svasdssvasds

สหกรณ์นิคมลานสัก ฟื้นอาชีพดั้งเดิมเสริมทำนา เลี้ยงโคขุน กำเงินแสน

สหกรณ์นิคมลานสัก ฟื้นอาชีพดั้งเดิมเสริมทำนา เลี้ยงโคขุน กำเงินแสน

ภัยแล้ง เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมหลายต่อหลายแห่งในประเทศไทย ผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ การหาหนทางอื่นรองรับ เพื่อช่วยสร้างรายได้เสริม ให้เกิดความมั่นคงทางรายได้จึงต้องเร่งพัฒนา การเลี้ยงโคขุน เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

จากที่จังหวัดอุทัยธานีได้เกิดภัยแล้งในปี 2558-2559 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่นอกพื้นที่เขตชลประทาน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สหกรณ์นิคมลานสักจำกัด จ.อุทัยธานี จึงได้มีแนวคิดในการส่งเสริมอาชีพหลังฤดูทำนา ที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำฝนมากนักให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจากอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่คือ การเลี้ยงโค-กระบือ จึงเป็นที่มาในการเข้าไปสนับสนุนการเลี้ยงโคขุนที่กำลังเป็นที่นิยมและมีความต้องการของตลาดค่อนข้างสูง

มะปลาง  พลายคง สมาชิกสหกรณ์นิคมลานสัก

นางมะปลาง  พลายคง สมาชิกสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน เล่าว่า เดิมมีอาชีพทำนาอย่างเดียว ซึ่งทำแล้วไม่มีกำไร เมื่อสหกรณ์นิคมลานสักมีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุน โดยแนะนำว่า ถ้าสนใจก็ให้ไปติดต่อ เป็นที่มาของการเข้าร่วมโครงการ โดยในครั้งแรกได้นำโคขุนมาเลี้ยงจำนวน 10 ตัว ถัดมาอีกระยะหนึ่งรู้สึกว่าโคมีจำนวนน้อย จึงได้ไปนำมาเลี้ยงอีก 15 ตัว

สมเชาว์  ชโลธร ประธานกรรมการสหกรณ์นิคมลานสัก ขณะที่นายสมเชาว์  ชโลธร ประธานกรรมการสหกรณ์นิคมลานสักจำกัด เผยว่า สหกรณ์นิคมลานสักฯ ณ ปัจจุบันมีสมาชิก 2,922 คน รวม 16 กลุ่ม อาชีพหลักของสมาชิกสหกรณ์นิคมลานสักฯ ส่วนมากก็ทำนา ทำไร่ คณะกรรมการสหกรณ์นิคมลานสักจึงหารือกันว่าจะหาอาชีพอะไรมาเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรที่สามารถทำแล้วอยู่รอด และมีรายได้ที่ดีในระยะยาว

ประกอบกับในช่วงปี 2558- 2559 ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีได้ประสบภาวะภัยแล้ง ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้ามาแนะนำอาชีพเสริมคือการเลี้ยงโคขุน มีการให้ทุน และพาไปศึกษาดูงานต่างพื้นที่ เช่น ที่ อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร และ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นต้น อีกทั้งได้เข้ามาเสริมความรู้ให้กับคณะกรรมการสหกรณ์และสมาชิก เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่น

โคขุน สหกรณ์นิคมลานสัก

“สมาชิกผู้เลี้ยงโคขุนของเรา ณ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 30 คน มีแม่วัว 350 ตัว ลูกวัว 72 ตัว คาดว่าจะผลิตลูกวัวออกสู่ตลาดน่าจะถึง 120 ตัวต่อหนึ่งปี สมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงโคขุนจะมีรายได้หลักแสนบาทถึงหลัก 1.5 แสนบาทต่อปี ส่วนเรื่องหญ้าเนเปียร์สำหรับการเลี้ยงโคขุน ถ้าเราไปซื้อข้างนอกต้นทุนจะสูง แต่ถ้าสมาชิกคนใดปลูกเราก็รับซื้อในราคาที่ไปด้วยกันได้ทั้งคู่ ก็จะช่วยเสริมกัน”นายสมเชาว์ กล่าว

สุรินทร์ เขียวน้อย เกษตรกร

ด้านนายสุรินทร์  เขียวน้อย สมาชิกสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด ผู้ปลูกหญ้าเนเปียร์ กล่าวว่า ทางสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด ได้แนะนำพันธุ์หญ้าเนเปียร์มาให้ จึงได้นำมาปลูกในพื้นที่เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะนำมาหั่น  สับและบดส่งให้กับทางทางสหกรณ์ฯ ซึ่งหญ้าเนเปียร์นี้ปลูกได้ตลอดทั้งปี และช่วยสร้างรายได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมที่ดีต่อเนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ และอยู่ได้แบบยั่งยืน

related