svasdssvasds

ทนายรณณรงค์ ชี้ แม่ค้าน้ำส้ม เข้าข่ายมีความผิด ไม่เสียภาษีความหวาน

ทนายรณณรงค์ ชี้ แม่ค้าน้ำส้ม เข้าข่ายมีความผิด ไม่เสียภาษีความหวาน

ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ให้สัมภาษณ์กับ SPRiNG กรณีแม่ค้าขายน้ำส้มใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ถือว่าเข้าข่ายมีความผิด เพราะไม่เสียภาษีความหวาน และไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย.

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความว่า มีผู้ติดต่อว่าจ้างให้ผลิตน้ำส้ม 100 % จำนวน 500 ขวด แต่แล้วกลับกลายเป็นการล่อซื้อ โดยเธอถูกปรับ 1.2 หมื่นบาท (อ่านข่าว : แม่ค้าหลงดีใจนึกว่าลูกค้าสั่งน้ำส้ม 500 ขวด สุดท้ายโดนล่อซื้อแถมเสียเงิน)

SPRiNG ติดต่อขอสัมภาษณ์ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมใน​สังคม ถึงประเด็นดังกล่าว โดยทนายรณณรงค์ได้ให้ข้อมูลดังต่อไปนี้

ขายน้ำส้มใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ต้องเสียภาษีความหวาน และได้รับการรับรองจาก อย.

ทนายรณณรงค์ ได้เริ่มต้นให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับการผลิตและการขายน้ำผลไม้ที่ใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท จะต้องเสียภาษีความหวาน ให้กับกรมสรรพสามิต

“เมื่อประมาณ 2 - 3 ปีก่อน กรมสรรพสามิตได้มีกฎหมายตัวใหม่ออกมา เกี่ยวกับเรื่องความหวาน เขาเรียกว่าภาษีความหวานของน้ำผลไม้ 

“ภาษีตัวนี้ แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจเอามาเก็บกับผู้ประกอบการน้ำผลไม้ ในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ นั่นคือวัตถุประสงค์ของกรมสรรพสามิต

“ทีนี้ปรากฏว่า การออกกฎหมายดังกล่าวจะครอบคลุมไปยังน้ำผลไม้ ใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิททั้งหมด ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เรื่องของค่าความหวานทุกกรณี จึงจะมีสิทธิ์ขาย แต่ถ้าขายโดยที่ไม่ได้เสียภาษีก็มีความผิดทางกฎหมาย"

และเมื่อ SPRiNG ถามว่า “แม้จะไม่ใช่การผลิตในรูปแบบโรงงาน ก็ต้องเสียภาษีด้วยเหรอครับ” ทนายรณณรงค์ก็กล่าวย้ำว่า “ใช่ครับ ทุกกรณี”

รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์

ขายน้ำส้มใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท อย่างไร จึงไม่ผิดกฎหมาย ?

ในการขายน้ำผลไม้ ใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท นอกจากจะต้องเสียภาษีความหวานแล้ว ยังต้องได้รับการรับรองจาก อย. หรือ สำนักงานอาหารและยา อีกด้วย

“อย่างแรกเลยนะครับ เป็นเรื่องของภาษีสรรพสามิต ภาษีค่าความหวานของน้ำผลไม้ อย่างที่ 2 เป็นเรื่องของการเปลี่ยนจากสินค้าทางการเกษตร ให้กลายเป็นน้ำผลไม้คั้นบรรจุขวด ต้องได้รับการรับรองจาก อย. จึงจะสามารถขายได้ (อ่านข่าว : สรรพสามิต แจง ดราม่าน้ำส้ม ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่เสียภาษี ยันไม่ได้เก็บเงิน)

“เพราะฉะนั้นจะมี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็คือ อย. กับ กรมสรรพสามิต ถ้าไม่ได้ขออนุญาต และไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง ก็จะถูกดำเนินคดีได้ทุกกรณี” ทนายรณณรงค์กล่าว

ส้ม

ถ้าถูกล่อซื้อให้ผลิต ถือว่าผู้ขายมีความผิดหรือไม่ ?

ส่วนกรณีล่อซื้อ ทนายรณณรงค์ได้ให้ข้อมูลว่า มีทั้งส่วนที่เจ้าพนักงานสามารถกระทำได้ และไม่ได้ ดังนี้

“การล่อซื้อ ในทางกฎหมายจะมี 2 ส่วน คือ เขาทำผิดทางกฎหมายอยู่แล้ว แล้วเราไปล่อซื้อของกับเขา ไปซื้อบริการกับเขา อย่างแรก สามารถที่จะทำได้ เพราะผู้กระทำ กระทำความผิดอยู่แล้ว

“อย่างที่ 2 ผู้กระทำ ไม่ได้ทำความผิดอยู่ แต่ผู้ล่อซื้อพยายามหลอกล่อให้เกิดการกระทำความผิด สมมติร้านเขาขายสเต็ก ไม่ได้ขายน้ำส้ม เราอยากทานสเต็ก พร้อมกับน้ำส้มด้วย จึงให้เขาหาน้ำส้มมาให้หน่อย ปรากฏว่าพอเขาหามาขาย ก็ไปดำเนินการจับกุมเขาในข้อหาเกี่ยวกับการขายน้ำส้ม โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นกรณีอย่างหลังเนี่ย ถือว่าเป็นการล่อซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

“แต่ส่วนใหญ่กรณีล่อซื้อ จะใช้กับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างร้านแห่งหนึ่งขายคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้รับลงซอฟต์แวร์เถื่อนละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วผู้ล่อซื้อบอกว่า ให้ลงซอฟต์แวร์ตัวนี้ให้หน่อย คือเดิมไม่ได้ลง แต่ถูกล่อลวงให้ลง

“กรณีอย่างนี้ ศาลก็จะบอกว่า เป็นการแสวงหาหลักฐาน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยายามหลอกล่อด้วยกลวิธี พยายามให้ผู้ต้องหา กระทำความผิด

“จึงอยู่ที่ว่าคุณขายของที่ผิดกฎหมายหรือไม่มีใบอนุญาตหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถที่จะเรียกรับสินบน หรือล่อซื้อคุณได้อยู่แล้ว

“เพราะฉะนั้นเนี่ย ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่ว่า เจ้าหน้าที่ล่อซื้อ หรือไม่ล่อซื้อ แต่วิธีการที่ดีที่สุด ก็คือ พยายามขายของที่ถูกต้องตามกฎหมายครับ

“ถ้าจะขายสินค้า ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำส้มใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ควรหาสินค้าที่มี อย. ที่เสียภาษีสรรพสามิตแล้วมาขาย แล้วค่อยแบ่งกำไร จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด”

“ถ้าต้นทางมาถูกกฎหมาย ปลายทางก็ถูกกฎหมาย ไม่ถูกจับอยู่แล้วครับ ไม่ต้องกังวล ขอให้ต้นทางถูก ปลายทางอย่างไร ก็ถูกครับ” ทนายรณณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์

related