svasdssvasds

ประชาชนพร้อม วัคซีนไม่พร้อม ! ธนาธร เสนอทางออกแก้วิกฤตโควิด-19

ประชาชนพร้อม วัคซีนไม่พร้อม !  ธนาธร เสนอทางออกแก้วิกฤตโควิด-19

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชี้ให้เห็นชัดๆ รัฐบาลจัดการปัญหาวัคซีนโควิด-19 ผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนเสนอ 5 ทางออก ให้รัฐบาลนำไปพิจารณา

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก เล่าที่มาปัญหาวัคซีนโควิด-19 แต่ละช่วงเวลา อย่างละเอียด ก่อนเสนอทางออก 5 ข้อ ให้กับรัฐบาล โดยมีรายละเอียดทั้งหมด ดังนี้

ประชาชนพร้อม วัคซีนไม่พร้อม : สถานะ ปัญหา และทางออกจากวิกฤตวัคซีน

หากยังจำกันได้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้ออกมาแสดงความกังวลเรื่องแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าการจัดการแบบนี้ ช้า ไม่ทันการณ์ แทงม้าตัวเดียว เสี่ยงต่อการที่วัคซีนจะมาช้า และไม่หลากหลายเพียงพอกับความต้องการของประชาชน

สถานการณ์ ณ วันนี้ เลวร้ายลงกว่าช่วงต้นปีอย่างมาก เพราะโควิดระบาดระลอกสาม เป็นระลอกที่รุนแรง เราพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ง่ายกว่าเดิม ในขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลัก ยังไม่มา ส่วนวัคซีนซิโนแวค ที่รัฐบาลสั่งเข้ามาเฉพาะหน้า ก็มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและผลข้างเคียง ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น

วันนี้ ผมจึงขอสรุปสถานะล่าสุดของปัญหาโควิด พร้อมทั้งเสนอทางออกของปัญหา โดยผมตระหนักดีว่าปัญหาโควิดมีหลายมิติ ทั้งเรื่องการตรวจเชิงรุก การจัดการเตียงผู้ป่วย การเยียวยาทางเศรษฐกิจ แต่ผมจะขอเน้นถึงปัญหาวัคซีนเป็นสำคัญ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

สถานะ: ไทยรั้งท้ายโลกในด้านการฉีดวัคซีน

ปัจจุบัน ประชากรโลกเฉลี่ย 10.23% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ประเทศที่ฉีดได้มากที่สุดในโลก คืออิสราเอล ตามด้วยอังกฤษ และสหรัฐฯ ส่วนในอาเซียน เราก็ยังรั้งท้ายถึงอันดับ 8 จาก 10 ประเทศอาเซียน โดยไทยฉีดได้เพียง 3.17% ของประชากรเท่านั้น

ในด้านการจัดหาวัคซีน นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียง 70.1 ล้านโดส และได้รับแล้วเพียง 6.1 ล้านโดส ที่เหลือจะทยอยส่งมอบในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป หากนับรวมกับที่รัฐบาลกำลังเจรจากับไฟเซอร์อีก 10 ล้านโดส ก็ยังได้เพียง 80.1 ล้านโดส ห่างไกลจากเป้าหมาย 150 ล้านโดส

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แม้เราจะนับวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการจัดหาจากเอกชน เช่นของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่จัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม 10 ล้านโดส (โมเดอร์นา) หรือล่าสุดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อีก 1 ล้านโดส (ซิโนฟาร์ม) ซึ่งไม่ใช่วัคซีนฟรีจากรัฐ เป็นสินค้าที่ประชาชนต้องเสียเงินจ่ายเอง ก็ยังไม่ถึง 150 ล้านโดสอยู่ดี

ในด้านการฉีดวัคซีน ปริมาณที่ไทยฉีดได้มากที่สุดต่อวัน ณ ตอนนี้ คือ 1.6 แสนโดส ห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่วันละ 5 แสนโดส ซึ่งผมกังวลว่า หากการฉีดวัคซีนยังดำเนินไปเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะผ่านพ้นวิกฤตโควิดได้ภายในสิ้นปี 2564 หรือแม้แต่ต้นปี 2565 ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดช้าเป็นลำดับท้ายๆ ของโลก

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ปัญหา : นโยบายเปลี่ยนไปมา ประชาชนสับสน วางแผนอนาคตไม่ได้ ไม่เชื่อมั่นรัฐบาล

ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือประชาชนรู้สึกสับสน ไม่เชื่อมั่น ไม่แน่ใจว่าจะวางแผนอนาคตอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนนโยบายไปมาหลายครั้งของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนภาวะผู้นำที่ล้มเหลวของนายกรัฐมนตรี ผมขอยกตัวอย่างความสับสน 5 ประการเกี่ยวกับวัคซีน

1. การเปลี่ยนเป้าหมายและจำนวนวัคซีนถึง 4 ครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จากแผนเดิมปลายปีที่แล้ว จะฉีด 65 ล้านโดส ภายในปี 2566 พอต้นปีนี้ ก็เปลี่ยนเป็นฉีด 63 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ต่อมาในเดือนเมษายน ก็เปลี่ยนอีก เป็น 100 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 และล่าสุด นายกฯ ก็ประกาศเปลี่ยนเป้าหมายเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565

แน่นอนว่าการเพิ่มจำนวนวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชนเป็นเรื่องดี แต่การเปลี่ยนจำนวนไปเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า แต่ละครั้งที่ประกาศออกมา รัฐบาลคิดรอบคอบหรือไม่ ตัดสินใจบนพื้นฐานของอะไร และมีการวางแผนอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ ตัวเลขเป้าหมายว่าเราจะต้องซื้อวัคซีนเท่าไหร่ เป็นเรื่องสำคัญมาก หากเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ย่อมหมายความว่าเราจะไม่สามารถวางแผนการกระจาย การบริหารวัคซีนล่วงหน้าได้เลย

ที่สำคัญกว่านั้น ในการเปลี่ยนเป้าหมายแต่ละครั้ง คุณประยุทธ์ไม่เคยทำให้ประชาชนเห็นเลยว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร มีเพียงคำพูด เช่นที่ผมตั้งคำถามไปว่า ทุกวันนี้ฉีดได้มากที่สุดวันละ 160,000 โดส แล้วจะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีได้อย่างไร หรือตั้งเป้าไว้ว่าจะหาให้ได้ 150 ล้านโดส แต่ตอนนี้ได้เพียง 70 ล้านโดส ที่เหลือคุณจะหามาจากไหน วัคซีนอะไร หาอย่างไร ไม่มีใครรู้ และคุณประยุทธ์ไม่เคยทำให้ประชาชนเชื่อว่าจะหาได้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

2. บทบาทเอกชนในการจัดหาวัคซีน รัฐบาลประกาศเมื่อวันที่ 27 เมษายนว่าจะให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้เอง มีโควต้า 7 ล้านโดส แต่แล้วในวันถัดมา ก็ประกาศว่าไม่ให้เอกชนจัดหา เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วต่อมาในวันที่ 11 พฤษภาคม ก็ประกาศกลับลำ ให้เอกชนช่วยจัดหาวัคซีนได้ และในวันที่ 25 พฤษภาคม ก็มีการปรับเพิ่มโควตาให้เอกชน จาก 7 ล้านโดส เป็น 10 ล้านโดส ถือเป็นนโยบายที่กลับไปกลับมา เปลี่ยนแปลงถึง 4 ครั้งภายในไม่ถึง 1 เดือน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

3. วันเวลาในการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในวันที่ 12 พฤษภาคม สมชาย แสวงการ ปล่อยข่าวว่าจะมีการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ก่อนกำหนด ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม และมีสื่ออีกอย่างน้อยสองสำนักลงข่าวสอดคล้องกัน โดยที่รัฐบาลไม่ได้ออกมาอธิบายใดๆ แต่เมื่อเลยกำหนดวันที่ 21 พฤษภาคม วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไม่มาตามกำหนด คุณสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข จึงออกมาชี้แจงว่า เดิมจะมีการส่งมอบก่อนกำหนด 1.7 ล้านโดส แต่เกิดปัญหาทางเทคนิค ดีลนี้จึงล่มไป

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ต่อมา นักข่าวพยายามถามคุณอนุทินว่ากำหนดส่งมอบแอสตร้าฯ ที่ว่ามิถุนายน จะมาเท่าไหร่ วันไหนกันแน่ คุณอนุทินก็ตอบเพียงว่า ที่บอกว่ามิถุนายนได้ 6 ล้าน เดือนต่อไป 10 ล้าน เป็นเพียง “ไกด์ไลน์” และตามสัญญาบอกว่ามิถุนายน แต่ไม่ได้ระบุวัน

ซึ่งการตอบแบบนี้มีปัญหามาก สัญญาซื้อขายวัคซีนจะไม่ระบุวันส่งมอบไม่ได้ กำหนดส่งมอบวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรัฐบาลต้องบริหารสต็อกวัคซีน มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะส่งต่อให้จังหวัดไหน เท่าไหร่ เมื่อไม่มีความชัดเจนว่าวัคซีนจะมาวันไหน การวางแผนกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพย่อมไม่สามารถทำได้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

4. การลงทะเบียนรับวัคซีน ที่ในตอนแรก รัฐบาลประกาศให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมเพียงช่องทางเดียว เริ่ม 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เมื่อเกิดปัญหาแอปล่ม ประชาชนเข้าไม่ถึง จนยอดลงทะเบียนต่ำกว่าเป้าอย่างมาก

คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ประกาศว่าจะให้คนเดินไปฉีดวัคซีนได้เลยโดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า หรือระบบ walk-in แต่คุณประยุทธ์กลับสั่งเบรกระบบ walk-in ให้ทุกคนลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมตามเดิม จนกระทั่ง 20 พฤษภาคม ก็มีการเปลี่ยนให้ลงทะเบียนผ่านทั้งหมอพร้อม และลงทะเบียนหน้างาน ซึ่งไม่ต่างจากการ walk-in

มหากาพย์หมอพร้อมจบลงอย่างงงงวย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม นายกฯ ประกาศชะลอการลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม และให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นรายจังหวัดแทน และความสับสนกลับไปกลับมาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียง 26 วัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนเฝ้ารอวัคซีนอย่างใจจดใจจ่อ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

5. การเข้าร่วม COVAX ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก โดยเมื่อปีที่แล้ว คุณอนุทินยืนยันว่าได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 แต่สุดท้าย ไทยก็ไม่ได้เข้าร่วม โดยผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติอธิบายว่าการเข้าร่วม COVAX จะทำให้เรามีพลังต่อรองกับผู้ขายน้อย ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ มาก จึงเลือกที่จะเจรจาซื้อขายกับผู้ผลิตโดยตรง

แต่แล้ว ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ กลับมีคำสั่งให้คณะผู้แทนถาวรไทยที่ประจำอยู่ในองค์กรต่างๆของสหประชาชาติ ไปเจรจาขอวัคซีนจากประเทศที่เป็น COVAX facility และประเทศอื่นๆ ว่าหากมีวัคซีนเหลือ ไทยจะขอนำมาใช้ก่อน แล้วเมื่อไทยมีวัคซีนเพียงพอ จะส่งคืนให้ในภายหลัง ทั้งที่ไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม COVAX เอง แต่เมื่อเข้าตาจน ก็กลับไปขอความช่วยเหลือจาก COVAX

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ยิ่งฉีดวัคซีนช้า ประเทศยิ่งเดินเข้าสู่หายนะทางเศรษฐกิจ

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านนี้ ผลลัพธ์สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือ ไทยได้วัคซีนน้อย ช้า ฉีดได้น้อย ช้า ซึ่งเวลาทุกเดือนที่เสียไป คือมูลค่าทางเศรษฐกิจ คือปากท้องของประชาชน ทุกเดือนเราเสียรายได้จากนักท่องเที่ยว 12,400 ล้านบาท เสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 37,000 ล้านบาท รายได้จากการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐ ลดลง 10,600 ล้านบาท และมีคนตกงานใหม่เพิ่มขึ้นเดือนละ 48,000 คน

Scenarios ที่จะเกิดขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่เราฉีดวัคซีนได้ช้า

1. เกิดการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่แพร่ง่ายและรุนแรงขึ้น และล่าสุดก็เกิดเชื้อสายพันธุ์ไทยเรียบร้อยแล้ว

2. เกิดการระบาดในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้การควบคุมโรคยิ่งทำได้ยาก ส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่ม

3. เกิดผลกระทบตามมาจากการได้วัคซีนช้า ไม่เพียงพอ ต้องเลื่อนหรือยกเลิกคิวฉีดวัคซีน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ทางออก: หาวัคซีนให้พอ-วางแผนสต็อกโปร่งใส-ฉีดง่ายไม่ต้องลงทะเบียน-ใช้แรงจูงใจไม่ใช่บทลงโทษ

เพื่อให้ประเทศไทยออกจากโควิดโดยเร็วที่สุด เศรษฐกิจกลับคืนมา ชีวิตปกติกลับคืนมา ผมเสนอ 5 ทางออกเพื่อคลี่คลายวิกฤตวัคซีน

1. การเร่งหาวัคซีนให้เพียงพอ โดยนายกฯ ต้องนั่งหัวโต๊ะ ลงมือยกหูเจรจาหาวัคซีนเอง เช่นที่เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ยกหูโทรหาผู้บริหารไฟเซอร์ถึงกว่า 30 ครั้ง เพื่อเจรจาขอซื้อวัคซีน

2. วางแผนสต็อกวัคซีนอย่างโปร่งใส จัดการข้อมูลสต็อกด้วยระบบเดียวกันทั่วประเทศ (ดูตัวอย่างแบบฟอร์มในภาพ) ทุกสถานีฉีดต้องกรอกแบบฟอร์มรายงานยอดวัคซีน ยอดฉีด ในแต่ละวัน

ทุกสถานีฉีดต้องกรอกแบบฟอร์มรายงานยอดวัคซีน ยอดฉีด ในแต่ละวัน และส่งเข้าจังหวัด จังหวัดส่งเข้าส่วนกลาง และไม่เพียงรายงานสถานะปัจจุบัน แต่ทำตั้งแต่ข้อมูลในอดีต และวางแผนการฉีดในอนาคต เพื่อให้เราสามารถเห็นภาพได้ว่าเป้าหมายการฉีดวัคซีนจะเป็นจริงได้หรือไม่ สำเร็จภายในกี่เดือน กี่วัน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

3. เปิดเผยสัญญาการส่งมอบวัคซีน แบบฟอร์มที่ผมพูดถึงในข้อ 2 จะเป็นจริงไม่ได้ หาเราไม่รู้วันที่วัคซีนจะถูกส่งมาให้ฉีด เพราะฉะนั้นผมเรียกร้องว่าทุกสัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ต้องเปิดเผยต่อประชาชน และนำมาใช้ในการติดตาม วางแผนการบริหารสต็อกวัคซีน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

4. เมื่อมีวัคซีนเพียงพอ ขั้นตอนต่อไปก็คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน ใช้บัตรประชาชนเพียงใดเดียวก็สามารถเข้ารับวัคซีนที่ไหนก็ได้ เมื่อประชาชนรับวัคซีนได้อย่างสะดวก ก็จะมีผู้เต็มใจไปฉีดวัคซีนมากขึ้น เร็วขึ้น เป็นผลดีต่อการควบคุมการระบาด และทำให้เปิดประเทศได้เร็วขึ้นด้วย

5. ใช้แรงจูงใจ ไม่ใช่บทลงโทษ เพื่อให้คนไปฉีดวัคซีนมากที่สุด เร็วที่สุด จำเป็นต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่นอิสราเอล ที่แจกพิซซ่า เบียร์ ให้กับคนที่ไปฉีดวัคซีน หรือมลรัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ แจกลอตเตอรี่ให้ผู้รับวัคซีน รางวัลมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ และยังมีลอตเตอรี่ทุนการศึกษาให้เด็ก 12-17 ปี เพื่อกระตุ้นให้วัยรุ่นอยากไปฉีดวัคซีนมากขึ้น

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ทั้งหมดนี้ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของผมต่อคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หวังว่าคุณประยุทธ์จะรับฟัง และเร่งเดินหน้าพาประเทศพ้นจากวิกฤตวัคซีนโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ

ที่มา Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

related