svasdssvasds

บุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงทำปอดพังจากโควิดระบาด มากกว่าคนไม่สูบ 14 เท่า!

บุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงทำปอดพังจากโควิดระบาด มากกว่าคนไม่สูบ 14 เท่า!

โควิดสายพันธุ์ดุจากอังกฤษดุจริง แม้แต่คนหนุ่มสาวที่มีโรคประจำตัวยังเสี่ยงสูงและเสียชีวิตหลายราย และยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกหากเป็นนักสูบ ทั้งบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ความเสี่ยงที่มากขึ้นเป็นอย่างไรนั้น อยู่ในบทความนี้

โควิดระลอกนี้ รุนแรง จู่โจมปอดอย่างรวดเร็ว จนหมอโรคปอดออกมาสื่อสารด้วยความเป็นห่วง 'นักสูบ' โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่เสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนไม่สูบบุรี่ถึง 14 เท่า! 

บุหรี่ไฟฟ้า หมอโรคปอด บุหรี่ไฟฟ้าทำปอดเสียหาย ติดเชื้อง่ายไปอีก!

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ว่า

"การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการรับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อให้แก่ผู้อื่น โดยมีงานวิจัยระบุว่า ผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 ได้มากกว่าคนปกติ 5-14 เท่า และเมื่อป่วยแล้วมักมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปที่ไม่สูบเลยอย่างชัดเจน

"ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ นักสูบที่สูบจนเกิดโรคเรื้อรังแล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มะเร็งปอด ระบบภูมิคุ้มกันจะลดต่ำกว่าคนปกติ ทำให้เชื้อโควิด-19 สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและเกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้"

ปอดติดเชื้อ
บุหรี่ไฟฟ้า vs บุหรี่มวน แบบไหนน่ากังวลกว่า

นพ.สุทัศน์ เปิดเผยว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความน่ากังวลมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่มวน เนื่องจาก สารประกอบต่างๆ ในบุหรี่ไฟฟ้ามีความเป็นพิษสูงกว่า

"เช่น นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างไปจากบุหรี่มวน สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายกว่า มากกว่า และเกิดผลกระทบต่อหลอดเลือดได้มากกว่าแบบเดิม โดยบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณนิโคตินมากกว่าในบุหรี่มวนถึง 10-100 เท่า"

นอกจากนี้ สารระเหยในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน ที่ใช้เป็นตัวทำละลายในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนักต่างๆ เช่น น้ำยาล้างหม้อน้ำรถยนต์และเครื่องจักรอุตสาหกรรม โดยทั่วไป จะไม่ใช้สารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะในปอด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงแบบเฉียบพลัน (EVALI) ได้ 

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมย้ำเตือนว่า

"ขอฝากถึงคนที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการอักเสบเรื้อรังในหลอดลมและปอดอยู่แล้วจากพิษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเอง ทำให้ความสามารถในการขจัดสิ่งแปลกปลอมและฆ่าเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดที่มากับลมหายใจลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่าคนปกติ  สสส. จึงขอเชิญชวนให้คนที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้เลิกสูบ เพื่อสุขภาพของตนเอง และป้องกันการติดเชื้อโควิด 19"

บุหรี่ไฟฟ้า ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า 

รศ.นพ.สุทัศน์ตั้งข้อสังเกตว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 ให้แก่คนรอบข้างได้มากกว่าบุหรี่มวน เนื่องจาก

1. ปริมาณของฝอยละอองที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้า (aerosol) และล่องลอยออกไปในอากาศมีมากกว่าบุหรี่มวน ซึ่งฝอยละอองนี้จะพาเอาเชื้อโควิด 19 ไปพร้อมกันและแพร่กระจายไปด้วยกระแสลมได้เป็นอย่างดี

2. ผู้สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมสูบกันเป็นกลุ่ม พูดคุยหรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทำให้แพร่กระจายเชื้อโควิดให้กันได้ง่ายมาก เช่น กรณีคลัสเตอร์การระบาดโควิด 19 ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้

3. ในสถานบันเทิงจะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า บางคนอาจแชร์บุหรี่ไฟฟ้าระหว่างกันหรือสูบบุหรี่มวนเดียวกัน พฤติกรรมนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้เชื้อโควิด 19 แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว

“โควิด 19 ติดง่าย หายยาก มีโอกาสเสียชีวิตสูง หากไม่อยากบั่นทอนสุขภาพของตนเอง ขอเตือนนักสูบทั้งหลายทั้งบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดโควิด 19 ขอให้เลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด หยุดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดความรุนแรงและตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศ หันมาออกกำลังกาย กินอาหารดีมีประโยชน์ นอกจากได้สุขภาพที่ดีแล้วยังห่างไกลจากโควิด 19" 

"ตอนนี้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างก็กำลังทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะแพทย์ระบบการหายใจ หากประชาชนช่วยกันหยุดพฤติกรรมเสี่ยง ป้องกันเชื้อ จะช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ได้มาก” รศ.นพ.สุทัศน์ฝากทิ้งท้าย

related