การพิจารณาร่างงบประมาณปี 65 แม้เกือบทุกกระทรวงจะถูกตัดงบลง รวมถึงกลาโหม แต่ด้วยงบประมาณ 2 แสนล้านบาท และในแต่ละกองทัพ ยังได้งบซื้ออาวุธ ในช่วงที่ประเทศไม่ได้มีศึกสงคราม ก็ถือว่ายังสูงเกินไป โดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้ที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด
ผ่านไปแล้ว สำหรับการพิจารณา "ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565” ในวาระแรก ที่ได้รับคะแนนโหวตผ่านฉลุย แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะยังมีวาระ 2 วาระ 3 และการเห็นชอบจาก ส.ว. ฯลฯ
ระหว่างการพิจารณาในสภา ก็มีดราม่าต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเมื่อมีการนำงบกระทรวงกลาโหม มาเปรียบเทียบกับกระทรวงสาธารณสุข แม้รัฐบาลจะมีการชี้แจงตั้งแต่ก่อนการอภิปราย แต่ก็ไม่วายโดนถล่มในสภา
อันเนื่องมาจากคำถามที่ว่า ในสถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูง และมีคนตายอย่างต่อเนื่อง ความมั่นคงของประเทศในเวลานี้คืออะไร ?
คือความมั่นคงทางกองทัพ ?
หรือคือความมั่นคงทางสุขภาพ ?
1. ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 กระทรวงต่างๆ ได้รับงบประมาณเท่าไหร่ ?
ร่างงบประมาณปี 2565 มีการจัดสรรงบ 3,100,000 ล้านบาท โดยประมาณการการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2,400,000 ล้านบาท และตั้งงบขาดดุลสูงถึง 700,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
โดยมีการตั้งงบกลาง ไว้ที่ 571,047 ล้านบาท (ถูกลดลงจากปีที่แล้ว 7.1 %) ส่วนงบประมาณของกระทรวงต่างๆ นั้น มีเพียง 2 กระทรวงที่ได้รับการเพิ่มงบฯ คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กับกระทรวงการคลัง โดยแต่ละกระทรวงได้รับการจัดสรรงบฯ ดังต่อไปนี้
1.1 กระทรวงที่ได้งบหลักแสนล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทย 316,527 ล้านบาท
กระทรวงการคลัง 273,941.3 ล้านบาท
กระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท
กระทรวงคมนาคม 175,858.7 ล้านบาท
กระทรวงสาธารณสุข 153,940.5 ล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 124,182.8 ล้านบาท
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 110,126.5 ล้านบาท
1.2 กระทรวงที่ได้งบหลักหมื่นล้านบาท
กระทรวงแรงงาน 49,742.8 ล้านบาท
สำนักนายกรัฐมนตรี 34,017.3 ล้านบาท
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 28,325.5 ล้านบาท
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 24,664.8 ล้านบาท
กระทรวงยุติธรรม 24,321.1 ล้านบาท
1.3 กระทรวงที่ได้งบหลักพันล้านบาท
กระทรวงการต่างประเทศ 7,618.7 ล้านบาท
กระทรวงวัฒนธรรม 7,104.4 ล้านบาท
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,979.1 ล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์ 6,523.3 ล้านบาท
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,161.6 ล้านบาท
กระทรวงอุตสาหกรรม 4,380.1 ล้านบาท
กระทรวงพลังงาน 2,717.5 ล้านบาท
2. ดราม่า งบฯ กระทรวงกลาโหม สูงกว่ากระทรวงสาธารณสุข
ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว จนถึงปีนี้ จึงไม่ใช้เรื่องแปลก ที่เกือบทุกกระทรวงจะถูกลดงบฯ แต่ที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมา จนทั้งฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง นำไปขยี้ต่อในสภา ก็คืองบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่สูงกว่ากระทรวงสาธารณสุข
ทั้งที่ในความเป็นจริงในวันนี้ วันที่ไทยกำลังประสบกับโควิดระบาดระลอก 3 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้สถานพยาบาลในการรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่อุปกรณ์การแพทย์ยังขาดแคลน รวมถึงวัคซีนที่ยังมีอยู่เพียงน้อยนิด ทำให้หลายคนมองว่า ควรเพิ่มศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุข เป็นอันดับแรก
แต่กลับกลายเป็นว่า งบฯ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับการจัดสรรในปีงบฯ 2565 อยู่ที่ 153,940.5 ล้านบาท ในขณะที่งบฯ ของกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 203,282 ล้านบาท สูงกว่ากระทรวงสาธารณสุขกว่า 5 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาที่ไม่มีศึกสงครามใดๆ แต่ผู้ป่วยโควิด-19 เต็มบ้านเต็มเมือง
3. งบฯ กระทรวงกลาโหม สูงกว่ากระทรวงสาธารณสุข จริงหรือ ?
เหมือนจะรู้อยู่แหละว่า ตัวเลขงบฯ ออกมาอย่างนี้ รัฐบาลถูกถล่มเละในสภาแน่ๆ รองโฆษกรัฐบาล จึงได้มีการชี้แจงก่อนการอภิปราย รวมถึงนายกฯ ก็นำข้อมูลตรงนี้มาอธิบายในสภาเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นการฉายหนังซ้ำ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้
รัฐบาลอ้างว่า จริงๆ แล้วเนี่ย งบฯ ของสาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2565 สูงกว่ากระทรวงโหม อีกนะ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้งบฯ 140,550.2 ล้านบาท และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำหรับกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ได้งบ 1,183.2 ล้านบาท
จึงเท่ากับว่า ในส่วนของสาธารณสุข ได้งบฯ รวมกันเกือบ 295,674 ล้านบาท สูงกว่ากระทรวงกลาโหม 9 หมื่นกว่าล้านบาท
ซึ่งจากการที่ SPRiNG ค้นหาข้อมูลจาก สำนักงบประมาณ ก็พบว่า งบของหน่วยงานดังกล่าว ถูกจัดไว้ในหมวดทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
4. ชำแหละงบกลาโหม
ในส่วนของกระทรวงกลาโหม แม้จะมีการชี้แจงว่า ถูกลดงบจากปีงบประมาณที่แล้ว ถึง 5.2 % แต่หลายคนก็มองว่างบฯ กว่า 2 แสนล้านบาท ในช่วงที่ไม่มีศึกสงครามใดๆ ยังถือว่าสูงอยู่ดี
และเมื่อดูในรายละเอียดของงบของเหล่าทัพ ก็ยังมีงบฯ ในการจัดหาอาวุธ แม้จะลดลงกว่าปีก่อนก็ตาม
กองบัญชาการกองทัพไทย : งบจัดหาอาวุธ 5,605.1 ล้านบาท
กองทัพบก : งบจัดหาอาวุธ 22,334.5 ล้านบาท
กองทัพเรือ : งบจัดหาอาวุธ 14,612.8 ล้านบาท
กองทัพอากาศ : งบจัดหาอาวุธ 19,615.6 ล้านบาท
5. ปัญหาของรัฐบาล คือการเรียงลำดับความสำคัญ
ในยามนี้ ถ้าเอ่ยถึงศัตรูของชาติ หลายคนจะนึกถึงโควิด-19 ขึ้นมาทันที ที่ต้องทุ่มเทศักยภาพในทุกๆ ภาคส่วน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้จงได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนในประเทศ รวมถึงกระทบกับการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจ ที่ยากจะโงหัวขึ้น ตราบใดที่การแพร่ระบาด ยังมีอัตราที่สูง
ฉะนั้นแล้วเมื่อตัวเลขงบฯ ประมาณออกมาอย่างนี้ จึงสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีปัญหาในเรื่องการเรียงลำดับความสำคัญ อะไรคือเรื่องเร่งด่วน อะไรที่สามารถชะลอได้
สมมติ นะสมมติ ถ้ามีการโยกงบในส่วนซื้ออาวุธ (ที่สถานการณ์อย่างนี้ ไม่รู้จะเตรียมไปรบกับใคร ?) มาใช้ในการซื้ออุปกรณ์ทางแพทย์ รวมถึงวัคซีน เวชภัณฑ์ต่างๆ ก็จะได้ใจประชาชนเป็นอย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลดำเนินนโยบายด้านวัคซีน ด้านสาธารณสุขผิดซ้ำผิดซาก แต่โอกาสนั้นก็ได้หลุดลอยไปแล้ว
และปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยภาพรัฐบาลทหารยังตราตรึง อันเนื่องจากมีที่มาจากการรัฐประหาร การที่งบด้านกลาโหม ยังสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ในยามที่ข้าศึกหลักของเราคือโควิด จึงทำให้หลายคนยากที่จะทำใจรับได้
แต่ถ้าเราลองใส่ชื่อพรรคที่เป็นเจ้ากระทรวงต่างๆ ลงไป บางทีก็อาจทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า อันที่จริงแล้ว รัฐบาลเรียงลำดับความสำคัญจากอะไร ?
5.1 กระทรวงที่ได้งบประมาณในหลักแสนล้าน
กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท (พลังประชารัฐ)
กระทรวงมหาดไทย 316,527 ล้านบาท (พลังประชารัฐ)
กระทรวงการคลัง 273,941.3 ล้านบาท (พลังประชารัฐ)
กระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท (พลังประชารัฐ)
กระทรวงคมนาคม 175,858.7 ล้านบาท (ภูมิใจไทย)
กระทรวงสาธารณสุข 153,940.5 ล้านบาท (ภูมิใจไทย)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 124,182.8 ล้านบาท (รวมพลังประชาชาติไทย)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 110,126.5 ล้านบาท (ประชาธิปัตย์)
ที่มา : การประชุมสภา พิจารณาร่างงบประมาณปี 2565 / 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. 64