svasdssvasds

อนามัยโพล ชี้ ปชช.ใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง ประเมินเสี่ยงโควิด19

อนามัยโพล ชี้ ปชช.ใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง ประเมินเสี่ยงโควิด19

อนามัยโพล ชี้ ปชช.ใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง ประเมินเสี่ยงโควิด ตั้งแต่มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจหอบ ตาแดง ผื่นขึ้น หากพบเสี่ยงสูงรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแนะกลุ่มเปราะบาง ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโล หมั่นสังเกตอาการตนเอง หลีกเลี่ยงออกจากบ้าน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ในขณะนี้ได้มีการประกาศให้บางจังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ประชาชนตื่นตัวที่จะป้องกันและสังเกตอาการตนเองมากขึ้น จากผลการสำรวจอนามัยโพล เมื่อวันที่ 22 – 29 เมษายน 2564 เกี่ยวกับวิธีการประเมินอาการและความเสี่ยงของประชาชนต่อการเป็นโรคโควิด-19 จำนวน 6,280 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจหอบ ตาแดง ผื่นขึ้น ร้อยละ 65.4 รองลงมาคือ ใช้เครื่องวัดไข้ ร้อยละ 17.3 และทดสอบว่าจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ร้อยละ 10.6 นอกจากนี้พบว่าวิธีที่ประชาชนคิดว่าจะทำหากมีอาการผิดปกติหรือประเมินตนเองแล้วมีความเสี่ยงสูงมากคือ ไปพบแพทย์ทันที ร้อยละ 55.6 รองลงมาคือรอดูอาการที่บ้าน หากไม่ดีขึ้น จึงไปพบแพทย์ ร้อยละ 20.9 และโทรไปปรึกษาแพทย์หรือใช้ช่องทางออนไลน์ปรึกษา ร้อยละ 20.6
 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่ควรต้องหมั่นสังเกตอาการและเฝ้าระวังตนเองอยู่เสมอ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป เนื่องจากเป็น  กลุ่มเปราะบางเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ และติดเชื้อโรคได้ง่าย รวมทั้งอาจมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น                

ซึ่งการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงออกจากบ้าน รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอื่น เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในการติดต่อกับผู้อื่น ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง  ก่อนกินอาหารและหลังเข้าส้วม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เลือกกินอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ๆ หากกินอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และไม่พูดคุยกัน  ขณะกินอาหาร ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ  และหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการหวัด มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก

“ทั้งนี้ หากมีผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอาศัยอยู่ภายในบ้านร่วมกันเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อจากตนเองไปสู่บุคคลอื่น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้ 1) หยุดงาน หยุดเรียน ไม่ออกไป นอกบ้านหรือที่พักอาศัย ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือ ที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน 2) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น อยู่ห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 1 - 2 เมตร หากจำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดต้องสวมหน้ากากอนามัย และใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ไม่คลุกคลีกับเด็กและผู้สูงอายุในบ้านโดยเด็ดขาด 3) สังเกตอาการตัวเองและวัดไข้ทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการผิดปกติทางผิวหนัง ไอ หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ให้รีบไปพบแพทย์ 4) ในแต่ละวันให้รวบรวมขยะ หน้ากากอนามัยไว้ในถุง ก่อนทิ้งให้ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ก่อนใส่ถุงอีกชั้น ปิดปากถุงให้สนิท 5) แยกห้องนอน ห้องน้ำให้ชัดเจน ให้แยกห่างจากกลุ่มเปราะบางหรือผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังให้มากที่สุด พร้อมทั้งแยกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว แยกการกินอาหารและการใช้ห้องน้ำห้องส้วมออกจากผู้อื่น แต่หากไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง  ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย เปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศสู่ภายนอกเป็นระยะ และปิดประตูด้านที่เชื่อมต่อกับคนอื่นภายในบ้าน จะเปิดได้เมื่อจำเป็นเท่านั้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

related