รู้แล้วรอด เดอะซีรีส์ (4) : CovidSelfCheck ประเมินอาการก่อนได้ ผ่าน LINE OA
รู้แล้วรอด เดอะซีรีส์ (4) แนะนำตัวช่วยประเมินอาการและดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในกรุงเทพฯ "CovidSelfCheck” หรือ "เพื่อนช่วยเช็ค" ผ่านทาง LINE Official โดยมีนิสิต นศ.แพทย์อาสาสมัครคอยให้ความช่วยเหลือ
เพื่อการอยู่ร่วมและอยู่รอดในวิกฤตโควิด มีอีกตัวช่วยมาแนะนำสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. นั่นคือ CovidSelfCheck หรือ เพื่อนช่วยเช็ค บัญชีทางการในไลน์ (LINE OA) ที่ช่วยประเมินอาการ ร่วมดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยสีเขียว โดยมีอาสาสมัครที่เป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์มาร่วมด้วยช่วยกันอยู่หลังบ้าน
ที่มาของ CovidSelfCheck
บุคลากรทางการแพทย์ยังคงรับภารกิจหนักในการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) และ กลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด LINE OA เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ในชื่อบัญชี CovidSelfCheck หรือ "เพื่อนช่วยเช็ค" เพื่อติดตามอาการ - ลดขั้นตอนการรักษา - เป็นงานช่วยเหลือ ทั้งยังระดมจิตอาสานักศึกษาแพทย์ มาเสริมกำลังสาธารณสุขชุมชนและบุคลากรทางการแพทย์
สหรัฐ เหลี่ยมเพ็ง นักศึกษาแพทย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อการพัฒนาบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ว่าเป็นตัวกลางในการประสานงานและรวบรวมอาสาสมัคร
"ในขณะนี้มีนิสิตนักศึกษาแพทย์และอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวน 890 คน มีส่วนร่วมในการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนและเสริมกำลังการทำงานด้านสาธารณสุขต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น
- สนับสนุนจุดตรวจคัดกรองโรค
- ทำทะเบียนประวัติ
- ดูแลกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามารับการตรวจหาเชื้อ
- สนับสนุนระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียว
“นิสิตนักศึกษาแพทย์และจิตอาสาได้เข้าไปมีส่วนในการดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านที่มาจากระบบกลางของกรุงเทพฯ และส่งต่อมาอยู่ในการดูแลของ คลินิกพริบตา สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เช่น การให้คำปรึกษาในการปฏิบัติตัวทางโทรศัพท์ การสนับสนุนการจัดส่งยาเวชภัณฑ์และเครื่องอุปโภคบริโภค
"และในขณะนี้ได้พัฒนาระบบ CovidSelfCheck หรือ ‘เพื่อนช่วยเช็ค’ เพื่อติดตามอาการและประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่มาก ผ่านช่องทาง LINE OA ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการทำงานของแพทย์ได้มากขึ้น" สหรัฐกล่าว
สำรวจ 3 ระบบใน CovidSelfCheck
สุวินัย จิระบุญศรี นิสิตแพทย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ แห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ร่วมกับกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัท Tact Social Consulting โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มโครงการ CovidSelfCheck หรือ ‘เพื่อนช่วยเช็ค’ โดยมีการดำเนินงาน 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
- ส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit ในพื้นที่กรุงเทพฯ
- ระบบติดตามอาการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่รับการรักษาแบบ Home Isolation ด้วยการใช้ LINE OA
- ระบบสนับสนุนการให้บริการและการระดมทรัพยากร เช่น การสนับสนุนเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ชุดตรวจ Antigen Test Kit เครื่องผลิตออกซิเจน (Oxygen Concentrator)
การทำงานของระบบ CovidSelfCheck
เพื่อติดตามอาการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ทีมพัฒนาออกแบบระบบมาให้ 1) ผู้ใช้งานกรอกแบบประเมินอาการในแต่ละวันได้เอง 2) ระบบจะประเมินอาการผู้ป่วยอัตโนมัติ และ 3) ระบบจะส่งผลการประเมินให้แพทย์และพยาบาลเพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลรักษาต่อไป
“ระบบนี้สามารถลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และจะสามารถช่วยให้รับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงระบบการรักษาได้มากขึ้น หลังจากนี้เครือข่ายโดยการสนับสนุนของ สสส. จะพัฒนาระบบเพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างการทำงาน แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาได้ดีมากยิ่งขึ้น” สุวินัยกล่าว
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)