svasdssvasds

กรมชลฯ อัพเดท สถานการณ์น้ำ ภาคใต้ฝนลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวัง

กรมชลฯ อัพเดท สถานการณ์น้ำ ภาคใต้ฝนลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวัง

กรมชลฯ เผยภาคใต้ฝนลดลง มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ยังต้องเฝ้าระวัง ขณะสถานการณ์น้ำในทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา ยังระบายออกต่อเนื่อง พร้อมเก็บกักน้ำประมาณ 500 ล้านลบ.ม.ไว้ให้เกษตรกรเพาะปลูกช่วงต้นฤดูแล้ง ลุ่มน้ำท่าจีนคลี่คลายต่ำกว่าตลิ่งกลาง ธ.ค.นี้

ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในช่วงวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2564 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลงตลอดช่วง ทำให้บริเวณภาคใต้โดยรวมมีฝนน้อย แต่ยังมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝนภาคใต้ 

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเหลือ 92 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที ในขณะที่สถานี C.29A อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 251 ลบ.ม.ต่อวินาที  ส่วนน้ำในทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา ยังระบายออกอย่างต่อเนื่อง โดยจะเก็บกักน้ำไว้ในทุ่งประมาณ 494.30 ล้าน ลบ.ม. เพื่อไว้ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชช่วงต้นฤดูแล้ง 

ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

ขณะที่ปริมาณน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำที่ระบายลงคลองพระยาบรรลือ และคลองสาขาต่าง ๆ อาทิ คลองญี่ปุ่นใต้ คลองขุนศรี คลองลากฆ้อน คลองขุดใหม่ คลองพระอุดม คลองพระพิมล คลองบางบัวทอง กรมชลประทานได้เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน พร้อมระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำ รวมทั้งสนับสนุนกระสอบทรายและจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันระดับน้ำได้ลดลงและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติหลายจุดแล้ว

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท่าจีนยังคงได้รับผลกระทบในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม กรมชลประทานได้ลดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ด้วยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวม 226 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนลดลงแล้วหลายจุด และจะเริ่มคลี่คลายลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณกลางเดือนธันวาคม 2564 นี้

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันระดับน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม่น้ำมูลที่สถานี M.7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,499 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มลดลง และยังคงระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้ดี เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำมูลประมาณ 4.52 เมตร พื้นที่น้ำท่วมขังก่อนหน้านี้หลายแห่งเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

“แม้ว่าในหลายพื้นที่สถานการณ์น้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่พิจารณาเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งนี้ ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

related