svasdssvasds

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" ล้วงไส้ในคะแนนเทคนิค ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" ล้วงไส้ในคะแนนเทคนิค ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมตั้งคำถาม งานนี้ใครได้ประโยชน์

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. จึงเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ครั้งที่ 2 หลังล้มการประมูลครั้งที่ 1 และเมื่อดูไส้ใน หรือรายละเอียดของคะแนนด้านเทคนิคแล้ว ก็เกิดคำถามต่างๆ ขึ้นมากมาย

1. ความเป็นมา ก่อนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2  

เพื่อให้เห็นที่มาที่ไป SpringNews จึงขอเริ่มต้นด้วยไล่เรียงความเป็นมาของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยการประมูลครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2563 มีบริษัทสนใจซื้อซองประมูล 10 ราย แต่แล้วในช่วงต้นเดือนส่งหาคม บริษัทแห่งหนึ่งก็ได้ยื่นเรื่องขอให้ปรับเกณฑ์การประมูล และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ปรับเกณฑ์ตาม

ซึ่งบีทีเอสที่ซื้อซองประมูลในครั้งนั้นด้วย ก็เห็นว่าการกระทำดังกล่าว ไม่เป็นธรรมกับผู้ซื้อซองประมูลรายอื่น จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ทุเลาการใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน ปี 2563 และศาลปกครองมีคำสั่งให้ทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563

ต่อมา รฟม. กับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนที่จะมีมติให้ยกเลิกการประมูลช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และได้มีการเปิดประมูลรอบใหม่ในเวลาต่อมา แต่มีการเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินด้านเทคนิคใหม่ ที่ทั้งโลกนี้มีเพียงผู้รับเหมา 2 รายเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด

โดย ดร.สามารถ ได้แจกแจงรายละเอียดเกณฑ์ประมูลด้านเทคนิคในการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 มาเทียบเคียงกันชัดๆ ดังต่อไปนี้   

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

บทความที่เกี่ยวข้อง

2. คะแนนด้านเทคนิคในการประมูลครั้งที่ 1

ดร.สามารถ ระบุว่า การประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 80% และจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่า 85% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทน ใครเสนอผลตอบแทนสุทธิ (ผลตอบแทนที่จะให้ รฟม. - เงินสนับสนุนที่ขอรับจาก รฟม.) สูงสุดก็จะชนะการประมูล”

รายละเอียดของคะแนนในแต่ละหัวข้อซึ่งมีทั้งหมด 5 หัวข้อ มีดังนี้

(1) โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน คะแนน 10%

(2) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา คะแนน 40%

(3) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า คะแนน 15%

(4) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา คะแนน 30% และ

(5) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรม คะแนน 5%

แต่ก่อนถึงวันยื่นข้อเสนอ รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้ถูกฟ้อง ในที่สุด รฟม. ได้ล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ต้องเปิดประมูลครั้งที่ 2

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

3. คะแนนด้านเทคนิคในการประมูลครั้งที่ 2

ดร.สามารถระบุว่า ขณะนี้ รฟม. กำลังเปิดประมูลครั้งที่ 2 โดยกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 85% (เพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 80%)และจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่า 90% (เพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 85%) จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทน ใครเสนอผลตอบแทนสุทธิ (ผลตอบแทนที่จะให้ รฟม. - เงินสนับสนุนที่ขอรับจาก รฟม.) สูงสุดก็จะชนะการประมูล

รายละเอียดของคะแนนในแต่ละหัวข้อซึ่งมีทั้งหมด 4 หัวข้อ (ลดลงจากการประมูลครั้งแรก 1หัวข้อ) มีดังนี้

(1) โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน คะแนน 10% เท่ากับการประมูลครั้งแรก

(2) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา คะแนน 50% เพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งแรก 10%

(3) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า คะแนน 10%  ลดลงจากการประมูลครั้งแรก 5%

(4) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา คะแนน 30% เท่ากับการประมูลครั้งแรก

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าการประมูลครั้งที่ 2 นี้ รฟม. ได้ตัดหัวข้อแนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรมออกไป ไม่มีคะแนนให้เลย

4. ข้อสังเกตในการเพิ่มคะแนนด้านเทคนิค

ในส่วนนี้ ดร.สามารถ นอกจากได้เปรียบเทียบเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 1 กับ ครั้งที่ 2 แล้วยังเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. ดังต่อไปนี้

4.1 เปรียบเทียบกับการประมูลครั้งที่ 1

(1) รฟม. ได้เพิ่มคะแนนในหัวข้อ แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา จาก 40% เป็น 50%

การเพิ่มคะแนนในหัวข้อนี้จะทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีผู้เหมารายใหญ่ซึ่งมีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภท ตามที่ รฟม. กำหนดร่วมด้วย มีโอกาสได้คะแนนสูงถึง 50% ส่งผลให้มีโอกาสผ่านเกณฑ์เทคนิคสูง ในขณะที่ผู้ยื่นข้อเสนอที่ไม่สามารถหาผู้รับเหมารายใหญ่มาร่วมได้ โอกาสที่จะได้คะแนนในหัวข้อนี้สูงนั้นยาก ทำให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคได้ยาก

อันที่จริงคะแนนในหัวข้อนี้ที่เดิม รฟม. กำหนดไว้ 40% ก็ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมาเป็นอย่างดีแล้ว และเป็นคะแนนที่สูงกว่าหัวข้ออื่นอยู่แล้ว ถือว่า รฟม. ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธามากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอีก

การที่ รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาไว้อย่างยากที่จะหาผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่ รฟม. กำหนด เนื่องจากจะต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย และจะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ ทำให้ผู้สนใจที่จะยื่นข้อเสนอหาผู้รับเหมามาร่วมยื่นประมูลด้วยได้ยาก ถ้าหาได้ก็ต้องใช้ผู้รับเหมา 2-3 ราย โอกาสที่จะได้คะแนนสูงในหัวข้อนี้ก็ยาก

ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มคะแนนในหัวข้อนี้ จะทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบขึ้นหรือไม่ ?

(2) รฟม. ลดคะแนนในหัวข้อ แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า จาก 15% เหลือ 10%

การทำเช่นนี้เป็นการลดความสำคัญของงานระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจของการให้บริการเดินรถที่ต้องมีความสะดวก สบาย ปลอดภัย และตรงต่อเวลา ทั้งนี้ ระบบรถไฟฟ้าจะต้องคำนึงโครงสร้างของตัวรถ สมรรถนะในการวิ่ง ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมการเดินรถ ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสาร และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงรักษาภายในและภายนอกศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา

(3) รฟม. ตัดหัวข้อแนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรมออกไป ไม่มีคะแนนให้เลย ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ในอนาคต

4.2 เปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม.

เมื่อเปรียบเทียบคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2 กับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค) และสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) พบว่าคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2 สูงกว่าคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายถึง 20% และสูงกว่าสายสีม่วงใต้ 5% ทั้งๆ ที่ใช้เทคนิคขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน จึงเป็นปริศนาว่าทำไม รฟม. จึงทำเช่นนี้ ?

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

5. ใครเสียประโยชน์ ?

ดร.สามารถ ระบุว่า การเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคอาจทำให้มีผู้ยื่นข้อเสนอที่สามารถผ่านเกณฑ์เทคนิคได้จำนวนน้อยราย การแข่งขันที่จะเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. ก็จะลดลง ทำให้ รฟม. ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้

ที่สำคัญ แม้ว่าในขณะนี้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ใกล้จะแล้วเสร็จแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ เนื่องจากยังไม่มีผู้เดินรถ ต้องรอผู้เดินรถจากการประมูลครั้งที่ 2 นี้ 

ด้วยเหตุนี้ ความล่าช้าในการเปิดให้บริการ จะทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รอใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มต้องเดือดร้อนกับการฝ่าฟันวิกฤตจราจรต่อไป

สุดท้ายนี้ ดร.สามารถ ได้ทิ้งท้ายไว้ในหมายเหตุว่า ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ตนและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

ที่มา FB : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte

related