อการกระจายวัคซีนในทุกกลุ่มประชากร ตามลำดับความสำคัญที่สอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่จะส่งมอบ

บิ๊กตู่ จัด PODCAST ตอบทุกข้อสงสัย การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

การจัดซื้อวัคซีนมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนบางรายอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ ?

นายกฯ : การจัดซื้อวัคซีนเป็นการพิจารณาตามคุณลักษณะของวัคซีนซึ่งได้แก่ รูปแบบการวิจัย พัฒนา และการผลิตของวัคซีนนั้น ผลการวิจัย ทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ ระยะเวลาในการส่งมอบ การบริหารจัดการวัคซีนที่ต้องใช้ในวงกว้าง การจัดเก็บ การขนส่ง และความชำนาญของบุคลากรที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน

ประโยชน์ระยะยาวที่มีผลต่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ เช่น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เราสามารถต่อยอดการวิจัยพัฒนาในประเทศได้ต่อไป

สาเหตุใดรัฐบาลจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนจากหลายบริษัท แต่เน้นซื้อเพียง 2 บริษัท คือบริษัท แอสตราเซเนกา และซิโนแวคเท่านั้น ถือเป็นความประมาทของรัฐบาลหรือไม่ ?

นายกฯ : การจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าเป็นการแบกรับความเสี่ยง ซึ่งการที่เราได้มีการจองซื้อวัคซีน AstraZeneca เป็นบริษัทแรกได้นั้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประกาศผลวัคซีนของ 3 บริษัทในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน (Pfizer, Moderna และ AstraZeneca) ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่า จะมีวัคซีนอีกหลายรูปแบบที่จะทยอยประกาศผลสำเร็จในการวิจัย

โดยที่เราจะมีข้อมูลพิจารณาการจองซื้อวัคซีนที่ประเทศไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งในเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิผลในการป้องกัน การบริหารจัดการวัคซีนบางชนิดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และอาจเป็นภาระต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องแบกรับภาระการดูแลสุขภาพประชาชนในทุกมิติอยู่แล้ว

บิ๊กตู่ จัด PODCAST ตอบทุกข้อสงสัย การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

การคัดเลือกบริษัทเอกชนที่รัฐบาลจะให้เงินงบประมาณสนับสนุน มีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร มีสัญญาจ้างและแผนดำเนินการเช่นไร ?

นายกฯ : สถาบันวัคซีนแห่งชาติมีการประเมินศักยภาพผู้ผลิตวัคซีนในประเทศทุกแห่ง และมีอนุกรรมการวิชาการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนก่อนให้กรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบ และในส่วนงบประมาณตาม พรก.เงินกู้ฯ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองก่อนการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

แผนการฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากร ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่สังคมได้ ถือเป็นการใช้งบฯ ไม่คุ้มค่า และไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง หรือไม่ ?

นายกฯ : การจัดหาวัคซีนในขณะนี้ จำนวน 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 31.5 ล้านคน และจะสามารถจัดหาได้เพิ่มเติมอีกจนครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายตามความสมัครใจ

หากบริษัทแอสตราเซเนกา ไม่สามารถส่งวัคซีนได้ตามข้อตกลง รัฐบาลมีแผนการดำเนินการเช่นไรต่อไป ?

นายกฯ : การจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นสามารถดำเนินการได้และกำลังดำเนินการอยู่บนข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด อีกทั้งสายการผลิตที่ AstraZeneca สามารถจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งการผลิต เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย

สาเหตุใดถึงไม่ให้องค์การเภสัชกรรมที่มีโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นผู้ผลิตวัคซีน แทนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ต้องทำโรงงานวัคซีนฯ ให้พร้อมก่อน ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน กว่าจะผลิตวัคซีนได้จริง ?

นายกฯ : องค์การเภสัชกรรมไม่สามารถผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ได้ และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ได้รอการทำโรงงานวัคซีนให้พร้อม แต่เวลาที่รอคือรอการผลิตจริงตามมาตรฐาน AstraZeneca ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ ธันวาคม 2563 เพื่อการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

สาเหตุใดถึงให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (ที่มีผลขาดทุน 581 ล้านบาท) ผูกขาดในการผลิตวัคซีนในประเทศไทยเพียงรายเดียว แล้วจะสามารถผลิตวัคซีนได้ทันเวลาหรือไม่ ?

นายกฯ : AstraZeneca เป็นผู้คัดเลือกเอกชนที่จะร่วมดำเนินการ พิจารณาจากความสามารถและศักยภาพของทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของทาง AstraZeneca ซึ่งไม่เกี่ยวกับผลประกอบการเดิม

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ นั้นถูกจัดตั้งขึ้นอันเนื่องมากจากวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่จำเป็นและไม่ได้แสวงผลกำไรแต่อย่างใด

บิ๊กตู่ จัด PODCAST ตอบทุกข้อสงสัย การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ลงทุนผลิตวัคซีนร่วมกับบริษัทแอสตรา เซเนกา อีกทั้งยังใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแต่สาเหตุใดวัคซีนที่ประเทศไทยจะได้รับ จึงมีราคาสูงเท่ากับราคาที่บริษัทแอสตรา เซเนกา ขายให้กับประเทศที่ไม่ได้ลงทุนร่วม ?

นายกฯ : AstraZeneca เป็นผู้กำหนดราคา ที่พิจารณาจากต้นทุนการวิจัย การผลิต และยึดนโยบายราคาเดียวในทุกประเทศที่อยู่ใน Supply Chain ที่จะผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทยได้ประโยชน์มากอยู่แล้วในการได้เทคโนโลยีการผลิตที่จะมีอยู่ในประเทศไทยไปตลอด

เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จแล้ว สิทธิบัตรวัคซีนจะเป็นของบริษัทเอกชนทั้งหมดหรือไม่ และสัญญาร่วมทุนกำหนดให้บริษัทเอกชนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสิทธิบัตรวัคซีน ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ หรือองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำมาผลิตในราคาถูกให้กับคนไทยทั่วประเทศหรือไม่ และหากสิทธิบัตรและเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเป็นสิทธิของบริษัทเอกชนเท่านั้น การร่วมลงทุนจะเป็นการสูญเปล่างบประมาณหรือไม่ ?

นายกฯ : สิทธิบัตรเป็นของ AstraZeneca โดยประเทศไทยซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca ส่วนเทคโนโลยีที่ได้จะเป็นความรู้สำหรับการพัฒนาวัคซีนของเราเองในประเทศ ที่เราต้องมาดำเนินการเอง

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ ?

นายกฯ : ผลข้างเคียงจากวัคซีน เกิดขึ้นได้จากทุกวัคซีน ไม่ใช่จากวัคซีนโควิด-19 การพิจารณาอย่างรอบคอบจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะต้องดูจากข้อมูลการวิจัยอย่างครบถ้วนมากที่สุด และมีหน่วยงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ที่จะดำเนินการอย่างรอบคอบตามมาตรฐานการให้วัคซีนที่ดี

รัฐบาลมีการกีดกันไม่ให้บริษัทเอกชนนำเข้าวัคซีนเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนหรือไม่ ?

นายกฯ : ไม่ได้กีดกัน และรัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะผู้รับผิดชอบ ยินดีให้ทุกบริษัทมาขอขึ้นทะเบียนโดยเปิดช่องทางพิเศษ ปัจจุบันมีผู้มายื่นคำขอขึ้นทะเบียน 3 ราย และได้รับทะเบียนแล้ว 1 ราย คือ บริษัทแอสตราเซนเนกา (ประเทศไทย) จำกัด

หากมีผู้มายื่นคำขอและผ่านหลักเกณณ์ที่กำหนดก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนในระยะต่อไป

บิ๊กตู่ จัด PODCAST ตอบทุกข้อสงสัย การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าต้องฉีดทุกคนหรือไม่ ?

นายกฯ : การฉีดวัคซีนนั้น เป็นการกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้มากกว่าร้อยละ 95 แต่การมีภูมิต้านทานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งหลักการของวัคซีนโควิด-19 มีหลักการที่เหมือนกับวัคซีนโรคไข้หวัด เพียงแต่วัคซีนไข้หวัดจะทดลองจนครบตามกระบวนการทางการแพทย์ที่กำหนดไว้ คือฉีดและติดตามผลอย่างน้อย 1 ปี เพื่อดูผลสุดท้ายว่าผลลัพธ์คือป้องกันได้จริงหรือไม่

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ทำให้ไม่สามารถรอได้ เนื่องจากมียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 แบบฉุกเฉิน โดยหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็จะมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากในขณะนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าวัคซีนโควิด-19 นั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อได้จริงจนกว่าจะครบอย่างน้อย 1 ปี แต่มีผลเบื้องต้นที่สามารถยอมรับได้คือฤทธิ์ข้างเคียงไม่เยอะ เป็นไปตามธรรมชาติ

อย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฤทธิ์ข้างเคียงที่มีข้อมูลคือ เมื่อฉีดไป 1 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 1.1 คน แต่ข้อมูลปัจจุบันของวัคซีนโควิด-19 ถ้านับเป็น 1 ล้านคนมีผู้เสียชีวิต 11 คน ในทางการแพทย์ถือว่ายอมรับได้

หากได้รับการวัคซีนโควิด-19 อาจยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อ แต่โอกาสที่จะป่วยก็มีน้อยลง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องการผ่านการทบทวน กลั่นกรอง และยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ โดยวัคซีน Pfizer และ Moderna  ได้ผลร้อยละ 95 วัคซีน AstraZeneca ได้ผลร้อยละ 90 ของ Sinavac และ Sinopharm ได้ผลร้อยละ 70

หลักเกณฑ์ทั้งหมดถูกกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ประเทศไทยถือมาตรฐานวัคซีนที่ยอมรับได้ร้อยละ 50 เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ฉีดกันเป็นประจำทุกปี

บิ๊กตู่ จัด PODCAST ตอบทุกข้อสงสัย การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อนและหลัง ?

นายกฯ : กลุ่มที่จะต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อนตามลำดับความจำเป็น คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนที่มีโรคร่วม เบาหวาน  ความดัน และกลุ่มผู้สูงวัย

เนื่องจากผู้สูงอายุ หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่มีโรคร่วม หลังจากนั้นก็จะดูความเสี่ยงในพื้นที่ เช่น จ.สมุทรสาคร ที่ในตอนนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าพื้นที่อื่น

และถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อย แต่การได้รับวัคซีนโควิด-19 มานั้นไม่ได้แปลว่าจะเป็นการป้องกันร้อยเปอร์เซนต์ กว่าที่ทั่วโลกจะได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้งหมดอาจใช้เวลาถึง 2 ปี จึงจะรอวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้

ทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งสามารถทำได้เลยไม่ต้องรอและควรทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการปฏิบัติทั้งหมดนั้นเปรียบเหมือนเป็นวัคซีนที่เราทำได้ด้วยกันป้องกันตนเอง

ที่มา นายกรัฐมนตรีตอบข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่าน PM PODCAST

related