svasdssvasds

23 - 24 มิถุนายน ศึกแก้รัฐธรรมนูญ ! 13 ญัตติที่เสนอให้แก้ มีอะไรบ้าง ?

23 - 24 มิถุนายน ศึกแก้รัฐธรรมนูญ ! 13 ญัตติที่เสนอให้แก้ มีอะไรบ้าง ?

ศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบใหม่ มีการยื่นญัตติทั้งสิ้น จำนวน 13 ญัตติด้วยกัน โดยเป็นของพรรคพลังประชารัฐ 1 ญัตติ (หลายประเด็น) พรรคประชาธิปัตย์ 6 ญัตติ พรรคเพื่อไทย 4 ญัตติ และภูมิใจไทย 2 ญัตติ

ในการประชุมสภา ระหว่างวันที่ 23 - 34 มิถุนายน  2564 ศึกแก้รัฐธรรมนูญ รอบใหม่ ซึ่งเป็นการแก้รายมาตรา ในวาระที่ 1 มีการเสนอทั้งสิ้น 13 ญัตติด้วยกัน ดังต่อไปนี้  

ญัตติที่ 1 : ร่างที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคเดียว เสนอหลายประเด็นรวมกัน ดังนี้

1) เพิ่มมาตรา 29 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา ซึ่งเขียนคล้ายกับฉบับปี 2550 สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560

2) แก้ไขมาตรา 41(3) ในประเด็นสิทธิของชุมชน เพิ่มเติมให้ชุมชนยังมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐในกรณีที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐ

3) แก้ไขมาตรา 45 เลิกบังคับพรรคการเมืองทำ Primary Vote

4) เสนอให้นำระบบเลือกตั้ง "บัตรสองใบ" แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ แต่มีรายละเอียดต่างไป เช่น กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของพรรคที่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ไว้ที่ 1%

5) แก้ไขมาตรา 144 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการกำหนดโทษ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ แปรญญัติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณ

6) แก้ไขมาตรา 185 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการห้าม ส.ส. หรือ ส.ว. ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ

7) แก้ไขมาตรา 270 ให้อำนาจกำกับการปฏิรูปประเทศ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่เป็นของ ส.ว. ฝ่ายเดียว ให้เป็นอำนาจของ ส.ส. ร่วมด้วย

รัฐสภา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ญัตติที่ 2 : ร่างที่นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 1 ประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

1) เพิ่มเติมมาตรา 25 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ เขียนเพิ่มวรรคห้า ว่า "สิทธิหรือเสรีภาพตามมาตรานี้ให้หมายความรวมถึงสิทธิหรือเสรีภาพตามพันธกรณีและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย"

2) เพิ่มเติมมาตรา 29 เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเอาสิทธิได้รับการพิจารณาประกันตัว "อย่างรวดเร็ว" กลับมา ซึ่งเคยมีอยู่แต่ฉบับ 2560 ตัดออก เพิ่มหลักการว่า การไม่ให้ประกันตัวต้องเป็นกรณีเชื่อว่าจะหลบหนีเท่านั้น และจำเลยจะถูกคุมขังระหว่างพิจารณานานกว่าหนึ่งปีไม่ได้

3) เพิ่มมาตรา 29/1 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา ซึ่งเขียนคล้ายกับฉบับปี 2550 สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560

4) เพิ่มเติมมาตรา 34 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่า การออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพจะจำกัดการติชมด้วยความเป็นธรรมไม่ได้

5) แก้ไขมาตรา 45 เรื่องสิทธิจัดตั้งพรรคการเมือง โดยผ่อนปรนเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยเขียนด้วยว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขึ้นตอนและความยุ่งยากเกินควร ส่วนการยุบพรรคการเมืองจะทำได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

6) แก้ไขมาตรา 47 เรื่องสิทธิทางสาธารณสุข ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานและได้รับหลักประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้า" เพิ่มคำว่า "สิทธิเสมอกัน" จากที่ฉบับปี 2560 เขียนเพียงว่ามีสิทธิ และยืนยันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีกระแสว่า ระบบหลักประกันสุขภาพอาถูกตัดทอนหรือยกเลิกภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

7) เพิ่มมาตรา 49/1 เป็นบทต่อต้านการรัฐประหาร ห้ามศาลและหน่วยงานรัฐยอมรับการรัฐประหาร ให้ความผิดฐานทำรัฐประหารไม่มีอายุความ ห้ามการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติวิธี

8) แก้ไขมาตรา 129 วรรคสี่ ให้กรรมาธิการ ส.ส. มีอำนาจเรียกเอกสารและเรียกบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง และให้คำสั่งเรียกมีผลทางกฎหมาย การเสนอแก้ไขมาตรานี้สืบเนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่า การกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ ขัดหรือแยังต่อรัฐธรมนูญ

 ญัตติที่ 3 : ร่างที่นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 2 ประเด็นระบบเลือกตั้ง

เสนอให้นำระบบเลือกตั้ง "บัตรสองใบ" แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ มี ส.ส. ระบบแบ่งเขต 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

ญัตติที่ 4 : ร่างที่นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 3 ที่มานายกรัฐมนตรี

1) แก้ไขมาตรา 159 เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ให้เลือกนายกฯ จากบัญชีว่าที่นายกฯ ก็ได้ หรือเลือกจาก ส.ส. จากพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คนก็ได้

2) ยกเลิกมาตรา 272 เรื่องช่องทางที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก และอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ รัฐมนตรี

ญัตติที่ 5 : ร่างที่นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 4 รื้ออำนาจ คสช.

1) ยกเลิกมาตรา 65 275 ที่กำหนดให้มียุทธศาสตร์ของ คสช. แก้ไขมาตรา 142 และ 162 ไม่บังคับการเสนอร่างงบประมาณและการแถลงนโยบายต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ คสช.

2) ยกเลิกมาตรา 270 271 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการปฏิรูปประเทศ และกำกับยุทธศาสตร์ของ คสช.

3) ยกเลิกมาตรา 279 ไม่นิรโทษกรรมให้ คสช.

 ญัตติที่ 6 : ร่างที่นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ฉบับที่ 1 ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ

เสนอให้ยกเลิกมาตรา 65 ที่กำหนดให้มียุทธศาสตร์ของ คสช. มาตราเดียว เพิ่มคำว่า "ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมได้เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์"

 ญัตติที่ 7 : ร่างที่นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ฉบับที่ 2 ประเด็นรายได้ถ้วนหน้า

เพิ่มเติมมาตรา 55/1 เขียนว่า รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ญัตติที่ 8 : ร่างที่นำเสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 1 ประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

1) เพิ่มมาตรา 29 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา ซึ่งเขียนคล้ายกับฉบับปี 2550 สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560

2) เพิ่มมาตรา 43 เอาหลักการเรื่ององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกลับคืนมา ซึ่งเคยมีในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560

3) แก้ไขมาตรา 46 เรื่องสิทธิผู้บริโภค คุ้มครองสิทธิได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ได้รับการเยียวยาความเสียหาย สิทธิการรวมตัว และกำหนดให้ “ต้องมี” องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รับงบประมาณจากรัฐ ซึ่งต่างจากฉบับปี 2560 ที่กำหนดเพียงให้ผู้บริโภคมีสิทธิจัดตั้งองค์กร

4) เพิ่มเติมมาตรา 72 แนวนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับที่ดิน น้ำ พลังงาน โดยให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึงโดยการ “ปฏิรูปที่ดิน” รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสม

ญัตติที่ 9 : ร่างที่นำเสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 2 ตัดอำนาจ ส.ว. ขวางแก้รัฐธรรมนูญ

แก้ไขมาตรา 256 ให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา ไม่ต้องใช้เสียงพิเศษของ ส.ว. ชุดพิเศษ ซึ่งเป็นข้อเสนอคล้ายกับร่างฉบับสุดท้ายที่ไม่ผ่านวาระสามในเดือน 17 มีนาคม 2564

ญัตติที่ 10 : ร่างที่นำเสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 3 กระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช.

1) แก้ไขมาตรา 236 ยกเลิกสิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อกัน 20,000 คนเพื่อเสนอเรื่องให้ตรวจสอบและถอดถอนกรรมการป.ป.ช.

2) แก้ไขมาตรา 237 กรณี ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากเดิมที่ต้องส่งให้อัยการสูงสุด ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เปลี่ยนเป็นเสนอเรื่องต่อ “ศาลฎีกา” เพื่อวินิจฉัย

 ญัตติที่ 11 : ร่างที่เสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 4 ที่มานายกรัฐมนตรี

1) แก้ไขมาตรา 159 เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ให้เลือกนายกฯ จากบัญชีว่าที่นายกฯ ก็ได้ หรือเลือกจาก ส.ส. คนใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. จำนวนเท่าใด

2) ยกเลิกมาตรา 272 เรื่องช่องทางที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก และอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ รัฐมนตรี

ญัตติที่ 12 : ร่างที่นำเสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 5 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

1) เพิ่มมาตรา 76/1 และ 76/2 แนวนโยบายแห่งรัฐ ให้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง ตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถ่นมีสิทธิจัดการศึกษา ฝึกอบรม ฝึกอาชีพ ตามความเหมาะสม มีหน้าที่ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กิจการใดที่ไม่ได้บัญญํติห้ามไว้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมทำได้

2) เขียนมาตรา 250 ใหม่ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจของตนเองโดยเฉพาะ และให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่นภายในสามปี

3) เขียนมาตรา 251 ใหม่ ให้รัฐส่วนกลางกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็น ไม่กระทบถึงหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยจัดทำมาตรฐานกลางสำหรับการกำกับดูแลขึ้น

 4) เขียนมาตรา 252 ใหม่ จากเดิมที่กำหนดเพียงให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง หรือวิธีอื่น เป็นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรรงร หรือมาจากความเห็นชอบของสภาทัองถิ่น ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และห้ามผู้บริหารท้องถิ่นเป็นข้าราชการที่มีผลประโยชน์ขัดกัน

5) เขียนมาตรา 254 ใหม่ ให้การแต่งตั้งข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามความเหมาะสมของท้องถิ่น ให้มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เขียนรับรองสิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น อีกต่อไป

ญัตติที่ 13 : ร่างที่เสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 6 ประเด็นระบบเลือกตั้ง

เสนอให้นำระบบเลือกตั้ง "บัตรสองใบ" แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ มี ส.ส. ระบบแบ่งเขต 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

อ้างอิง

สรุปข้อเสนอ 13 ร่าง สำหรับติดตาม #แก้รัฐธรรมนูญ ภาคสอง

related