svasdssvasds

6 องค์กรสื่อ หารือ บชน. ปรับมาตรการเสี่ยงชุมนุม เตรียมออกสัญลักษณ์จำแนกฝ่าย

6 องค์กรสื่อ หารือ บชน. ปรับมาตรการเสี่ยงชุมนุม เตรียมออกสัญลักษณ์จำแนกฝ่าย

6 องค์กรสื่อเดินหน้าหารือ บชน. ปรับมาตรการลดความเสี่ยงสื่อในพื้นที่ชุมนุม ย้ำปลอกแขนสื่อให้ออกโดยองค์กรสื่อเท่านั้น เตรียมปรับเปลี่ยนปลอกแขนใหม่ 1 เดือนข้างหน้า ให้คงทน เด่นชัดขึ้น

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564  ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นำโดยนายชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เข้าพบ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อหารือสถานการณ์การทำข่าว ของสื่อมวลชนในการชุมนุม แสดงออกทางการเมือง และร่วมกันหาวิธีให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ และลดความเสี่ยงจากการปะทะระหว่างมวลชนกับตำรวจ

6 องค์กรสื่อ หารือ บชน. ปรับมาตรการเสี่ยงชุมนุม เตรียมออกสัญลักษณ์จำแนกฝ่าย

การพบปะครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของเหตุการณ์ชุมนุมในปี 2564 นับจากครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวแทน 6 องค์กรสื่อได้ทวงถามถึง ข้อตกลงเดิมที่ได้ทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าให้องค์กรสื่อเป็นผู้กำหนดการออกปลอกแขนสื่อมวลชน เพื่อเป็นหลักประกัน และเป็นการแสดงตนระบุฝ่ายตามหลักสากล แต่เกิดกรณี มีการออกปลอกแขนโดยฝ่ายตำรวจขึ้นโดยไม่ได้แจ้งประสานองค์กรสื่อ

ประเด็นดังกล่าว พล.ต.ต.ยิ่งยศ ได้แจ้งว่าเกิดจากความผิดพลาดจากการขาดการสื่อสารและไม่ทราบมาก่อนว่ามีการหารือระหว่างองค์กรสื่อกับทาง บชน. ประกอบกับมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีปลอกแขน อีกทั้งสถานการณ์ชุมนุมในขณะนั้นมีแนวโน้มเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ตำรวจมีการออกปลอกแขนเป็นหมายเลขเพิ่มเติมให้กับสื่อมวลชน บัดนี้ได้ทำความเข้าใจแล้ว ก็จะได้ปรับแนวทางปฏิบัติใหม่โดยให้องค์กรสื่อเป็นหลักในการออกปลอกแขนสื่อมวลชนแต่ฝ่ายเดียว

ภายหลังการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งสองฝ่ายได้มีการสรุปแนวทางที่จะดำเนินการในขั้นต่อไปเพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ดังนี้

1. เจ้าภาพหลักในการออกเครื่องหมายปลอกแขนคือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบขององค์กรวิชาชีพอื่นอีก 5 องค์กรที่เกี่ยวข้อง

2. จำแนกผู้ได้รับปลอกแขนเฉพาะสื่อมวลชนที่มีสังกัด สติงเกอร์ หรือฟรีแล้นซ์ที่มีองค์กรสื่อรับรอง ซึ่งต้องเป็นสื่อมวลชนที่มีการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนจริง สามารถรับผิดชอบทั้งทางจริยธรรมและทางนิตินัยได้

3. จัดให้มีกลไกการประสานงานระหว่าง บชน.กับสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหน้างาน

4. ให้ใช้สัญญลักษณ์ปลอกแขนเดิมที่ออกโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไปก่อน จนกว่ามีปลอกแขนรุ่นใหม่ที่มีความเด่นชัดและคงทนยิ่งขึ้น จากนั้นจะยุติและยกเลิกการใช้ปลอกแขนเดิมทั้งหมด ก่อนประสานงานแจ้งให้ฝ่ายตำรวจได้รับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปฏิบัติรับทราบว่าเป็นเครื่องหมายระบุฝ่ายของสื่อมวลชน

5. กำหนดสีสำหรับการจัดทำสัญลักษณ์เฉพาะของสื่อมวลชน เพื่อให้เห็นเด่นชัด ในระยะไกลและในช่วงกลางคืน เบื้องต้นรับทราบถึงการใช้สีเขียวสะท้อนแสงของสื่อภาคสนามที่มีการใช้อยู่ปัจจุบัน โดยจะมีการกำหนดสีสำหรับจำแนกกลุ่มสื่อมวลชนให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีการตรวจสอบไม่ให้มีการใช้สีซ้ำกับกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มแพทย์ กลุ่มผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้การใช้สีเป็นเพียงการบอกฝ่ายชั้นต้น โดยจะต้องประกอบด้วยมาตรการในการตรวจสอบในส่วนของปลอกแขน หรือบัตรประจำตัวสื่อมวลชนด้วย

ภายหลังการหารือ พล.ต.ต.ยิ่งยศ พล.ต.ต.ปิยะ นายมงคลและนายระวี ได้ ร่วมกันแถลงข่าวให้สื่อมวลชนรับทราบถึงแนวทาง ข้อหารือดังกล่าว และนัดหมายให้มีการหารืออีกครั้งภายหลัง มีการดำเนินการจัดทำปลอกแขนชุดใหม่ประมาณ 1 เดือนข้างหน้า

สำหรับสื่อมวลชนภาคสนามขอให้ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อรับทราบถึงแนวทางปฏิบัติความร่วมมือ ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุมต่อไป

6 องค์กรสื่อ หารือ บชน. ปรับมาตรการเสี่ยงชุมนุม เตรียมออกสัญลักษณ์จำแนกฝ่าย

related