svasdssvasds

"หมอเฉลิมชัย" เผยผลวิจัยพบเดลต้ารุนแรงกว่าอัลฟา 2 เท่า จนต้องนอนโรงพยาบาล

"หมอเฉลิมชัย" เผยผลวิจัยพบเดลต้ารุนแรงกว่าอัลฟา 2 เท่า จนต้องนอนโรงพยาบาล

"หมอเฉลิมชัย" เผยผลวิจัยพบโควิดสายพันธุ์เดลต้ารุนแรงกว่าอัลฟาถึง 2 เท่าจนต้องนอนโรงพยาบาล ระบุวัคซีน Pfizer มีประสิทธิผลในการป้องกันเดลต้าไม่ให้เจ็บป่วยหนักได้ 96% ส่วน AstraZeneca มีประสิทธิผล 92%

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุว่า  

ไวรัสสายพันธุ์ Delta (เดลต้า) รุนแรงกว่าสายพันธุ์ Alpha (อัลฟา) ถึง 2 เท่า ทำให้ป่วยเป็นโควิดจนต้องนอนโรงพยาบาล

 เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ไวรัสก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวอาร์เอ็นเอ ( RNA ) จึงมีการกลายพันธุ์ได้ง่ายโดยธรรมชาติ 

 ปัจจุบันกลายพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 39 สายพันธุ์ โดยมีสายพันธุ์หลักที่เรียกว่า VOC : Variant of Concern  รวม 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบต้า แกมม่า และเดลต้า

แต่สายพันธุ์ที่เป็นประเด็น ทั้งความสามารถในการแพร่ระบาด และการก่อให้เกิดอาการรุนแรง คือ สายพันธุ์อัลฟาและเดลตา

ในประเด็นเรื่องความสามารถในการแพร่ระบาด ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่ามากทีเดียว (40-60%)

จึงปรากฏในประเทศต่างๆว่า เมื่อสายพันธุ์เดลต้าไประบาดในประเทศที่มีสายพันธุ์อัลฟาเป็นหลักอยู่ก่อนแล้ว ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน สายพันธุ์เดลตาก็จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน และสายพันธุ์อัลฟาก็จะจางหายไป พบได้ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ตลอดจนในประเทศไทยในปัจจุบัน

 แต่ก็ยังมีคำถามที่จะต้องตอบต่อไปว่า แล้วความรุนแรงในการทำให้เกิดอาการของโรค สายพันธุ์อัลฟากับเดลตา จะแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "หมอเฉลิมชัย" เผยไทยอาจติดโควิดครบ 1 ล้าน เสียชีวิต 1 หมื่น ช่วงปลาย ส.ค.นี้

• "หมอธีระวัฒน์" แนะฉีด แอสตร้าฯ เข็ม 3 เข้าชั้นผิวหนังยับยั้ง "เดลต้า" ได้

• "หมอธีระ" โพสต์ คลายล็อกดาวน์ ห่วงโควิดระบาดหนัก ผู้ติดเชื้อพุ่ง

 มีงานวิจัยเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Infectious Diseases ซึ่งทำโดย PHE : Public Health England และ MRC : Medical Research Council ของประเทศอังกฤษ ได้ติดตามผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสจำนวน 43,338 ราย ในช่วงระยะเวลา 29 มีนาคมถึง 23 พฤษภาคม 2564

ในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีไวรัสสายพันธุ์อัลฟาเป็นหลักก่อน แล้วจึงค่อยมีสายพันธุ์เดลต้ามาเบียดแทรกในภายหลัง

โดยพบสายพันธุ์อัลฟา 80% (34,656 ราย) สายพันธุ์เดลตา 20% (8682 ราย) แต่ในสัปดาห์สุดท้ายของการรวบรวมคือวันที่ 17-23 พฤษภาคม พบสายพันธุ์เดลตามากถึง 65%  ( 3973 รายจาก 6090 ราย)

เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบอาการป่วยที่รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ( Hospitalization ) พบว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา มีจำนวนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมากเป็นสองเท่าของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา

จึงทำให้ได้ผลสรุปในเบื้องต้นที่ชัดเจนว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา

ในขณะเดียวกันก็พบว่า กลุ่มที่มีการติดเชื้อไวรัสเป็น

1.ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ คือ 74% ( 32,078 ราย )

2.ได้รับวัคซีนครบถ้วนสองเข็มเพียง 1.8% ( 794 ราย ) 

3.ได้รับวัคซีนหนึ่งเข็ม ยังมีภูมิคุ้มกันไม่พอ 24% ( 10,466 ราย )

 นอกจากนั้นยังพบว่า วัคซีน Pfizer สามารถป้องกันหรือมีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาไม่ให้เจ็บป่วยหนักได้ 96% ส่วนวัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิผล 92%

จึงพอสรุปได้ในภาพรวมดังนี้

1.ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว้างขวางกว่าไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า

2.ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ก่อให้เกิดอาการรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า

3.ผู้ที่ฉีดวัคซีนสองเข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสได้ดีทั้งสายพันธุ์อัลฟ่าและเบต้า แม้ จะมีประสิทธิผลลดลงเป็นลำดับเมื่อเวลาผ่านไปก็ตาม

4.วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการหนักได้ 96% วัคซีนของ AstraZeneca มีประสิทธิผล 92%

 

related