svasdssvasds

กรมควบคุมโรค เผย เสนอเคาะสรุปแนวทางฉีดวัคซีนสลับชนิด พรุ่งนี้

กรมควบคุมโรค เผย เสนอเคาะสรุปแนวทางฉีดวัคซีนสลับชนิด พรุ่งนี้

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยกรณีวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดสจะส่งไทยทันปี 64ไหมต้องรอดูอีก 5เดือน ขณะที่แผนการปรับสูตรให้วัคซีนสลับชนิด ไม่ส่งผลต่อปริมาณแอสตร้าฯในช่วงนี้ ย้ำคกก.พิจารณา 2 สูตร และสูตรที่2จะ เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง เตรียมเสนอ ศบค.เคาะพรุ่งนี้ 

15 ก.ค. 64 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการเสวนาวิชาการวัคซีนโควิด-19 สำหรับสื่อมวลชน ในประเด็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนของไทย ว่า ในช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นรายวันตอนนี้ การจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนที่มีจำกัดต้องทำอย่างระมัดระวัง และเหมาะสม ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า แอสตร้าฯ จำนวน 61 ล้านโดสจะมาไม่ทันปี 2564 นพ.โสภณ กล่าวว่าตอนนี้เดือนกรกฎาคม เหลืออีก 5 เดือนเศษ กว่าจะสิ้นปี ทั้งนี้ เราสั่งจองวัคซีนครั้งแรก 26 ล้านโดส ตอนนั้นหากสถานการณ์ระบาดไม่รุนแรงก็จะทยอยฉีดไปถึงสิ้นปี แต่เดือน ม.ค.64 รัฐบาลพิจารณาสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงมอบให้กรมควบคุมโรคจองเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ซึ่งเราก็บอกบริษัทขอให้จัดส่งภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทก็มีความพยายามทำตามที่ขอ เพราะในสัญญาไม่ได้ระบุวันส่งมอบชัดเจน เนื่องจากเป็นการสั่งจองตอนวัคซีนยังศึกษาวิจัย แต่ด้วยความที่บริษัทอยู่ในไทย ผลิตในไทย แต่ก็มีออเดอร์จากต่างประเทศ ซึ่งบริษัทก็พยายามให้เราได้มากที่สุด โดยเราจอง 1 ใน 3 ของกำลังผลิตของเขา แต่เราก็ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังเพิ่มกำลังการผลิต เราคงบอกไม่ได้ว่าจะส่งทันหรือส่งไม่ทันในปีนี้ เพราะมีความพยายาม ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ คงต้องรอถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้จึงตอบได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรณีในสัญญาไม่ได้ระบุว่าขยายเวลาส่งมอบไปถึงเดือน พ.ค. 2565 เพราะมีผู้บริหารบางคนให้ข้อมูลไว้ นพ.โสภณ กล่าวว่า การส่งมอบมีไทม์ไลน์กว้างๆ และมีการระบุจำนวน หมายความว่า หากบริษัทจะส่งเกินไปปีหน้าก็สามารถดำเนินการได้ เพราะสัญญากำหนดไว้ก่อนมีวัคซีนจริง ดังนั้น ในเรื่องระยะเวลาแต่ละเดือนจึงไม่ได้บอกว่าจะส่งเท่าไหร่ ที่เราเห็นบ่อยๆ คือ 6 ล้านในเดือน มิ.ย. และ 10 ล้านในเดือน ก.ค. ถึง พ.ย. และจบท้าย 5 ล้านโดสเดือน ธ.ค. ตรงนั้นเป็นศักยภาพการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เพราะเคยประมาณการณ์ไว้  หากเราต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันร้อยละ 70 หรือ 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดสจะฉีดได้ทันหรือไม่ ซึ่งประมาณการณ์เบื้องต้นว่า หากใช้ รพ.ทุกแห่งของสธ. และรัฐส่วนอื่นๆ ประมาณ 1,000 แห่ง โดยรพ.ละ 500 คนต่อวัน ก็ได้ประมาณ 5 แสนโดสต่อวัน คูณ 20 วันทำการก็ประมาณ 10 ล้านโดสต่อเดือน จึงเป็นที่มาของกำลังการฉีดและนำไปช่วยวางแผน แน่นอนว่า ช่วงแรกบริษัทแอสตร้าฯ ก็ไม่สามารถจัดได้เต็ม เพราะบริษัทเริ่มผลิตวัคซีนครั้งแรก ก็จะมีเรื่องจำนวนที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความคงตัวของผลผลิตที่ได้ แต่ก็ยังมีโอกาสรอดูอีก 5 เดือนข้างหน้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่บางส่วนอาจขยับไปปีหน้า

แล้วในเดือน ก.ค. แอสตร้าฯ ส่งมอบเท่าไหร่ และเมื่อปรับสลับวัคซีนต้องเพิ่มแอสตร้าฯหรือไม่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เท่าที่ดูแผนการส่งมอบวัคซีนของบริษัท บวกกับวัคซีนจากญี่ปุ่น 1 ล้านโดส ในเดือนนี้จะมีมากกว่าเดือนที่ผ่านมา แม้จะปรับสูตรการฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ แต่อย่าลืมว่าเดิมเราฉีดแอสตร้าฯเป็นเข็มที่ 1 ทั้งหมด  ดังนั้น จะมีส่วนหนึ่งที่เข็ม 1 มาใช้ซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ เมื่อคำนวณตัวเลขการเตรียมวัคซีนแอสตร้าฯเพิ่มเข็มที่ 2 บวกกับของผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง หากวัคซีน 10 ล้านโดส ก็จะมากกว่าเดือนที่แล้วนิดหน่อย ก็จะดำเนินการได้ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนต่อไปมากกว่า

เมื่อถามว่าการใช้วัคซีนสลับชนิดจะแบ่งแนวทางการใช้ในผู้สูงอายุอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณา 2 สูตร คือ สูตรแรก เป็นการฉีดซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ส่วนสูตร 2 เหมือนเดิมคือ แอสตร้าฯตามด้วยแอสตร้าฯ ซึ่งอันที่สองจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้สูงอายุจะฉีดซิโนแวคไม่ได้ เพราะมีการรับรองว่าสามารถฉีดได้ แต่การบริหารภาพรวมจะเป็นไปตามสูตรดังกล่าว เพื่อให้รวดเร็ว

เมื่อถามว่าได้มีการแจ้งการฉีดวัคซีนสลับชนิดกับทางโรงพยาบาลพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการแล้วหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้สื่อสารกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ไปแล้วผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวทางที่ผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแล้ว แต่เมื่อวันอังคารที่ 13 ก.ค. ทางท่านนายกฯ ให้ทบทวน จึงได้มีการทบทวนและล่าสุดจากการพิจารณาของคณะกรรมการ 2 ชุดแล้วก็มติเดิม โดยในวันพรุ่งนี้(16 ก.ค.) จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ศบค. หากท่านนายกฯ และศบค. เห็นชอบก็จะแจ้งอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนรพ.ที่ดำเนินการไปแล้วก็ถือว่าดำเนินการได้ตามแนวทางที่เคยได้ให้แนวทางไว้

เมื่อถามว่าผู้สูงอายุยังกังวลกรณีฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เมื่อฉีดแอสตร้าฯไปแล้วเข็มแรก กรณีเข็มที่สองยังคงเป็นแอสตร้าหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้สูงอายุฉีดแอสตร้าฯ ไปแล้วเข็มแรก จะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มที่สอง เนื่องจากไม่มีคำแนะนำสลับในรูปแบบเริ่มต้นจากแอสตร้าฯ

ขณะที่ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเสชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กำลังระดมฉีดวัควีนให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง แนะนำให้คนทั้ง 2 กลุ่มนี้เดินทางไปรพ.เพื่อขอให้แพทย์ฉีดหากมีวัคซีน และหลังจากนี้จะมีการลงทะเบียนไทยร่วมใจเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 64 จำนวนผู้ป่วยในกทม.ลดลง เนื่องจากประชาชนร่วมมือไม่ค่อยออกนอกบ้าน ปัจจุบันต้องให้วัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้าฉีดผสมกันเพื่อกระตุ้น สำหรับท่านใดที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วให้รออีกซักระยะและฉีดแอสตร้าเซเนก้าเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้น ในช่วงนี้ขอฉีดเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ คุณพรเทพ ยืนยันสามารถทำได้ และขอประนามบุคคลที่ทำให้ประชาชนสับสน และสำหรับท่านใดที่ต้องทานยาความดัน ควรทานก่อนฉีดวัคซีน ทั้งนี้การเลือกฉีดวัคซีนเป็นสิทธิส่วนบุคคลประชาชนสามารถเลือกได้ว่าต้องการรับวัคซีนี่ห้อใด อยากให้ประชาชนรับฟังข้อมูลจากกรมควบคุมโรค

นายแพทย์ธีระพงศ์ ตัณฑวิเชียร คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีนเป็นกลไกหนึ่งที่มาช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรค ลดการตาย ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการติดเชื้อ ปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุเนื่องจากเสี่ยงการเสียชีวิตสูง ทั้งนี้ทุกคนควรฉีดวัคซีนให้ครบทุกคนแต่คนอายุน้อยก็จะมีอาการน้อย และคนกลุ่มนี้มักไม่มีอาการแต่ก็สามารถนำเชื้อไปติดคนที่บ้านหรือผู้ป่วยติดเตียงได้ ซึ่งโรคนี้จะอยู่กับตัวเราไปตลอดชีวิต เพียงแค่ไม่มีการระบาด ในส่วนของสตรีที่ตั้งครรภ์รหรือมีประจำเดือนสามารถฉีดวัคซีนได้ตามปกติ สำหรับประเทศเราที่มีการฉีดเข็มที่ 3 เป็นการฉีดที่นำหน้าประเทศอื่น เพื่อกระตุ้นภูมิจากคนที่ฉีดซิโนแวคแล้วภูมิตก 

ด้าน แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใหม่สามารถติดในเด็กเล็กได้ง่าย แต่การรักษาจะยากกว่าคือเด็กเล็กไม่สามารถไปอยู่รพ.สนามได้ ต้องมีผู้ปกครองไปดูแล คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนครึ่งโดสในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ขวบขึ้นไป ในต่างประเทศพบว่าเมื่อฉีดให้เด็กอายุ 12 ในเข็มที่ 2 พบเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแต่ไม่รุนแรง หากมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาอาจฉีดให้กลุ่มเด็กอายุ 12 ขวบขึ้นไป ซึ่งในเด็กการติดเชื้อจะมีอาการน้อยอยู่แล้ว เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนบางรายคุณหมออาจนฉีดโดนเส้นประสาทซึ่งเกิดได้น้อย ซึ่งไม่ใช่การแพ้วัคซีนแต่อย่างใด สำหรับบางรายที่เกิดอาการเส้นเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่สามารถเกิดภาวะเสียชีวิตสูง ทางการแพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถบอกได้ว่าไม่เกี่ยวกับวัควีน เนื่องจากหลังฉีดจะทำให้มีไข้และกระตุ้นอาการของโรคประจำตัว กรณีการฉีดวัคซีนแบบสลับยี่ห้อ บางรายงานกล่าวว่าหลังฉีดจะทำให้ไข้สูงกว่าเดิม แต่ไม่อันตราย

related