svasdssvasds

โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยเข้าICU ส่งผลให้คนไทยใช้พลังงาน3เดือนแรกลดลง

โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยเข้าICU ส่งผลให้คนไทยใช้พลังงาน3เดือนแรกลดลง

พ่นพิษต่อเนื่อง โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยสาหัส ส่งผลให้คนไทยใช้พลังงานลดลง 3 เดือนแรกปี 2564 เพราะภาคการผลิตต่าง ๆ ไม่เดินหน้า วันนี้จะพามาส่องดูว่า คนไทยใช้พลังงานอะไรลดลงไปแค่ไหน ?

ตัวชี้วัดอีกอย่างหนึ่งว่าปีใดเศรษฐกิจดี หรือไม่ดี คือยอดการใช้พลังงานต่าง ๆถ้าปีใดที่มียอดการใช้พลังงานสูงก็ชี้ให้เห็นว่ามีการผลิตต่าง ๆที่สูงตาม การบริโภคในประเทศ การส่งออก การค้าการลงทุนจะดีตาม แต่...ปีใดที่ยอดการใช้พลังที่ต่ำอาจหมายความได้ว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ อย่างปี 2564 ก็เช่นกันเศรษฐกิจไทยถูกรบกวนจากโควิด-19 ทำให้การผลิตต่าง ๆ ไม่ขยายตัว เลยทำให้คนไทยใช้พลังงานลดลง

ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงาน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานยังลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่าคนไทยใช้พลังงานลดลง

โควิด-19 ทำคนไทยใช้พลังงานลดลง โควิด-19 ทำคนไทยใช้พลังงานลดลง

‘นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท’ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงาน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงปรับตัวในระดับต่ำ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบ ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้มีการปรับราคาขายปลีกภายในประเทศสูงขึ้น ซึ่งการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันของไทย คนไทยใช้พลังงานลดลง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 สรุปได้ดังนี้

วัฒนพงษ์ คุโรวาท วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

1.สิ่งที่บ่งชี้ว่าคนไทยใช้พลังงานลดลง คือการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 67.25 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 24.11 บาทต่อลิตร โดยการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้ในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น

2. การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.08 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นแก๊สโซฮอล์95 (E10) มีการใช้ของเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศที่เริ่มคลี่คลายลง

3. การใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก การใช้อยู่ที่ 6,475 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลง 4.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบกลดลงในทุกกลุ่มเชื้อเพลิง (ไม่รวมไฟฟ้า) ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีรถจดทะเบียนสะสมที่อยู่ในระบบทั้งสิ้นประมาณ 41.7 ล้านคัน โดยมีรถจดทะเบียนใหม่สะสมของปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 7.6 แสนคัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.1% น้ำมันกลุ่มดีเซล มีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 61% แต่การใช้ลดลง 1.7% น้ำมันกลุ่มเบนซิน มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 32% แต่การใช้ลดลง 1.3% ส่วน NGV มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 4% ลดลงถึง 31.7% และ LPG มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 3% ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก การใช้ลดลงถึง 22.4% (จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)

เทียบปริมาณการใช้ และราคาค่าปลีกดีเซล เทียบปริมาณการใช้ และราคาค่าปลีกดีเซล

นอกจากนี้มีการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าในสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 6,849 คัน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 419 คัน ซึ่งมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 46% ส่วนราคาขายปลีกไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.64 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV)

4.คนไทยใช้พลังงานลดลง ดูได้จากการใช้ไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 44,759 GWh ลดลง 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้ไฟฟ้าลดลงทุกกลุ่มสาขา ยกเว้นเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 21.4% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งการใช้ไฟฟ้าในทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 47% ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 17.6% จากเดือนก่อนหน้า สาขาธุรกิจ มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 22% การใช้ลดลง 15.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาขาครัวเรือน มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 26% การใช้ลดลง 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้ของเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 26.2% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคครัวเรือนส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าและสภาพอากาศที่ร้อน

อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงต้องจับตาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด  เช่น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยต่อไป ว่าคนไทยใช้พลังงานลดลง หรือไม่ในอนาคต

ดูชัด ๆ ว่าคนไทยใช้พลังงานอะไรลดลงบ้าง ดูชัด ๆ ว่าคนไทยใช้พลังงานอะไรลดลงบ้าง

*หมายเหตุ : เป็นการเทียบช่วงเดียวกันของปี 2563 และ 2564 ไตรมาส1

 

related