svasdssvasds

เปิด 9 ข้อห้ามตำรวจโพสต์สื่อโซเชียล ห้ามเต้น ห้ามตลก และ 5 ข้อควรทำ

เปิด 9 ข้อห้ามตำรวจโพสต์สื่อโซเชียล ห้ามเต้น ห้ามตลก และ 5 ข้อควรทำ

ผบ.ตร. ออกแนวทางคุมตำรวจใช้สื่อโซเชียลให้เหมาะสม หวั่นกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร เปิด 9 ข้อห้ามและ 5 ข้อควรทำ

วันที่ 11 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอตสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรถนะ หัวหน้าจเรตำรวจ ร่วมกันแถลงเปิดตัว “โครงการจัดทำแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการสตำรวจ”

โดยเป็นโครงการที่ใช้แนะนำข้าราชการตำรวจทุกระดับให้เรียนรู้วิธีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเกิดประโยชน์และถูกต้อง หลังพบว่ามีข้าราชการตำรวจใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่เหมาะสม เช่น ล้อเลียน กลั่นแกล้ง แสดงกิริยาขบขันจนเกินขอบเขต ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือจากสังคม รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์ละเมิดบุคคลอื่น หรือกระทำผิดกฎหมายจนเกิดความเสียหายขึ้น สำหรับประเภทข้อมูลข่าวสารที่ไม่ควรเผยแพร่ ในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว

9 ประเภทข้อมูลข่าวสารสื่อโซเชียลที่ตำรวจไม่ควรเผยแพร่

1.ข้อมูล ข่าวสารที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

3.ข้อมูลที่มีเนื้อหาลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือน หรือโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง

4.ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้

5.ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามประมวลกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใดๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร  

6.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยง ในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ

7.ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคมหรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน

8.ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคาม ต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือมัลแวร์ทุกประเภท

9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความตลกขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม

5 ประเภทข้อมูลข่าวสารสื่อโซเชียลที่ตำรวจควรทำ 

1.คำแนะนำความรู้ด้านกฎหมาย เพื่อตักเตือนประชาชน ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน

2.ข้อมูลข่าวสารชี้แจงประชาชน กรณีมีการบิดเบือน เพื่อชี้แจงภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยภายใต้กำกับดแลของโฆษก หรือผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ

3.ผลงาน ผลการปฏิบัติงานของหน่วยภายใต้กรอบปฏิบัติการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของตร.

4.ข่าวสารข้อมูลส่วนตัวใดๆที่ไม่ขัดต่อจริยธรรม และจรรยาบรรณตำรวจ ไม่ผิดระเบียบ กฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด

5.การเพิ่มช่องทางรับฟัง รับข่าวสารเบาะแสจากประชาชน 

ด้าน พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการลงโทษใคร ยืนยันว่าตำรวจมีสิทธิ์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่ต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบและหน้าที่ เพราะตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาน้องๆ อาจถ่ายคลิปตลกขบขัน ก็เป็นสิทธิ์ “กรณีแต่งนอกเครื่องแบบอยู่ที่บ้านแล้วใช้โซเชียล ต้องให้ใช้วิจารณาญาณ เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด แต่ต้องเข้าใจจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จะใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบแต่เป็นตำรวจ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ถอดเครื่องแบบไปเต้นอะไรก็ได้ มันไม่งดงาม”

related