svasdssvasds

สธ. เผยโควิดไทยยังระบาดในระดับสูง วอนอย่ารังเกียจผู้ป่วยที่กลับไปรักษา

สธ. เผยโควิดไทยยังระบาดในระดับสูง วอนอย่ารังเกียจผู้ป่วยที่กลับไปรักษา

กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ยังอยู่ในระดับที่สูง ขอให้ประชาชนมั่นใจในแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19  และไม่รังเกียจผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19

 ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้การติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่สูงและคงตัวรวมถึงอัตราการเสียชีวิตที่เกิน 200 รายต่อวัน โดยได้มีการติดตามความรุนแรงของเชื้อ พบว่า อัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงเดิม ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งมาตรการดูแลประชาชนที่มากขึ้น รวมถึงการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit

 จากการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 1 พ.ค. -14 สิงหาคม มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6,758 ราย โดยในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 68  ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต

 ส่วนแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ จากการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เบื้องต้น ยังคงยึดหลัก 14 วัน โดยนับจากวันเริ่มป่วยวันแรก หากรักษาในโรงพยาบาลแล้วอาการดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้กลับมาแยกกักรักษาที่บ้านต่อ จนครบช่วงเวลาที่กำหนด 14 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "หมอธีระ" คาดไทยมียอดผู้ติดเชื้อโควิดทะลุ 1 ล้านคนในสัปดาห์หน้า

• โควิดวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 21,882 ราย สะสมทะลุ 9 แสนราย เสียชีวิต 209 ราย

• ผู้ป่วยโควิด19 รักษาหายและกลับบ้าน ให้คงปฏิบัติป้องกันโรคต่อเนื่อง

 ขอให้พี่น้องประชาชนในชุมชน เข้าใจและมั่นใจในแนวทางการรักษา ถึงแม้จะมีเชื้อน้อย อาการโดยรวมปกติ แข็งแรง แต่กลับไปกักตัวรักษาต่อที่บ้าน ภายใต้มาตรการสาธารณสุข ถือว่ามีความปลอดภัยต่อชุมชน ขออย่าได้รังเกียจประชาชน ที่กลับไปรักษาต่อที่บ้าน หรือหายจากการติดเชื้อแล้วกลับไปอยู่บ้าน 

 ส่วนการตรวจเชื้อ แล้วไม่เจอเชื้อในกรณีโควิด-19 อาจจะมีซากเชื้อปริมาณน้อยที่สามารถตรวจเจอได้นานเกินกว่า 14 วันแต่ไม่ได้แปลว่าบุคคลนั้นจะแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น ซึ่งคือ ซากเชื้อไม่สามารถแพร่ต่อได้

 ส่วนความคืบหน้า สถานการณ์วัคซีนโควิด-19 มีจำนวนผู้ที่ได่รับวัคซีนตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ - 14 สิงหาคม 2564 มีทั้งหมด 23,476,869 ราย แบ่งเป็นเข็มที่ 1 มีจำนวน 17,879,206 ราย หรือร้อยละ 24.8 / ส่วนจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีจำนวน 5,703,672 ราย หรือร้อยละ 7.0 

โดยวัคซีนซิโนแวคฉีดไปแล้ว 11,139.873 โดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดไปแล้ว 10,080,141 โดส วัคซีนซิโนฟาร์มฉีดไปแล้ว 1,895,209 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ฉีดไปแล้ว 361,646 โดส 

 ส่วนกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 14 สิงหาคม 2564 มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับวัคซีนเข็ม มีจำนวน 852,518 ราย เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ได้รับวัคซีน มีจำนวน 975,590 ราย อสม. ได้รับวัคซีนแล้ว 562,023 ราย กลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรังได้รับวัคซีนแล้ว 1,975,315 ราย ประชาชนทั่วไป ได้รับวัคซีนแล้ว 9,752,518 ราย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนแล้ว 3,751,446 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 9,796 ราย  รวมมีผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด 17,879,206 ราย

 มติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข วันที่14 สิงหาคม จะมีการจัดจุดฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นการจัดจุดฉีดวัคซีนที่ใกล้บ้านและประชาชนสามารถเข้าถึงง่ายขึ้น ส่วนรายละเอียด จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นคนกำหนดข้อแนะนำ และมีการประกาศให้ประชาชนในพื่นที่ให้รับทราบต่อไป 

 ซึ่งการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล เช่น วัด โรงเรียน หรือ อาคารอเนกประสงค์ตามบริบทและสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ จะเป็นการจัดบริการให้วัคซีน โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์  หรือ เป็นการปฏิบัติงานเชิงรุก ให้บริการวัคซีนตามบ้าน ที่พัก หรือรถโมบายเคลื่อนที่  ซึ่งหน่วยบริการต่างๆ จะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ให้บริการวัคซีน และอุปกรณ์กู้ชีพ ที่พร้อมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังได้รับวัคซีน 

 สำหรับการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ ล็อตบริจาค 1.5 ล้านโดส ย้ำ มีการกำหนดปริมาณ จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถติดตามได้  ไม่มีการบอกว่าวัคซีนส่วนใดส่วนหนึ่งสูญหาย และไม่มีการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม VIP หากมีความสงสัยสามารถไปงานเข้าไปยังกระทรวงสาธารณสุขได้ เพื่อจะได้ตรวจสอบต่อไป ย้ำทุกจุดให้บริการฉีดวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มตามที่กำหนด 

 ส่วน กลุ่มประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์  ที่เข้าตามเกณฑ์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ได้มีการเปิดให้จองในหลายจุด และได้ทยอยฉีดไปบ้างแล้ว 

นพ.เฉวตสรร ระบุอีกว่า ถึงแม้วัคซีนชนิด mRNA  ที่มีข้อมูลถึงประสิทธิภาพสูง แต่ในเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อก็ยังเกิดขึ้นได้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ที่พบว่ายังมีการติดเชื้อที่สูงอยู่ สิ่งสำคัญ คือขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขควบคู่ไปด้วยถึงแม้จะรับวัคซีนไปแล้ว

related